รีเซต

"ดาวเทียมอินฟราเรด" แบบใหม่ ช่วยทำแผนที่แสดง "จุดร้อน" ของโลก

"ดาวเทียมอินฟราเรด" แบบใหม่ ช่วยทำแผนที่แสดง "จุดร้อน" ของโลก
TNN ช่อง16
12 ตุลาคม 2566 ( 11:09 )
76
"ดาวเทียมอินฟราเรด" แบบใหม่ ช่วยทำแผนที่แสดง "จุดร้อน" ของโลก

บริษัทด้านเทคโนโลยีดาวเทียมจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่งดาวเทียมเชิงพาณิชย์ดวงใหม่ ที่มีเซนเซอร์ความร้อนที่มีความละเอียดสูงสุดขึ้นสู่วงโคจร และล่าสุดดาวเทียมดวงนี้ได้ส่งภาพแรกของลักษณะการเคลื่อนที่ของความร้อนทั่วพื้นผิวโลกกลับมาให้เห็นแล้ว 


ดาวเทียม HotSat-1 ซึ่งมีกล้องอินฟราเรดคลื่นกลาง ของบริษัท แซทเทิลไลท์ วู (Satellite Vu) ได้ปล่อยตัวขึ้นสู่วงโคจรไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการทดสอบการใช้งานขั้นสุดท้าย แต่ถึงกระนั้นมันก็สามารถถ่ายภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์บนโลกได้ รวมไปถึงการติดตามไฟป่าในแคนาดา และการเคลื่อนไหวของรถไฟในชิคาโก 


ภาพจาก BBC

 


โทเบียส ไรนิคเก (Tobias Reinicke) ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท แซทเทิลไลท์ วู กล่าวว่าปัจจุบันถึงแม้จะมีดาวเทียมที่มีกล้องถ่ายภาพความร้อนดวงอื่น ๆ ที่ทำงานอยู่แล้ว แต่ก็ยังให้ภาพที่มีความละเอียดต่ำกว่า และยังทำงานมาแล้วนานหลายปี ดังนั้นกล้องถ่ายภาพความร้อนที่บริษัทพึ่งปล่อยออกไปนี้ จะเป็นกล้องถ่ายภาพความร้อนความละเอียดสูงเครื่องแรกที่ลอยอยู่ในวงโคจรและคอยถ่ายภาพและวิดีโอกลับมา


สำหรับกล้องอินฟราเรดที่พัฒนาขึ้นนี้ สามารถมองเห็นผ่านกลุ่มเมฆและควัน และได้ได้รับผลกระทบจากแสงสว่างในตอนกลางวัน หรือความมืด ดังนั้นมันจึงไม่เหมือนกับดาวเทียมสังเกตการณ์โลกในปัจจุบัน เช่น เซนติเนล-2 ( Sentinel-2) ขององค์กรอวกาศของยุโรป หรือ อีเอสเอ (European Space Agency, ESA)


ข้อมูลที่ได้จากกล้องนี้ ยังสามารถใช้ในการสังเกตการณ์ของอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การสังเกตท่อส่งน้ำมัน และการสังเกตการเคลื่อนตัวของรถไฟตามเส้นทางรางรถไฟต่าง ๆ ได้ โดยได้สาธิตวิดีโอที่แสดงให้เห็นภาพรถไฟขบวนหนึ่งที่เคลื่อนผ่านทางแยกรถไฟอันพลุกพล่านในเมืองชิคาโก โดยที่ไม่รู้เลยว่ากำลังถูกจับตามองจากกล้องอินฟราเรดที่ความสูงเกือบ 500 กิโลเมตรนอกโลก


ภาพจาก BBC

 


กล้องอินฟราเรดยังช่วยสร้างแผนที่ของเมือง ที่แสดงให้เห็นว่าความร้อนส่วนเกินนั้นเกิดขึ้นที่ไหน เช่น เกิดขึ้นบริเวณที่จอดรถในตัวเมืองลาสเวกัส ซึ่งแสดงให้เห็นว่ามีการคายความร้อนออกมามากกว่าพื้นที่โดยรอบ จนทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าปรากฏการณ์ "เกาะความร้อนในเมือง (urban heat island effect)" ซึ่งส่งผลให้มีความต้องการพลังงานในการทำความเย็นที่สูงขึ้น


นอกจากนี้ยังสามารถใช้สังเกตการณ์เกิดมลพิษในแม่น้ำ และท่าเรือได้ โดยทางบริษัทวางแผนที่จะปล่อยดาวเทียมดวงที่สองในปีหน้า และหวังว่าจะมีกลุ่มดาวเทียมระหว่าง 8 - 10 ดวง เพื่อช่วยเพิ่มปริมาณข้อมูลที่สามารถรับได้ และยังช่วยลดเวลาการส่งผ่านข้อมูลระหว่างจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้ตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของความร้อนในจุดต่าง ๆ บนโลกได้เร็วขึ้น


ข้อมูลจาก reutersconnectbbc

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง