ภาพชีวิตดราม่าซูจี พลิกผันขึ้นลงแรง ถูกกักกันสู่ผู้นำ จากผู้นำสู่จำเลย
เอพี รายงานภาพชีวิตสุดพลิกผันไปมาของ นางออง ซาน ซู จี ขณะเผชิญดรามาบทใหม่ หลังจากศาลพิเศษเมียนมาตัดสินจำคุกถึง 4 ปี ในข้อหาการยุยงปลุกปั่น และการฝ่าฝืนมาตรการควบคุมโควิด-19 และยังมีอีกหลายข้อหาที่ยังไม่ได้ตัดสิน
พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อเดือน พ.ย. 2563 ซึ่ง จะทำให้ซู จีและพรรคเอ็นแอลดีกลับได้บริหารประเทศเป็นสมัยที่ 2 ติดต่อกันเป็นเวลา 5 ปี
หลังจากบ้านเมืองเพิ่งจะมีเสถียรภาพและเริ่มมีบรรยากาศประชาธิปไตยในระยะสั้นๆ นับจากที่กองทัพปกครองมานานหลายทศวรรษ กระทั่งกองทัพยึดอำนาจอีกเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 พร้อมทั้งจับกุมซู จีและคนอื่นๆ ผลักให้เมียนมาตกอยู่ในความโกลาหล หลังจาก
ชะตาชีวิตของซู จีเคยสูงสุด ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพและตกต่ำที่สุด ถูกกักบริเวณในบ้าน 15 ปีในยุคที่รัฐบาลทหารปกครอง
นายพลออง ซาน บิดา ผู้เป็นวีรบุรุษปลดแอกประเทศจากอังกฤษ ถูกสังหารในปี 2490 ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราชจากอังกฤษเพียงไม่กี่เดือน
ซู จี ใช้ชีวิตในช่วงที่จะเริ่มผู้ใหญ่ด้วยการแต่งงานกับนายไมเคิล อริส นักวิชาการมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดและมีบุตรด้วยกัน 2 คน
เธอเริ่มคลุกคลีในเส้นทางการเมืองเมื่อปี 2531 ขณะที่กลับมาดูแลแม่ที่ป่วยหนักซึ่งขณะนั้นเกิดการประท้วงใหญ่ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารของนายพลเน วิน
ซู จี ช่วยก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดี แต่หนึ่งปีให้หลัง กลับถูกกักบริเวณในบ้านพักเป็นเวลา 15 ปี จาก 22 ปีนับตั้งแต่เดินทางกลับบ้านเกิด
ชื่อเสียงขจรขจายในปี 2534 เพราะได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่ต้องใช้เวลาถึง 21 ปีกว่าจะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งได้นั่งในรัฐสภา
การชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายปี 2558 เปิดทางให้พรรคเอ็นแอลดีทรงอำนาจ แต่ตัวเธอเองถูกกีดกันด้วยกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ร่างโดยกองทัพไม่ให้เป็นประธานาธิบดี จึงตั้งตำแหน่งใหม่ “ที่ปรึกษาแห่งรัฐ” ให้ผู้นำประเทศ
เสียงชื่นชมจากนานาชาติที่ยกย่องให้เธอเป็นนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยซาลง เมื่อนางซู จี ขึ้นศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เดือน ธ.ค. 2562 เพื่อต่อสู้ข้อกล่าวหาว่ากองทัพสังหารชาวมุสลิมโรฮิงยาทางตะวันตกของรัฐยะไข่อย่างเหี้ยมโหดเมื่อปี 2560
การเลือกตั้งเดือน พ.ย. 2563 พรรคเอ็นแอลดีได้ที่นั่งมากกว่าการเลือกตั้งเมื่อ 5 ปีที่แล้ว แต่กองทัพไม่ยอมรับการเลือกตั้งและยึดอำนาจเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 จับนางซู จี ประธานาธิบดี วิน มินต์ และแกนนำพรรคเอ็นแอลดี ดำเนินคดี
มิเชล บาเชอเลต์ ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ กล่าวถึงกระบวนการดำเนินคดีต่อนางซู จี ว่าของปลอม
ฟิล โรเบิร์ตสัน รองผู้อำนวยการกลุ่มฮิวแมน ไรตส์ วอตช์ กล่าวว่า นี่เป็นแค่การเริ่มต้นของกระบวนการที่จะเล่นงานนางซู จี ไม่ให้ได้รับอิสรภาพอีก
นายแอนโธนี บลิงเคน รมว.ต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า รัฐบาลทหารพม่ายังคงไม่เคารพหลักนิติธรรม และยังคงใช้ความรุนแรงต่อประชาชนชาวพม่า สิ่งเหล่านี้เน้นย้ำถึงความเร่งด่วนที่จะต้องฟื้นฟูให้พม่ากลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย
ส่วนจีน ยังคงวางตนเป็นมิตรกับผู้นำทหารพม่า และไม่วิพากษ์วิจารณ์ใดๆ เกี่ยวกับคำพิพากษาครั้งนี้ แต่เรียกร้องให้ทุกฝ่ายร่วมกันสานต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตย