รีเซต

ดอกเบี้ยนโยบาย ลดลง 1.00% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี มีผลอะไรกับเราไหม?

ดอกเบี้ยนโยบาย ลดลง 1.00% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี มีผลอะไรกับเราไหม?
TrueID
18 มิถุนายน 2564 ( 13:39 )
320
ดอกเบี้ยนโยบาย ลดลง 1.00% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี มีผลอะไรกับเราไหม?

หลังจากที่มีการประกาศลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% และถือว่าเป็นครั้งต่ำสุดของประวัติศาสตร์ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา แน่นอนว่าหลายคนสงสัยว่าจะเกิดผลกระทบอะไรต่อประชาชนบ้าง เพราะในด้านเศรษฐกิจคือการประกาศว่าประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจซบเซา และเมื่อมองมุมกลับดอกเบี้ยนโยบายลดลง ดอกเบี้ยสินเชื่อ ของธนาคารพาณิชย์ย่อมปรับตัวตามด้วยเช่นกัน เหตุนี้หนีไม่พ้นที่จะตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับมาตราการนี้ ทั้งดอกเบี้ยนโยบายว่าคืออะไร ผลกระทบจะเป็นอย่างไร และท้ายสุดประชาชนจะได้ดอกเบี้ยเพื่อการกู้ยืมที่ถูกลงหรือไม่ วันนี้ trueID มีคำตอบ

 

 

ดอกเบี้ยนโยบายคืออะไร?

 

ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับคำว่า “ดอกเบี้ยนโยบาย” หรือ Policy Rate นั้นหมายถึง อัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารกลางของแต่ละประเทศกำหนดขึ้นเพื่อใช้เป็นดอกเบี้ยอ้างอิง และดอกเบี้ยนโยบายนี้ยังเปรียบเสมือนเครื่องมือหลักในการส่งสัญญาณนโยบายการเงิน

 

ซึ่งสำหรับประเทศไทยจะมีคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จากธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) เป็นผู้กำกับดูแลดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ภายใต้กรอบของเงินเฟ้อไม่ให้เกิน 3% โดยสามารถทำได้ 3 กรณีคือ

 

1. เพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย = สัญญาณบอกเศรษฐกิจกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้น

ช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตมาก ราคาสินค้ามักจะสูงขึ้น เงินเฟ้อมากขึ้น ทำให้ภาพรวมกำลังซื้อของประชาชนชนน้อยลง เนื่องจากรายได้เพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาสินค้า

การเพิ่มดอกเบี้ยนโยบายจะช่วย “ลดความร้อนแรง” ของเศรษฐกิจลงได้ เพราะการเพิ่มขึ้นของดอกเบี้ยจะทำให้เอกชนอยากกู้น้อยลง และจะทำให้ประชาชนใช้จ่ายน้อยลง เนื่องจากนำเงินไปฝากธนาคารมากขึ้น

 

2. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย = สัญญาณบอกเศรษฐกิจอยู่ในช่วงซบเซา

ส่วนถ้าเป็นช่วงเศรษฐกิจหดตัว ราคาสินค้าก็มักจะแทบไม่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจแบบนี้คนจะไม่ค่อยอยากออกมาใช้จ่าย แต่ก็จะเริ่มมีกำลังซื้อมากขึ้น

การลดดอกเบี้ยนโยบายจะไป “กระตุ้นเศรษฐกิจ” ให้กลับมาคึกคักขึ้น คนอยากนำเงินออกมาจับจ่าย เพราะดอกเบี้ยเงินฝากถูก และภาคธุรกิจก็เริ่มอยากกู้อยากลงทุนกันมากขึ้น

 

3. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย = สัญญาณบอกเศรษฐกิจกำลังอยู่ในภาวะน่าพอใจ หรือไม่จำเป็นต้องกระตุ้นด้วยการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

 

ทำไมต้องลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1%

 

หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายทางการเงิน (กนง.) ได้มีมติเอกฉันท์ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจาก 1.25% เป็น 1.00% ต่อปี และมีผลให้บังคับใช้ทันที

 

เรียกว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยระดับต่ำสุดในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เป็นผลมาจากทางคณะกรรมการฯ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 63 นี้ มีแนวโน้มชะลอตัวและขยายตัวต่ำกว่าที่มีการประมาณไว้ก่อนหน้านี้

 

ส่วนหนึ่งเกิดจากปัจจัยการระบาดของเชื้อไวรัส ภัยแล้ง ค่าเงินบาทแข็งค่า และความล่าช้าของพรบ. งบประมาณรายจ่ายประจำปี เหตุนี้จึงทำให้ กนง. ต้องหั่นอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลงเป็นประวัติศาสตร์

 

เพื่อเป็นการลดต้นทุนด้านเงินทุน ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นให้ประชาชนนำเงินออกมาลงทุนมากกว่านำไปฝาก ซึ่งจะได้ดอกเบี้ยน้อย

 

 

ลดดอกเบี้ยนโยบาย จะเกิดอะไรขึ้น?

 

1. ราคาสินทรัพย์มีแนวโน้มสูงขึ้น


เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลดดอกดอกเบี้ยนโยบาย ธนาคารพานิชย์ก็จะเริ่มตอบสนองนโยบายด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝาก

 

ทำให้ฝั่งประชาชนที่ฝากเงินไว้เริ่มนำเงินฝากย้ายไปลงทุนสินทรัพย์รูปแบบอื่น เนื่องจากได้รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากมาก ส่งผลให้ราคาสินทรัพย์โดยรวมมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้น เช่น ทองคำ อสังหาริมทรัพย์

 

2. ภาคธุรกิจเริ่มขยายตัว


หลังจากธนาคารพานิชย์ และสถาบันการเงินต่างๆตอบสนองนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทยด้วยการลดดอกเบี้ยเงินกู้ และเงินฝากแล้ว

 

ส่งผลให้ภาระหนี้สินของภาคธุรกิจลดลง เนื่องจากดอกเบี้ยเงินกู้น้อยลง และเมื่อธุรกิจมีภาระหนี้ที่น้อยลงแล้ว จะทำให้สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ง่ายขึ้นและทำให้ภาคธุรกิจมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

3. การส่งออกเพิ่มขึ้น


การที่ธนาคารปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากจะทำให้ต่างชาติมีแนวโน้มที่จะย้ายไปลงทุนประเทศอื่นมากขึ้น เนื่องจากความต่างของดอกเบี้ย ย้ายไปประเทศที่ดอกเบี้ยสูงกว่า

 

ซึ่งการที่ต่างชาติย้ายไปลงทุนประเทศอื่นจะส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าขึ้น เพราะไม่ต้องการเงินบาทแล้ว ทำให้เงินบาทมีค่าน้อยลงเทียบกับค่าเงินอื่น

 

และการที่เงินบาทอ่อนค่าขึ้นจะทำให้ภาคการส่งออกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ เพราะต่างชาติจะมองว่าสินค้าไทยราคาถูก อยากซื้อในปริมาณมากขึ้น ทำให้ส่งออกมากขึ้น

 

4. ดอกเบี้ยบ้านถูกลง


เนื่องจากดอกเบี้ยบ้านเป็นดอกเบี้ยแบบลอยตัว โดยอิงกับดอกเบี้ย MRR (Minimum Retail Rate) ทำให้เมื่อธนาคารปรับลดดอกเบี้ย MRR จึงส่งผลให้ดอกเบี้ยบ้านถูกลง

เมื่อดอกเบี้ยถูกลงก็จะส่งผลเงินต้นลดลงเร็วขึ้น และทำให้ผ่อนบ้านได้หมดเร็วยิ่งขึ้น เพราะเหตุนี้การลดดอกเบี้ยบ้านจึงเป็นข่าวดีของคนที่อยากกู้ซื้อบ้าน และรีไฟแนนซ์บ้านอย่างมาก

 

 

ลดดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1% คนซื้อบ้านได้อะไร

 

จากเหตุการณ์ลดดอกเบี้ยนโยบายต่ำสุดในรอบประวัติศาสตร์ 20 ปี แน่นอนมีทั้งคนที่ตื่นตระหนกและคนที่กำลังงงว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา โดยในความเป็นจริงเกี่ยวข้องกับคนไทยโดยตรง รวมถึงกลุ่มที่ต้องการซื้อบ้านในช่วงนี้ด้วย

 

ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทองสำหรับคนที่กำลังอยากซื้อบ้าน เพราะเป็นช่วงที่ทุกธนาคารพาณิชย์พร้อมใจกันลดอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำลง ตามกลไกของดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่ในมุมของผู้มีเงินเย็นช่วงนี้ก็ถือว่าเป็นโอกาสกล้าเสี่ยง

 

เพราะนอกจากผู้พัฒนาอสังหาฯ จะพร้อมใจกันลด แลก แจก แถมแล้ว เพราะโดยธรรมชาติของเศรษฐกิจเมื่อมีการลดดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ จะทำให้เกิดสภาพคล่องทางการเงิน และมีเม็ดเงินเข้ามาเก็งกำไรในสินทรัพย์ต่างๆ โดยเฉพาะด้านอสังหาฯ

 

 

อัพเดทดอกเบี้ยสินเชื่อ จาก 5 ธนาคารพาณิชย์ ประจำวันที่ 11 มิถุนายน 2563

 

ธนาคารMLRMRR
ธนาคารไทยพาณิชย์5.25005.9950
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา5.58006.0500
ธนาคารกสิกรไทย5.47005.9700
ธนาคารกรุงไทย5.25006.2200
ธนาคารกรุงเทพ5.25005.7500

 

 

สรุป


สาเหตุคณะกรรมการนโยบายการเงินต้องลดดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจหดตัว ซึ่งอาจจะส่งผลให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น, ภาคธุรกิจเริ่มขยายตัว, การส่งออกเพิ่มขึ้น และดอกเบี้ยบ้านถูกลง โดยปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายล่าสุด อยู่ที่ 1% ต่อปี ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อมูล : BOT , แสนสิริ , finstreet

รูปภาพโดย ฟอร์ม PxHere

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง