รีเซต

“วิกฤตหนี้ครัวเรือน” ความเสี่ยงเศรษฐกิจในอนาคต

“วิกฤตหนี้ครัวเรือน” ความเสี่ยงเศรษฐกิจในอนาคต
TNN ช่อง16
17 มิถุนายน 2563 ( 15:35 )
668
“วิกฤตหนี้ครัวเรือน” ความเสี่ยงเศรษฐกิจในอนาคต

แม้สถานการณ์โรคโควิด-19ในประเทศไทยจะดูดีขึ้นมาก แต่ภาพ “เศรษฐกิจไทย” ยังคง “ย่ำแย่” อย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มว่าจะ “ซึมตัว” ยาว โดยนักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ของสำนักวิจัยต่างๆ คาดว่าอาจใช้เวลาถึง 2 ปี เศรฐกิจไทยถึงจะกลับไปสู่ระดับก่อนวิกฤติ หรือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นรูปตัว U

 

ประเด็นที่ “น่าห่วง” หลังจากนี้ คือ เศรษฐกิจที่ทรุดลงหนักจนมีความเสี่ยงว่าจะเข้าสู่ "ภาวะตกต่ำ” หรือ Depression จะส่งผลกระทบต่อ ความเป็นอยู่ของคนในประเทศอย่างไร โดยเฉพาะ “คุณภาพหนี้” ซึ่งหนี้ที่น่าห่วงสุดในเวลานี้ คือ “หนี้ครัวเรือน” 

  

หากจำกันได้ ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ส่งสัญญาณเตือนมาตลอดถึง “ความน่าเป็นห่วง” ของหนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูง ที่สำคัญยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2560 หนี้ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนต่อจีดีพีอยู่ที่ 78.1%  ก่อนขยับขึ้นเป็น 78.4% ในปี 2561 และเพิ่มเป็น 79.8% ในปี2562 

 

ล่าสุดการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 พ.ค.ที่ผ่านมา กนง.ประเมินว่าภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวในปีนี้จะส่งผลให้เสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น  ทำให้จำนวนครัวเรือนและธุรกิจมีความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องของภาครัฐจะทยอยสิ้นสุดลง

 

 
ดังนั้น เมื่อมองไปข้างหน้าสัดส่วนหนี้เหล่านี้มีแนวโน้ม“เพิ่มขึ้น”แบบ “ก้าวกระโดด” สาเหตุเพราะ “วิกฤติโควิด” กระทบต่อภาคเศรษฐกิจโดยตรง ดังนั้นแม้ปริมาณหนี้จะไม่เพิ่มขึ้น หรือมีแนวโน้มชะลอตัว  แต่หาก “จีดีพี” ปรับตัวลดลง สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีย่อมเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เศรษฐกิจมีแนวโน้มหดตัวแรงและเร็วกว่าการชะลอตัวของหนี้สินครัวเรือน 
 
 
อธิบายแบบง่ายๆ คือ หาก “จีดีพี” ปีนี้หดตัว 5.3% ตามที่ ธปท. ประเมินไว้  สัดส่วนหนี้ต่อครัวเรือนก็จะเพิ่มขึ้น 5.3% เช่นเดียวกัน แม้ว่าปริมาณหนี้จะเท่าเดิม ดังนั้น หากลองคำนวณสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปีนี้  โดยกำหนดให้ปริมาณหนี้ครัวเรือนเท่าเดิม แต่จีดีพีเปลี่ยนไปตามการคาดการณ์ของสำนักวิจัยต่างๆ พบว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เราอาจเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี พุ่งขึ้นเกินกว่าระดับ 85% ของจีดีพีในปีนี้ซึ่งจะถือเป็นระดับสูงสุดในประวัติการณ์
 
 
อีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงไปกว่านั้น คือ “คุณภาพหนี้” ที่จะพัฒนาเป็น “เอ็นพีแอล” หรือ หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 
 
ขณะที่ ข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ “เครดิตบูโร” พบว่า คนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้นและเป็นหนี้เสียตั้งแต่อายุยังน้อย แถมคนชราก็ยังมีหนี้ค่อนข้างมากด้วยโดยเฉพาะเกษตรกร อีกทั้งครัวเรือนมีแนวโน้มติดอยู่ในวงจรหนี้มากขึ้น
 
โดย ข้อมูลของเครดิตบูโร  ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 พบว่า กลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุด คือ กลุ่มเจนวายมียอดหนี้คงค้างรวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย หรือ “เอ็นพีแอล” คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มเจนเอ็กซ์ มีการก่อหนี้ที่ 3.7 ล้านล้านบาท โดยมีหนี้เสียในระบบอยู่ที่ 2.8 แสนล้านบาท ขณะที่ เบบี้บูมเมอร์ มีหนี้สินคงค้างรวม 1.2 ล้านล้านบาท มีเอ็นพีแอลที่ 8.4 หมื่นล้านบาท ส่วน เจนแซด มีหนี้สินรวม 2.5 หมื่นล้านบาท และเป็นเอ็นพีแอลแล้ว 1.2 พันล้านบาท โดย เอ็นพีแอล ของ เจนแซด กระจุกตัวในสินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อเช่าซื้อที่ไม่ใช่รถยนต์
 
 
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่า ก่อนเกิดวิกฤติโควิด สถานะหนี้ในกลุ่มเหล่านี้ มีความน่ากังวลเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ภาคครัวเรือนก่อหนี้สวนทางกับรายได้
 
โดยข้อมูลของ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและธุรกิจ(EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุว่า ครัวเรือนไทยมีรายได้ลดลงสวนทางกับ จีดีพี ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2562 ครัวเรือนไทยมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 26,371 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ลดลง 2.1% จากปี 2559 ที่ 26,946 บาทต่อเดือนต่อครัวเรือน ถือเป็นการลดลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี จากในช่วงก่อนหน้าที่ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นมาโดยตลอด
 
ภาพทั้งหมดนี้ คือ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนวิกฤติโควิด ซึ่งจะเห็นชัดเจนว่า ระดับหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ เป็นประเด็นที่น่ากังวล เพราะหากเกิด “ช็อก” ทางเศรษฐกิจขึ้นมา หนี้เหล่านี้จะกลายเป็น “หนี้เสีย” ได้ในท้ายที่สุด  
 
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนจึงเปรียบเหมือน “ระเบิดเวลา” ที่รอวันปะทุ ...วันนี้คงต้องจับตาดูว่า “วิกฤติโควิด” ที่เกิดขึ้น จะเป็นตัว “จุดชนวน” ระเบิดเวลาลูกนี้ให้เริ่มทำงานหรือไม่ เพราะตอนนี้เริ่มมีข้อมูลหลายตัวที่บ่งชี้ถึงความน่าเป็นห่วงในระยะข้างหน้า
 
“พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ภัทร บอกว่า สิ่งที่เราต้องติดตามหลังจากนี้ คือ เมื่อครบระยะเวลาพักชำระหนี้ 6 เดือน หนี้เหล่านี้จะกลับมาเป็น “หนี้ปกติ” ได้มากน้อยแค่ไหน เพราะในจำนวนผู้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงินรอบนี้ ซึ่งมี 15 ล้านคน มูลหนี้รวม 6.68 ล้านล้านบาท หากเพียงแค่ 10% ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ ก็คงจะทำให้ระบบการเงินเกิดความปั่นป่วนได้พอสมควร เพราะหมายความว่าจะมีคนจำนวน 1.5 ล้านคน หรือมูลหนี้ราว 6.68 แสนล้านบาท กลายเป็นหนี้เสียทันที
 
ประเด็นคือ ในอดีตไทยไม่เคยเผชิญวิกฤติหนี้รายย่อยมาก่อน สมัยปี 2540 หนี้เสียส่วนใหญ่เป็นของบริษัทเอกชน แม้จะมีมูลหนี้มากแต่จำนวนผู้เสียหายไม่ได้มากนัก ซึ่งต่างจากหนี้ครัวเรือนที่จำนวนผู้เสียหายมีจำนวนมาก ดังนั้นกระบวนการเจรจาหนี้ หรือยึดหลักประกันคงต้องใช้เวลานานพอสมควร 
 
ดังนั้นหากการบริหารจัดการไม่ดีพอ ทำให้สัดส่วนเอ็นพีแอล เพิ่มสูงขึ้นแบบมีนัยสำคัญ จะยิ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงิน ซึ่งอาจลุกลามไปสู่วิกฤติการเงินได้ในท้ายที่สุด  โดยหลังจากนี้ต้องติดตามว่า เมื่อพ้นระยะเวลาพักชำระหนี้ 6 เดือนแล้ว คุณภาพหนี้ของทั้ง 15 ล้านรายนี้ จะมีพัฒนาการเป็นอย่างไร
 
 
ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศ ล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2563  คุณภาพสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ด้อยลงจากสิ้นปี 2562 ยอดคงค้างสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Non-Performing Loan: NPL หรือ stage 3) อยู่ที่ 496,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมที่ร้อยละ 3.05 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ 2.98 ขณะที่สัดส่วนสินเชื่อที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของความเสี่ยงด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม (Significant increase in credit risk:SICR หรือ stage 2) อยู่ที่ร้อยละ 7.70
 
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ในรายการเศรษฐกิจ insight 17 มิ.ย. 63
 
เกาะติดข่าวที่นี่ 
website: www.TNNThailand.com 
facebook : TNNThailand 
facebook live : TNN Live 
twitter : @TNNThailand 
Line : @TNNONLINE 
Youtube Official : TNNThailand 
Instagram : @tnn_online
 
 
 
 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง