โลกให้สัญญาแต่ไม่ให้เงิน! ประเทศเสี่ยงสุดได้แค่เศษเงิน ทั้งที่วิกฤตโลกร้อนนั้นไม่รอใคร

ที่เมืองท่าชายฝั่งในจิตตะกอง ประเทศบังกลาเทศ กำลังมีโครงการสำคัญที่สะท้อนพลังของการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นรูปธรรม วิศวกรกำลังก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ทนทานต่ออุทกภัยและคลื่นพายุ โดยได้รับการสนับสนุนเงินทุนกว่า 850 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากธนาคารโลก เพื่อสร้างแนวกำแพงความยาวกว่า 6 กิโลเมตร เพื่อปกป้องผู้คน บ้านเรือน และระบบเศรษฐกิจในหนึ่งในภูมิภาคที่เปราะบางที่สุดของโลกจากวิกฤตภูมิอากาศ
โครงการลักษณะนี้ไม่ได้มีแค่บทบาทในการ “รักษาชีวิต” แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของ “โอกาสการลงทุนที่คุ้มค่า” ที่สุดอย่างหนึ่งในยุคนี้ น่าเสียดายที่แม้จะมีการจัดประชุมระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากมาย พร้อมคำมั่นสัญญาจากผู้นำโลก แต่ความเป็นจริงกลับพบว่า ประเทศที่เสี่ยงต่อผลกระทบมากที่สุดได้รับเงินทุนด้านภูมิอากาศน้อยกว่า 5.5% ของเงินทุนทั้งหมดที่มีอยู่ ซึ่งไม่เพียงสะท้อนความไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่ยังเป็น “โอกาสที่หลุดลอย” ในการสร้างผลลัพธ์ที่แท้จริง
ขณะที่การประชุมนานาชาติว่าด้วยการเงินเพื่อการพัฒนาครั้งที่ 4 กำลังเกิดขึ้นที่เมืองเซบียา ประเทศสเปน เสียงเรียกร้องในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การ “ให้คำมั่น” แต่คือการลงมือจริงในการลงทุนเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้ชุมชนในการประชุมด้านการเงินภูมิอากาศของ UN ที่จัดขึ้นก่อนหน้านี้ในเซบียา ผู้นำให้ความสำคัญกับการปฏิรูปกระบวนการจัดสรรเงินสาธารณะผ่านสถาบันการเงินระหว่างประเทศ แต่ประเด็นที่ขาดไม่ได้คือการลงทุนเพื่อ “การปรับตัว” ซึ่งหมายถึงการช่วยให้ผู้คนสามารถอยู่กับผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมที่ถี่ขึ้น ความแห้งแล้งที่ยาวนาน ทะเลที่เพิ่มสูง หรือคลื่นความร้อนที่รุนแรงกว่าเดิม
ในขณะที่ “การลดโลกร้อน” (mitigation) คือการหยุดยั้งไม่ให้สถานการณ์แย่ลง เช่น การหันมาใช้พลังงานสะอาด หรือการรักษาป่าเพื่อดูดซับคาร์บอน “การปรับตัว” (adaptation) กลับเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไป เพราะเรากำลังเผชิญกับผลกระทบที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้แล้ว ทั้งบ้านเรือนต้องแข็งแรงขึ้น พืชผลต้องทนแล้งมากขึ้น โรงเรียนและโรงพยาบาลต้องสามารถทำงานท่ามกลางภัยพิบัติได้ แต่น่าเศร้าที่ “การปรับตัว” มักถูกให้ความสำคัญน้อยกว่า และได้รับงบประมาณน้อยกว่ามาก
ในขณะที่ภาคเอกชนลงทุนมหาศาลกับพลังงานสะอาด แต่กลับสนับสนุนชุมชนที่เผชิญผลกระทบโดยตรงจากภูมิอากาศน้อยมาก ประเทศยากจนจำนวนมากยังติดกับดักระเบียบขั้นตอนที่ซับซ้อน ขาดความสามารถในการพัฒนาโครงการที่เข้าถึงแหล่งทุน จนทำให้ไอเดียดี ๆ ต้องหยุดชะงัก อย่างไรก็ตาม สถานการณ์กำลังเปลี่ยนไป เครื่องมือการเงินใหม่ ๆ กำลังช่วยลดความเสี่ยงให้แก่นักลงทุน เช่น เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การจับมือกันระหว่างภาครัฐกับเอกชน และระบบรับประกันความเสี่ยง
กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund) ถือเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญสำหรับประเทศกำลังพัฒนา โดยอนุมัติเงินไปแล้วกว่า 13,500 ล้านดอลลาร์ และเมื่อรวมเงินร่วมลงทุนจากแหล่งอื่น จะมีมูลค่ารวมกว่า 51,900 ล้านดอลลาร์ ตัวเลขเหล่านี้กำลังเปิดประตูให้กับการปรับตัวที่เคยเป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นจริง
เรากำลังเห็นความเปลี่ยนแปลงแล้ว ในเคนยาและเอธิโอเปีย เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์ที่ทนแล้งเพื่อผลิตอาหารภายใต้สภาพอากาศที่ไม่แน่นอน ในแถบแคริบเบียน โรงเรียนและคลินิกในพื้นที่ห่างไกลใช้พลังงานแสงอาทิตย์ และในบังกลาเทศ โครงสร้างพื้นฐานใหม่ในจิตตะกองกำลังปกป้องศูนย์กลางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ พร้อมขับเคลื่อนธุรกิจในท้องถิ่นไปพร้อมกัน
สำหรับในพื้นที่ชายฝั่ง การฟื้นฟูป่าชายเลนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยลดแรงคลื่น ลดความรุนแรงของพายุ ช่วยอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และฟื้นอาชีพประมง บริษัทด้านการลงทุนภูมิอากาศอย่าง Pollination Group กำลังผลักดันให้ “โครงการที่ใช้ธรรมชาติเป็นพื้นฐาน” (Nature-based Solutions) กลายเป็นโครงการที่สามารถดึงดูดเงินทุนเอกชนได้
นักลงทุนที่ก้าวเข้ามาในพื้นที่ใหม่เหล่านี้ จะได้รับมากกว่าผลตอบแทนทางการเงิน พวกเขาสร้างความร่วมมือระยะยาวกับรัฐบาลและชุมชน มีบทบาทในการกำหนดนโยบายในอนาคต และวางรากฐานเพื่อการเติบโตที่ยั่งยืนในพื้นที่ที่พร้อมจะก้าวนำ ถ้าได้รับโอกาส
โครงการปรับตัวเหล่านี้ ยังนำมาซึ่งประโยชน์จริงแก่ผู้คน เช่น น้ำสะอาด อาหารมั่นคง งานใหม่ โรงเรียนที่ปลอดภัย โรงพยาบาลที่ไม่ล่มเมื่อเกิดภัยพิบัติ สำหรับครอบครัวที่กำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงจากภูมิอากาศ ประโยชน์เหล่านี้ไม่ใช่แค่ “พัฒนา” แต่คือ “ความอยู่รอด”
รัฐบาลสามารถเร่งกระบวนการนี้ได้ด้วยการสร้างบรรยากาศที่เชิญชวนและปลอดภัยสำหรับการลงทุนอย่างรับผิดชอบ สถาบันระหว่างประเทศควรปรับกระบวนการให้การเข้าถึงเงินทุนง่ายขึ้น องค์กรพัฒนาเอกชนและมูลนิธิสามารถเสริมทักษะท้องถิ่นและช่วยเตรียมโครงการให้พร้อมรับทุน ส่วนภาคเอกชนเองสามารถนำทั้งทุน เทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญเข้ามาเติมเต็ม
การลงทุนเพื่อการปรับตัวไม่ใช่แค่เรื่องจริยธรรมอีกต่อไป แต่มันคือกลยุทธ์ที่ชาญฉลาด ขยายผลได้ และจำเป็นต่อโลกที่กำลังเปลี่ยนไป
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
