อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นเกิน 1.5 °C แม้เกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว แต่ทำโลกสูญเสียธารน้ำแข็งมหาศาล

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นจนทำให้ปี 2024 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ และเป็นปีแรกที่อุณหภูมิเฉลี่ยโลกเพิ่มสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล แห่งสหราชอาณาจักร และมหาวิทยาลัยของออสเตรเลียที่ทำให้เห็นว่าโลกสูญเสียธารน้ำแข็งจำนวนมาก และอาจต้องใช้ระยะเวลานานหลายสิบปีเพื่อฟื้นตัวขึ้นมาอีกครั้ง แต่นโยบายด้านสภาพอากาศในปัจจุบันอาจส่งผลให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้นถึง 3 องศาเซลเซียส ซึ่งจะทำให้สภาพแวดล้อมและธารน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเลวร้ายลงจนไม่สามารถย้อนกลับได้อีก
ตามเป้าหมายข้อตกลงปารีสมุ่งจำกัดอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม หากไม่สามารถดำเนินการได้ก็จะผลักให้โลกต้องเผชิญกับภัยพิบัติทางธรรมชาติและสภาพอากาศที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกได้ออกมาเตือนว่า มีอากาศเกือบร้อยละ 50 ที่อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกในช่วงปี 2024-2028 อาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส แม้ว่าจะเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่ผลกระทบอาจรุนแรงกว่าที่มีการประเมินไว้
นักวิทยาศาสตร์ได้จำลองสถานการณ์โลกที่อุณหภูมิเฉลี่ยค่อยๆ เพิ่มสูงขึ้น 3 องศาเซลเซียส ภายในปี 2050 และลดลงเหลือ 1.5 องศาเซลเซียสภายในปี 2100 สถานการณ์นี้จะทำให้โลกสูญเสียธารน้ำแข็งถึงร้อยละ 16 ซึ่งการละลายของธารน้ำแข็งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น และนับตั้งแต่ปี 2000 จนถึงปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบว่าระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นแล้วเกือบ 2 เซนติเมตร
ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจะเกิดขึ้นเพียงแค่ชั่วคราว แต่ก็ทำให้โลกสูญเสียธารน้ำแข็งไปมหาศาล และต้องใช้ระยะเวลานานนับสิบปีหรืออาจนานกว่านั้นในการฟื้นตัว หากโลกยังคงดำเนินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้นเท่าไร ก็จะยิ่งสร้างภาระให้กับคนรุ่นต่อไป รวมถึงการฟื้นตัวของธารน้ำแข็งอาจะไม่สามารถย้อนกลับมาในจุดเดิมได้อีก