รีเซต

WHO ประกาศ "แอสปาร์แตม" อาจก่อมะเร็งแต่ยังปลอดภัย บริโภคในปริมาณที่จำกัด

WHO ประกาศ "แอสปาร์แตม" อาจก่อมะเร็งแต่ยังปลอดภัย บริโภคในปริมาณที่จำกัด
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2566 ( 09:08 )
86

WHO ประกาศ "แอสปาร์แตม" มีความเป็นไปได้เป็นสารก่อมะเร็ง แต่ยังปลอดภัยที่จะบริโภคต่อไป นักวิทยาศาสตร์แนะ "สตีเวีย" อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า


องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ระบุว่า แอสปาร์แตม สารให้ความหวานแทนน้ำตาล มี "ความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง" แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงปริมาณจำกัดของแอสปาร์แตมที่สามารถบริโภคได้ และยังคงปลอดภัยที่จะบริโภคต่อไปในปริมาณที่จำกัดตามที่กำหนดไว้เดิมมานานกว่า 40 ปี

แอสปาร์แตม เป็นหนึ่งในสารให้ความหวานที่นิยมใช้กันมากที่สุดในโลก ใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารอย่างเช่น น้ำอัดลม Coca-Cola diet ไปจนถึงหมากฝรั่งของ Mars

ผลสรุปดังกล่าวเป็นผลมาจากการพิจารณาของคณะผู้เชี่ยวชาญ 2 คณะของ WHO โดยคณะแรกตรวจสอบว่ามีหลักฐานใดที่ยืนยันว่า สารใดสารหนึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นอันตรายหรือไม่ ส่วนอีกคณะประเมินว่า สารดังกล่าวมีความเสี่ยงจริงในการใช้ในชีวิตจริงมากน้อยเพียงใด

โดยสำนักวิจัยมะเร็งระหว่างประเทศ หรือ IARC ของ WHO ประกาศผลสรุปเกี่ยวกับแอสปาร์แตมในวันนี้ (14 ก.ค.) ตามเวลาเจนีวา ว่า แอสปาร์แตม "มีความเป็นไปได้ที่จะเป็นสารก่อมะเร็ง" นับเป็นการประกาศครั้งแรกของคณะผู้เชี่ยวชาญของ WHO คณะนี้เกี่ยวกับแอสปาร์แตม

การจัดชั้นให้สารใดให้อยู่ในชั้นความเป็นไปได้ว่าอาจเป็นสารก่อมะเร็ง หมายความว่า พบหลักฐานจำกัดว่าสารดังกล่าวอาจทำให้เป็นมะเร็งได้ แต่ IARC ไม่ได้พิจารณาเลยไปถึงว่า สามารถบริโภคสารดังกล่าวได้มากน้อยเท่าใดต่อคน

การพิจารณาเรื่องปริมาณการบริโภคต่อคน เป็นหน้าที่ของคณะผู้เชี่ยวชาญอีกคณะหนึ่งของ WHO คือ คณะกรรมการร่วมว่าด้วยสารเติมแต่งในอาหารขององค์การอาหารและเกษตร หรือ FAO ซึ่งอยู่ในสังกัดของ WHO ด้วย ชื่อย่อของคณะกรรมการร่วมนี้คือ JECFA

JECFA ประกาศผลการทบทวนตรวจสอบแอสปาร์แตมในวันนี้ตามเวลาเจนีวาเช่นกันว่า ไม่มีหลักฐานยืนยันอันตรายที่เกิดจากแอสปาร์แตม และยังคงแนะนำว่าสามารถบริโภคต่อไป ในปริมาณที่จำกัดตามที่กำหนดไว้เดิม คือต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน JECFA เองเป็นผู้กำหนดปริมาณจำกัดในการบริโภคแอสปาร์แตมในระดับนี้มาตั้งแต่ปี 1981 แล้ว หรือเมื่อ 42 ปีก่อน แล้วผู้คุมกฎในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างก็ให้คำแนะนำเช่นเดียวกันนี้แก่ประชากรของตน

ตามข้อมูลของ WHO คนที่มีน้ำหนักระหว่าง 60-70 กิโลกรัม จะต้องดื่มน้ำอัดลม 9-14 กระป๋องต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณน้ำอัดลมที่คนส่วนใหญ่บริโภคประมาณ 10 เท่า จึงจะเกินปริมาณจำกัดในการบริโภคแอสปาร์แตมในระดับที่กำหนดไว้ในปัจจุบัน เมื่อพิจารณาจากปริมาณแอสปาร์แตมโดยเฉลี่ยในน้ำอัดลม

ส่วนความเห็นของนักวิทยาศาสตร์หลายคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ WHO หรือการทบทวนตรวจสอบแอสปาร์แตม ชี้ว่า หลักฐานที่เชื่อมโยงแอสปาร์แตมกับมะเร็งนั้น ยังอ่อน ส่วนนักวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เห็นว่า "สตีเวีย" หรือหญ้าหวาน อาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่าแอสปาร์แตม

ส่วนปฏิกิริยาจากสมาคมด้านอาหารและเครื่องดื่มต่างๆ ชี้ว่า คำวินิจฉัยของคณะผู้เชี่ยวชาญ WHO ล่าสุดยืนยันว่า แอสปาร์แตมปลอดภัยและเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคนที่ต้องการลดน้ำตาลในอาหาร




แฟ้มภาพ รอยเตอร์


ข่าวที่เกี่ยวข้อง