รีเซต

ไพ่ใบสุดท้าย "ทรัมป์" ไทยติดร่างแห บัญชีแทรกแซงค่าเงิน

ไพ่ใบสุดท้าย "ทรัมป์" ไทยติดร่างแห บัญชีแทรกแซงค่าเงิน
TNN ช่อง16
21 ธันวาคม 2563 ( 10:10 )
182

ประเด็น การขึ้นบัญชีดำเป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้า (currency manipulator) ของกระทรวงการคลังสหรัฐฯ เป้าหมายสำคัญคือการลดปริมาณการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าขนาดใหญ่ ซึ่งครั้งนี้ ไทย ขึ้นไปอยู่ในกลุ่ม 10 ประเทศ ที่ต้องจับตา หรือ Monitoring List  เป็นครั้งแรก การกล่าวหาครั้งนี้ของสหรัฐฯ บ่งบอกว่า ประเทศเหล่านี้ อาจไม่โปร่งใสในการทำการค้าเสรี ด้วยการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อประโยชน์ทางการค้า 

ดังนั้นเมื่อสหรัฐฯ ประเทศอันดับ 1 ของโลก ทั้งด้านเศรษฐกิจ อำนาจทางทหาร อาวุธยุทโธปกรณ์  และที่สำคัญสกุลเงินที่ใช้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนกลางของโลก อย่างดอลลาร์สหรัฐ 70% ของโลกใบนี้  ประกาศขนาดนี้ จะส่งผลกระทบกับการค้า การลงทุน ที่เกี่ยวข้องกับอัตราแลกเปลี่ยนไม่มากก็น้อย 

ถ้อยแถลงของ นายสตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ยืนยันชัดเจน ว่านี่เป็นย่างก้าวที่แข็งขันในการปกป้องการขยายตัวทางเศรษฐกิจและโอกาสแรงงานและภาคธุรกิจอเมริกัน 

 
นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย มองว่า นี่คือไพ่ใบสุดท้าย ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิปดี และ สตีฟ มนูชิน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ฝากเอาไว้ เพื่อการต่อรอง 2 ประเด็นสำคัญ ทั้งการออกไปลงทุนต่างประเทศของเอกชนยักษ์ใหญ่ในสหรัฐฯ เพราะการขยายฐานออกไปต่างประเทศ หมายถึงการจ้างงาน และเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ต้องลดลงตามไปด้วย ยกตัวอย่าง ฮาร์เลย์-เดวิดสัน ผู้ผลิตจักรยานยนต์ชั้นนำของสหรัฐ ที่ย้ายฐานการผลิตมาที่ประเทศไทย เพื่อเลี่ยงสงครามการค้า 

และอีกประเด็นที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ เป็นการสร้างเงื่อนไข เพื่อต่อรองเชิงการค้า เหมือนกับครั้งที่สหรัฐฯ ให้ไทยซื้อหมูเนื้อแดง แต่ไทยไม่ตกลง จึงยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษี หรือ GSP ไป เป็นต้น ซึ่งจะนำไปสู่การตั้งโต๊ะเจรจาข้อตกลงทางการค้า หรือ FTA ระหว่างสหรัฐฯ-ไทย 

หลายคนสงสัยว่า ทรัมป์ ทำเพื่ออะไร เพราะปีหน้า ต้องส่งมอบตำแหน่งให้นายโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีแล้ว คุณกอบสิทธิ์ บอกว่า บทบาทในโซเชี่ยลของทรัมป์ยังมีมากพอ ที่จะเคลมว่าเป็นผลงานของตนเอง เพื่อคะแนนเสียงสำหรับการเลือกตั้งอีก 4 ปีข้างหน้าได้ และที่สำคัญประเทศเหล่านี้ ต้องจำทรัมป์ขึ้นใจ

ขณะที่ ทางการของไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยังเชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย ดูแลค่าเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่กังวลผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น 

เช่นเดียวกับธนาคารแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ ได้สื่อสารและทำความเข้าใจกับทางการสหรัฐฯ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจและแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจการเงินของไทย รวมถึงสร้างความมั่นใจกับสหรัฐฯ ว่าไทยดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบยืดหยุ่นและจะเข้าดูแลค่าเงินบาทเมื่อมีความจำเป็นเพื่อชะลอความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนไม่ให้รุนแรงเกินไปทั้งในด้านแข็งค่าและอ่อนค่าและไม่มีนโยบายแทรกแซงค่าเงินเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศแต่อย่างใด

และการที่ ประเทศไทยถูกจัดอยู่ใน monitoring list ไม่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจที่มีการค้าการลงทุนกับสหรัฐฯ ซึ่งภาคธุรกิจไทยและสหรัฐฯ ยังคงดำเนินธุรกิจกันได้ตามปกติ รวมถึงไม่กระทบต่อการดำเนินนโยบายในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินภายในประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยน ของธนาคารกลาง 

และตั้งแต่ผู้ว่า ธปท.คนก่อน นายวิรไท สันติประภพ ก็มีการชี้แจงกับทางการสหรัฐฯ มาโดยตลอดว่า การทำธุรกรรมของ ธปท.ไม่ได้เป็นการบิดเบือนค่าเงิน แต่มีการเข้าดูแลค่าเงินเพื่อให้ยืดหยุ่น ไม่ให้กระทบกับเสถียรภาพนโยบายการเงิน

 

พาไปดูรายงาน ประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน เพื่อหวังผลทางการค้า (currency manipulator) ของสหรัฐฯ จริงๆ แล้วประเทศที่ถูกกล่าวหารุนแรงมากกว่า ไทย คือ บัญชีดำ ประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน เพื่อประโยชน์ทางการค้า นี่ไม่ใช้ประเทศที่ต้องจับตา แต่ถูกกล่าวหาว่าปั่นเงินไปแล้ว มี 2 ประเทศ คือ เวียดนาม และสวิตเซอร์แลนด์ 

โดยเฉพาะเวียดนาม ที่กระทรวงคลังสหรัฐฯ ได้จงใจลดค่าเงินดองราว 4.7% ในปีที่แล้ว เมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยรัฐบาลเวียดนามได้ทำการแทรกแซงค่าเงินดอง ด้วยการเข้าซื้อสกุลเงินตราต่างประเทศสุทธิคิดเป็นมูลค่า 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีที่แล้ว โดยดำเนินการผ่านทางธนาคารกลางเวียดนาม ซึ่งทั้ง 2 ประเทศออกมาโต้แย้งสหรัฐฯ 

ธนาคารกลางเวียดนามออกแถลงการณ์ ยืนยันว่า เวียดนามไม่ได้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินดองเป็นเครื่องมือในการสร้างข้อได้เปรียบทางการค้าระหว่างประเทศอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งนี้ การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนของเวียดนามในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ อยู่ในกรอบของนโยบายการเงินที่วางไว้ และมีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายในการควบคุมเงินเฟ้อ และสร้างเสถียรภาพของเศรษฐกิจระดับมหภาค


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน ไพ่ใบสุดท้าย "ทรัมป์" ไทยติดร่างแหบัญชีแทรกแซงค่าเงิน

ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=w_DwMhl88qQ


นอกจากนี้ การที่เวียดนามมียอดเกินดุลการค้าและเกินดุลบัญชีเดินสะพัดกับสหรัฐนั้น เป็นผลมาจากหลากหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์เฉพาะของเศรษฐกิจเวียดนาม พร้อมระบุว่า การที่ธนาคารกลางเวียดนามเข้าซื้อสกุลเงินต่างประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ก็เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่า การดำเนินการในตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศจะเป็นไปอย่างราบรื่น โดยพิจารณาถึงปริมาณสกุลเงินต่างประเทศที่เพียงพอต่อความต้องการ

ด้านธนาคารแห่งชาติสวิส ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้เช่นกัน  มีเนื้อหาสำคัญว่า สวิตเซอร์แลนด์ไม่มีนโยบายบิดเบือนมูลค่าของสกุลเงินฟรังก์สวิส แม้จะมีบางกรณีที่ธนาคารกลางต้องใช้นโยบายแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา แต่เป็นการดำเนินการเพื่อรักษาเสถียรภาพให้กับเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์เท่านั้น ไม่ได้มีเป้าประสงค์เพื่อทำลายความสมดุลของราคาเงินตราต่างประเทศ หรือเพื่อสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน อย่างไม่เป็นธรรม ให้กับเศรษฐกิจของสวิตเซอร์แลนด์



ขณะที่อีก 10 ประเทศ ที่ถูกขึ้นบัญชีกลุ่มประเทศที่สหรัฐฯ ต้องจับตาเป็นพิเศษ ไล่ตั้งแต่ ประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างจีน แน่นอนเป็นประเด็นกันมายาวนานในสงครามการค้า สหรัฐฯ-จีน และในช่วงของความตึงเครียดที่สุด สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีสินค้าจีน จนจีนตอบโต้ด้วยการลดค่าเงินหยวน ให้อ่อนค่าลง เพื่อทดแทนปริมาณภาษีที่สูญเสียไป และเมื่อเดือนสิงหาคม 2562  สหรัฐฯ ประกาศให้จีน เป็นประเทศที่แทรกแซงค่าเงิน ก่อนจะปลดให้จีนหลุดออกจากบัญชีดำนี้ ในเดือนมกราคม 2563 ก่อนการลงนามข้อตกลงการค้าสหรัฐฯ-จีน เฟสแรก แต่ในรอบนี้ จีนก็กลับมาอยู่ในกลุ่มที่สหรัฐฯ จับตาอีกครั้ง 

ส่วน 9 ประเทศ ที่เหลือ คือ เยอรมัน ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี ไต้หวัน อินเดีย เกาหลีใต้สิงคโปร์ และประเทศไทย 



ทำไมประเทศไทย ถึงอยู่ในกลุ่มที่สหรัฐฯ จับตาว่าเป็นประเทศที่มีการแทรกแซงค่าเงิน สหรัฐมีเงื่อนไขอย่างไร ในการพิจารณา ประเด็นนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ชี้แจงว่า มีการพิจารณาจาก 20 ประเทศ ที่มีการค้ากับสหรัฐฯ สูงสุด 20 ราย จากเดิมที่พิจารณา 12 ราย นี่เป็นสาเหตุหนึ่ง ที่ทำให้ไทยเข้าเงื่อนไข เพื่อที่จะพิจารณามีมูลค่าการค้าระหว่างกัน ซึ่งจากพิจารณาก็เพิ่มขึ้น จาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เป็นไม่น้อยกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ต่อปี 

ซึ่งกลุ่มที่เข้าเกณฑ์ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐนี้ จะถูกตรวจสอบ 3 เกณฑ์ สำคัญ ข้อแรกสำคัญมากๆ คือ เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ เกิน 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ / เกินดุลเงินบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP และข้อสุดท้าย เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นเกินกว่า 2% ต่อ GDP ซึ่งใครที่ผ่านเกณฑ์ 2 ใน 3 มีสิทธิ์ ที่ถูกจับตา



เมื่อย้อนไปดูปริมาณการค้าไทย กับสหรัฐฯ แน่นอนเกิน 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มานาน ย้อนไปปี 2562 ที่มีปัญหาสงครามการค้าสหรัฐฯ- จีน มูลค่าการค้าสหรัฐฯ กับไทย ยังสูงถึง 48,630 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แบ่งเป็นไทยส่งออก 3.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 

ส่วนปี 2563 ข้อมูล 10 เดือน มูลค่าการค้า 4.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งออก 2.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และนำเข้า 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ 



เงื่อนไขแรกคือ ประเทศไหนเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นี่คือประเด็นสำคัญ และใครเข้าเงื่อนไขบัาง เรารวบรวมให้ดู 13 ประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ นำโด่งคือ ประเทศจีน เกินดุลการค้า รอบ 12 เดือนล่าสุด ตามการเผยแพร่ของสหรัฐฯ 3.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามมาด้วยเม็กซิโก ที่สหรัฐฯ ขยายฐานการผลิตไปเป็นจำนวนมาก เพื่อผลิตสินค้าให้กับคนอเมริกัน เพราะค่าแรงเม็กซิโกยังถูกอยู่ จึงเกินดูลการค้าสหรัฐฯ เป็นอันดับ 2 แต่ไม่ติดกลุ่มประเทศที่ต้องถูกจับตาแทรกแซงค่าเงิน 

อันดับ 3 เวียดนาม เกินดุล 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นไปอยู่ในแบล็คลิสต์ / อันดับ 4 เยอรมัน เกินดุลสหรัฐฯ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ / อันดับ 5 สวิตเซอร์แลนด์ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแบล็คลิสต์ไปคู่กับเวียดนาม ตามมาด้วย ไอซ์แลนด์ ญี่ปุ่น มาเลเซีย อิตาลี ไต้หวัน ไทย อินเดีย และเกาหลีใต้ ตามลำดับ ทั้งหมดนี้ เกินดุลสหรัฐฯ กว่า 2 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ ทั้งสิ้น



เกินดุลเงินบัญชีเดินสะพัดมากกว่า 2% ของ GDP ซึ่งประเทศไทยในปี 2563 ตัวเลขล่าสุด 10 เดือน เกินดุล 1.76 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าทั้งปีก็จะเกิน 2% ของ GDP ตามเกณฑ์ของสหรัฐฯ และย้อนไปดูปี 2562 ปีปกติ ที่ไม่มีโควิด-19 นักท่องเที่ยวเข้าไทยจำนวนมาก ก็เกินดุล 3.82 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเกินดุล 7% ของ GDP 



และสุดท้าย ประเด็นเรื่องการแทรกแซงค่าเงิน หากคำนวณคราวๆ จากปริมาณเงินสำรองระหว่างประเทศ ในรูปดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา พบว่าเงินสำรองระหว่างประเทศ รวมกับฐานะซื้อเงินเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าสุทธิ ณ 27 ธ.ค.2562 อยู่ที่ 2.57 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ล่า สุด ณ วันที่ 9-11 ธ.ค. 2563 เงินสำรองระหว่างประเทศของธปท.เพิ่มขึ้นเป็น 2.82 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทย 8.4 ล้านล้านบาท (คิดอัตรา 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) หรือเพิ่มขึ้น 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยราว 7.5 แสนล้านบาท หรือกว่า 4% ของ GDP

กลุ่มประเทศที่ถูกสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีเหล่านี้ หากไม่มีการแก้ไขภายใน 1 ปี มีความเสี่ยง ที่สหรัฐฯ จะใช้นโยบายกีดกันทั้งทางการค้า และไม่ใช่การค้า กดดันมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบริษัทที่มีถิ่นฐานในประเทศไทย กรณีทำธุรกรรม การค้า การลงทุนกับสหรัฐ 

อย่างไรก็ตาม นโยบายการค้าแบบพหุภาคี และแนวทางโอบล้อมจีน ของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ อาจลดบทบาท และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ต่างจากตอนที่นายทรัมป์ยังอยู่ ซึ่งทั้งหมดนี้ ยังติดตามความชัดเจนในปีหน้าต่อไป 


ติดตามรายการเศรษฐกิจ Insight ตอน ไพ่ใบสุดท้าย "ทรัมป์" ไทยติดร่างแหบัญชีแทรกแซงค่าเงิน

ได้ที่ https://www.youtube.com/watch?v=w_DwMhl88qQ


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง