รีเซต

อาเซียนตั้งบรูไน ทูตพิเศษดีลพม่า แม้คณะรัฐประหารอยากได้ไทย

อาเซียนตั้งบรูไน ทูตพิเศษดีลพม่า แม้คณะรัฐประหารอยากได้ไทย
ข่าวสด
5 สิงหาคม 2564 ( 02:12 )
45

 

อาเซียนตั้งบรูไน - รอยเตอร์ รายงานว่า อาเซียนใช้เวลายาวนานหลายเดือนกว่าจะเลือกและแต่งตั้ง นายอีรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศบรูไน เป็นผู้แทนพิเศษอาเซียนเพื่อทำภารกิจยุติความรุนแรง รวมถึงเปิดการเจรจาระหว่างรัฐบาลทหารและฝ่ายต่อต้านรัฐบาลในเมียนมา นับจากเกิดเหตุรัฐประหาร วันที่ 1 ก.พ. 2564

 

 

ระหว่างการแข่งขันกันเป็นผู้แทนพิเศษด้านกิจการเมียนมา รวมถึงไทยและอินโดนีเซีย ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 10 ประเทศ ผ่าทางตันด้วยการแต่งตั้งนายอีรีวัน พร้อมกำหนดภารกิจด้านความช่วยเหลือมนุษยธรรม

 

 

 

ส่วนสำนักข่าว เอพี รายงานว่า นายอีรีวันเป็น 1 ใน 4 ผู้เข้าชิงตำแหน่ง ซึ่งคนที่ทางการเมียนมาสนับสนุนคือนักการทูตของไทย แต่สุดท้ายการคัดเลือกมาลงตัวที่ผู้แทนจากบรูไน

 

 

นอกจากนี้ การตัดสินใจดังกล่าว สะท้อนว่า คณะรัฐประหารเมียนมาต้องการพึ่งพาแรงสนับสนุนจากอาเซียน ในยามที่ถูกนานาประเทศรุมประณาม

 

 

 

สิธาร์โต สุรีโยดิปูโร หัวหน้าทีมความร่วมมืออาเซียน ประจำกระทรวงการต่างประเทศ เผยกับนักข่าวที่กรุงจาการ์ตา ว่า กระบวนการกล่อมเมียนมาให้ยอมรับในตัวทูตอาเซียนและการต่อรองต่างๆ นั้นยากเย็นแสนเข็ญ ตนและนายอีรีวันจะเขียนไทม์ไลน์ในภารกิตที่จะช่วยลดความรุนแรง และพบปะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

 

 

นายสิธาร์โตกล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมนี้ไม่ได้เอ่ยถึงว่า อาเซียนยอมรับรัฐบาลทหาร

“ตอนนี้เมียนมาต้องร่วมมือในบริบทของอาเซียน เพราะความสำเร็จของทูตพิเศษอาเซียนจะเป็นความสำเร็จของเมียนมาในการจัดลำดับวิกฤตที่ตอนนี้มีหลายชั้น เกี่ยวพันไม่เฉพาะเรื่องการเมือง ยังรวมถึงเศรษฐกิจ และย่ำแย่ลงด้วยสถานการณ์โควิด-19” นายสิธาร์โตกล่าว

 

 

อย่างไรก็ตามหลังจาก อาเซียนตั้งบรูไน เป็นทูตพิเศษแล้ว เบื้องต้นนี้ยังไม่แน่ชัดว่า เมื่อใดที่ผู้นำทหารพม่าจะยอมให้ทูตพิเศษอาเซียนเข้าพบ นาง ออง ซาน ซู จี ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่รัฐประหาร อีกทั้งยังถูกดำเนินคดียาวเป็นหางว่าว

 

 

นับจากเหตุรัฐประหาร รัฐบาลทหารสั่งปราบปรามประชาชนที่ต่อต้านไปแล้วมากกว่า 900 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่มตำรวจทหารก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ในขณะที่กลุ่มติดอาวุธผุดขึ้นทั่วทั้งเขตเมืองและเขตชนบท

 

 

ส่วนนายพลมิน อ่อง ไหล่ หัวหน้าคณะรัฐประหารตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี สัญญาจะจัดเลือกตั้งในอีก 2 ปีข้างหน้า และร่วมมือกับอาเซียนหาทางออกทางการเมือง

นางซู จี ถูกนำตัวขึ้นศาล

วันเดียวกัน น.ส. เวนดี เชอร์แมน รมช.ต่างประเทศสหรัฐ พบปะพูดคุยกับผู้แทนรัฐบาลพลัดถิ่น เป็นการพบปะติดต่อครั้งแรกระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงสหรัฐกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหาร

 

 

ตัวแทนรัฐบาลพลัดถิ่นเมียนมาคือ ซิน มาร์ อ่อง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ หารือกับรัฐมนตรีสหรัฐ เพื่อหาหนทางฟื้นฟูประชาธิปไตย รวมถึงการสนับสนุนความเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาธิปไตยของสหรัฐ นอกจากนี้ยังหาทางต่อสู้กับสถานการณ์โรคโควิด-19 ระบาด

 

 

 

ก่อนหน้าการหารือดังกล่าวไม่กี่ชั่วโมง นายแอนโธนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ หารือกับตัวแทนอาเซียน และเรียกร้องให้อาเซียนกระตุ้นให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง ปล่อยตัวบุคคลที่ถูกจับกุมอย่างไม่ยุติธรรม และฟื้นฟูประชาธิปไตยโดยทันที

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง