เฟอร์นิเจอร์จากขยะซองพลาสติก นวัตกรรมจากนักศึกษาราชมงคลธัญบุรี
ปัจจุบันมีขยะจำนวนมากที่ไม่มีที่ไป เช่น ขยะจากซองบรรจุภัณฑ์แบบมัลติเลเยอร์ที่มีวัสดุหลายชั้น ทั้งชั้นพลาสติก และชั้นสีชั้นอะลูมิเนียมฟอย เช่น ซองบรรจุขนมขบเคี้ยว, ซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม, และซองกาแฟ เป็นต้น การจะนำขยะประเภทนี้ไปรีไซเคิลจะต้องแยกชั้นของพลาสติกที่มีหลายชั้นออกทีละส่วน ทำให้ไม่คุ้มค่าใช้จ่าย มันจึงถูกนำไปเผาหรือฝังกลบ ซึ่งใช้เวลานานในการย่อยสลายและเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
นวัตกรรมรีไซเคิลแบบไม่แยกชั้น
โดยภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับบริษัท อริยะสุทธิ อินเตอร์เทรด ในการคิดค้นนวัตกรรมกระบวนการอัดขึ้นรูปด้วยความร้อน ซึ่งอาศัยการควบคุมอุณหภูมิ, ควบคุมความดัน และควบคุมปริมาตรความหนาแน่น ทำให้ไม่ต้องแยกพลาสติกออกจากอะลูมิเนียมฟอย, กระดาษ หรือวัสดุอื่น ๆ ข้อดีอีกอย่างของนวัตกรรมนี้คือเป็นการใช้พลาสติกแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องต้มรวมกับพลาสติกชนิดอื่น หรือผสมรวมกับคอนกรีตที่ต้องมีซีเมนต์, ทราย และอิฐ
มูลค่าจากขยะ
สำหรับแผ่นอัดจากขยะซองผลิตภัณฑ์นี้ หากขายเป็นอัดธรรมดาจะมีราคาที่ประมาณ 200 - 300 บาทต่อแผ่น แต่หากนำไปแปรรูปก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีกกว่าเท่าตัว เช่น นาฬิกา, กระถางต้นไม้, ชั้นวางของ, เก้าอี้ และอื่น ๆ จะมีราคาเริ่มต้นที่ประมาณ 1,500 - 2,000 บาทต่อชิ้น
อย่างไรก็ตาม ขยะเหล่านี้ไม่มีข้อจำกัดด้านความสกปรกและสารอันตราย เนื่องจากผู้ผลิตสามารถเลือกขยะที่จะนำมาใช้ได้เอง ยกตัวอย่างในกรณีที่ผู้ผลิตต้องการนำวัสดุนี้มาใช้เพื่อการก่อสร้างหรือใช้ภายนอก ผู้ผลิตสามารถนำขยะเหล่านี้มาเข้ากระบวนการอัดได้เลย หรือในกรณีที่ผู้ผลิตต้องการนำไปทำเป็นเฟอร์นิเจอร์ใช้ภายในบ้าน ผู้ผลิตจะต้องเลือกขยะที่ไม่มีสารประกอบ หรือสารปนเปื้อนอันตราย ก่อนที่จะนำไปเข้ากระบวนการอัด