รีเซต

รัฐประหารเมียนมา ผลกระทบต่อไทย-อาเซียน

รัฐประหารเมียนมา ผลกระทบต่อไทย-อาเซียน
มติชน
31 ธันวาคม 2564 ( 01:35 )
64
รัฐประหารเมียนมา ผลกระทบต่อไทย-อาเซียน

ในปีนี้โลกได้เห็นภาพเหตุการณ์สุดช็อกที่เลือดเนื้อของผู้บริสุทธิ์ชาวเมียนมาจำนวนมากต้องหลั่งนองท่วมแผ่นดิน จากการถูกอำนาจรัฐทหารใช้กำลังเข้าประหัตประหารประชาชนอย่างโหดเหี้ยม หลัง“ทัตมาดอว์” กองทัพเมียนมาก่อการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของนางออง ซาน ซูจี เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่นับเป็นความเสื่อมถอยครั้งเลวร้ายของประชาธิปไตยอันเปราะบางในเมียนมาอีกครั้งและยังส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วภูมิภาค


วิกฤตความขัดแย้งในเมียนมา กลับมาเป็นปัญหาท้าทายใหญ่สำหรับไทย ในฐานะเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดต่อกันมากกว่า 2,000 กม. และต่อประชาคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภูมิภาค ที่ไม่สามารถนิ่งดูดายต่อความเป็นไปอันเลวร้ายที่เกิดขึ้นในเมียนมาได้
การประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อปลายปี 2562 เกิดปรากฎการณ์ที่ไม่คาดคิดและไม่เคยมีมาก่อนจากอาเซียนคือ การตัดสินใจเด็ดขาดไม่เชิญพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่มีขึ้นระหว่างวันที่ 26-28 ตุลาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบโต้ที่เมียนมาไม่มีความคืบหน้าในการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อที่ได้ตกลงกันไว้ในการประชุมผู้นำอาเซียนเมื่อเดือนเมษายน โดยเฉพาะการไม่ยอมเปิดทางให้นายเอรีวัน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน ในฐานะผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียน ได้พบปะพูดคุยกับนางซูจี ที่ถือเป็นคู่ขัดแย้งสำคัญในวิกฤตเมียนมา


นับเป็นครั้งแรกที่อาเซียนตอบโต้อย่างแข็งกร้าว ที่ถูกมองว่าเป็นการหักหน้าผู้ปกครองทหารเมียนมาเช่นนั้น และอีกครั้งในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-จีน ในโอกาสครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์อาเซียน-จีน เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน ก็ยังคงไร้เงาพล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงประธานอาเซียนจากบรูไนมาเป็นกัมพูชา น่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อการดำเนินการของอาเซียนต่อปัญหาเรื่องเมียนมาไม่มากก็น้อย


นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว อดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มองว่า การเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาภายใต้การนำของสมเด็จฮุน เซน น่าจะแอคทีฟพอสมควร เพราะสมเด็จฮุน เซน เป็นผู้นำรัฐบาลที่มีความอาวุโสในอาเซียน ขณะที่สุลต่านบรูไนทรงดำรงตำแหน่งประมุขของประเทศและผู้นำรัฐบาล การดำรงตำแหน่งในคราวนี้น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายสำหรับการเป็นประธานอาเซียนของสมเด็จฮุน เซน


เมื่อครั้งที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียนครั้งที่แล้ว มีกรณีที่ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนไม่สามารถออกแถลงการณ์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 40 ปี เพราะติดเรื่องข้อความเกี่ยวทะเลจีนใต้ เป็นที่พูดกันเยอะว่าเป็นเหตุการณ์ที่แสดงถึงความไม่มีเอกภาพของอาเซียน สมเด็จฮุน เซน น่าจะใช้โอกาสนี้แสดงบทบาทการเป็นประธานของกัมพูชา


จากที่ได้อ่านจากแหล่งข่าวต่างๆ ทราบว่าสมเด็จฮุน เซน พยายามบอกรัฐบาลทหารเมียนมาว่าไม่มีอะไรต้องกลัวกับการมีปฏิสัมพันธ์กับอาเซียนและประชาคมโลก เพราะเขาก็ผ่านมาเหตุการณ์แบบนั้นมาแล้ว แต่แน่นอนว่าเขาก็มีวิธีการของเขา เห็นได้จากการเยือนกัมพูชาของนายวันนา หม่อง ละวิน รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา คิดว่าที่สุดแล้วการแก้ไขสถานกรณ์เมียนมา เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องคุยกับรัฐบาลทหาร เพื่อดึงมาสู่กระบวการฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียนให้มากขึ้น ยังมองในแง่ดีกว่าที่เขาไปไม่ใช่ไปเพื่อเอาใจรัฐบาลทหารอย่างที่บางคนมอง แต่จะแก้ไขปัญหาในเมียนมาก็ต้องคุยกันโดยรง ไม่อยากนั้นก็จะกลายเป็นรัฐบาลทหารปิดประตูกับอาเซียน แต่ก็คงต้องรอดูต่อไป


“ดูจากสิ่งเหล่านี้คิดว่าเขาน่าจะแอคทีฟมากกว่าประธานคนก่อน และอาจมองสถานการณ์ด้วยความเป็นจริง และจากประสบกาณณ์ของเขาเองในอดีต มองย้อนกลับไปสมัยปัญหากัมพูชาที่มีการเข้ามาบริหารโดยสหประชาชาติเป็นการชั่วคราว ก่อนจะมีการจัดการเลือกตั้งในกัมพูชา อย่างไรก็ดีในการคุยกับฝ่ายรัฐบาลเมียนมาก็หวังว่าเขาจะพยายามเปิดประตูพูยคุยกับฝ่ายต่างๆ ในเมียนมาด้วย”นายสีหศักดิ์กล่าว


นายสีหศักดิ์มองว่าการที่สมเด็จฮุน เซน เตรียมที่จะเดินทางเยือนเมียนมาในช่วงต้นปีหน้าก็เพราะเขาคิดว่าการพูดคุยโดยตรงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างไรก็ดีเรื่องเมียนมาเราไม่สามารถที่จะไปให้ประเทศที่เป็นประธานทำอยู่ฝ่ายเดียวหรือออกแรงฝ่ายเดียว ทุกประเทศที่สามารถมีบทบาทสนับสนุนก็ต้องเข้ามาช่วยด้วย ที่ผ่านมาเหมือนเราไปฝากความหวังที่ประธานหรือผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนซึ่งไม่ใช่ ตอนนี้ทุกคนพูดว่าให้อาเซียนเป็นผู้มีบทบาทนำ แต่ทุกคนก็มีการดำเนินการทางการทูตของตนเอง แต่การทูตต่อเมียนมามันต้องมีความเป็นเอกภาพ ทุกประเทศต้องให้การสนับสนุน และต้องมีการประสานกับมหาอำนาจภายนอกด้วย
“เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าทุกคนก็มองมาที่ไทย คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับไทยที่จะกลับไปสูู่จอเรดาห์ของประเทศทั้งหลาย และมันเป็นผลประโยชน์ของไทยในระยะยาวที่ต้องการเห็นเสถียรภาพในเมียนมา และหนทางไปสู่เสถียรภาพไม่มีทางกลับไปสู่จุดที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ประชาชนของเมียนมาก็ต้องการประชาธิปไตย การต่อต้านก็ไม่ใช่รูปแบบเดิมๆ มีการตั้งกองกำลังประชาชนและรัฐบาลคู่ขนาน ไม่มีทางที่รัฐบาลทหารจะอยู่แบบเดิม แต่ยิ่งยืดเยื้อประชาชาวเมียนนมาก็ยิ่งเดือดร้อน เพราะความสัมพันธ์ระยะยาวยังต้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์ประชาชน ไทยเข้าไปได้ก็เป็นเรื่องดี ที่สำคัญคือเราต้องพยายามให้ความช่วยเหลือควรถึงมือประชาชนทุกฝ่ายจริงๆ ไม่มีการเมืองเข้ามา”นายสีหศักดิ์กล่าว


เมื่อมองถึงสถานการณ์สู้รบในเมียนมาขณะนี้ที่ทำให้มีผู้ลี้ภัยการสู้รบเข้ามาในไทย นายสีหศักดิ์ชี้ว่า เมียนมาเป็นประเทศที่มีปัญหาภายในเยอะ มีกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ถ้าสถานการณ์สู้รบยังยืดเยื้อต่อไปก็จะนำไปสู่ความไร้เสถียรภาพมากขึ้น และคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดนอกจากประชาชนของเขาก็คือไทย ที่ขณะนี้เรารับผู้ลี้ภัยหนีภัยเข้ามาชั่วคราว สถานการณ์อำนวยก็ส่งกลับ แต่ถ้าต่อไปสถานการณ์รุนแรงยิ่งขึ้นก็หมายความว่าคนเหล่นี้ต้องอยู่ในไทยเป็นระยะเวลาพอสมควร ด้วยเหตุผลเหล่านี้เราคงต้องแอคทีฟมากขึ้น


รัฐบาลบอกว่าโดยที่เรามีชายแดนติดกับเมียนมา การดำเนินนโยบายต้องมีความรอบคอบ ป่าวประกาศมากไม่ได้เพราะต้องรักษาช่องทางติดต่อ แต่ถึงบัดนี้ได้มีการดำเนินการอะไรอย่างจริงจังหรือไม่ เพราะไม่ได้มีการแสดงท่าทีอะไรออกมาเลย และเชื่อว่าหลายประเทศ อาเซียนเอง หรือสหรัฐก็อยากให้ไทยมีบทบาท


ไทยเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกับเมียนมา เรามีส่วนได้ส่วนเสียมากเหมือนตอนกัมพูชา แต่ตอนนั้นทุกคนก็ฟังเรา ให้เรามีบทบาทนำ แม้จะมีความเห็นต่างกัน เขาก็เห็นความสำคัญของไทย ครั้งนี้ก็เหมือนกัน อยากเห็นบทบาทนำของไทย เรายังสามารถแสดงบทบาทได้มากกว่านี้ แต่ที่น่าเป็นห่วงคือท่ามกลางความเงียบของท่าทีเรา บางครั้งอาจทำให้เขาตีความไปในทางที่ผิด ในความเงียบของเราเขาอาจไปตีความของเขาเองในทางที่ไม่ใช่สิ่งที่ไทยทำอยู่จริงๆ


ตอนเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจากการปราบปราบผู้ประท้วง เราบอกให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจ แต่มันขัดกับข้อเท็จจริงโดยสิ้นเชิง เข้าใจว่าเรามีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายที่ไม่โฉ่งฉ่าง แต่บางเรื่องมันต้องแสดงจุดยืนของเราโดยเฉพาะเรื่องของหลักการ อย่างการละเมิดสิทธิมนุษนชนที่เห็นกัน และเป็นเรื่องที่เราต้องคำนึงถึงประชาชนชาวเมียนมา บางครั้งการทูตก็ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ แต่บางครั้งเราก็ต้องยึดหลักการที่สำคัญทั้งหลายด้วย


ในอาเซียนตอนนี้การไม่แทรกแซงแม้จะอยู่ในกฎบัตรแต่ก็มีหลักการอื่นๆ ที่เข้ามา ไม่ว่าเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือธรรมาภิบาลทั้งหลาย จะมาอ้างเรื่องกิจการภายในอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว อาเซียนมันเปลี่ยนไปจากเดิม เรามีการรวมตัวทางเศรษฐกิจและมีชะตากรรมร่วมกัน กรณีนี้เราต้องดูในเรื่องอาเซียนว่าจากเหตุการณ์เมียนมาว่า “วิถีอาเซียน” ก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริง เราไม่ได้เข้าไปแทรกแซงเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง แต่เข้าไปแทรกแซงเพื่อแก้ไขสถานการณ์


กรณีเมียนมาก็สะท้อนถึงความไม่มีเอกภาพของอาเซียน วีถีอาเซียนก็คงต้องมีการปรับ นอกจากนี้เมื่อดูในบริบทภูมิรัฐศาสตร์มีการแข่งขันระหว่างสหรัฐ-จีน อาเซียนถูกดึงไปซ้ายขวา สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นบทพิสูจน์ว่าอาเซียนจะสามารถแสดงบทบาทของเราได้หรือไม่


ตอนนี้สิ่งที่ทุกคนพูดกันคือสมัยก่อนอาเซียนอยู่ได้และก้าวหน้ามาเพราะทุกคนมองว่าผลประโยชน์ประเทศและภูมิภาคไปในทิศทางเดียวกัน ประเทศเข้มแข็งอาเซียนก็เข้มแข็ง แต่ตอนนี้ทุกคนมองแต่ประโยชน์ของตัวเอง ซึ่งมันต้องหาจุดสมดุล ดังนั้นเรื่องเมียนมาสะท้อนถึงปัญหาของอาเซียนเองด้วย และในเรื่องเมียนมา ไทยต้องมีบทบาทสำคัญที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง