ส่องเมียนมาวันนี้ การสู้รบยังหนักหน่วง ประชาชนหลายพันอพยพเข้าอินเดีย
การประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นทั่วเมียนมาตั้งแต่กองทัพยึดอำนาจในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นางออง ซาน ซู จี ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งและสมาชิกพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี (NLD) ของเธอ หลายคนถูกควบคุมตัว ประชาชนหลายร้อยคน ซึ่งรวมทั้งเด็ก เสียชีวิต
นั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ แต่ปัจจุบัน เหตุการณ์ในเมียนมายกระดับไปเป็นการสู้รบกันระหว่างกองทัพรัฐบาลกับกองกำลังติดอาวุธต่าง ๆ ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารยึดอำนาจของกองทัพ
สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น แต่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวทางหน้าสื่อมากนัก
วันนี้ TNN WORLD พาไปติดตามสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมากัน
บ้านเรือนไฟลุกท่วม ทหารยิงประชาชน
ที่เมืองทานตะลาน (Thantlang) รัฐชิน ทางตะวันตกของเมียนมา บ้านเรือนประชาชนหลายหลังถูกกระสุนปืนใหญ่ยิงถล่มไฟลุกท่วมระหว่างการสู้รบในช่วงสุดสัปดาห์ และเชื่อว่ามีประชาชนหลายพันคนอพยพข้ามพรมแดนเข้าอินเดียในบริเวณพรมแดนที่อยู่ใกล้ที่สุด
จากการรายงานข่าวของ Reuters ระบุว่า มีบ้านเรือนประมาณ 20 หลังถูกไฟไหม้ในเมืองทานตะลาน และมีรายงานด้วยว่า บาทหลวงคริสเตียนคนหนึ่งถูกทหารยิงเสียชีวิต เมื่อเขาพยายามเข้าไปดับไฟในอาคารหลังหนึ่ง
ซาไล เหลียน โฆษกคณะกรรมการกิจการจัดหาที่อยู่ทานตะลาน ซึ่งเป็นองค์กรช่วยเหลือประชาชนผู้พลัดถิ่นไร้ที่อยู่อาศัย อ้างว่ากองทัพรัฐบาลเริ่มยิงใส่บ้านเรือนประชาชนในเมืองดังกล่าว ทำให้ประชาชนต้องอพยพออกจากพื้นที่
ส่วนชาวบ้านคนหนึ่ง กล่าวว่า ขณะนี้ ชาวบ้านหลบหนีออกจากเมืองแล้วเกือบ 100% มีเพียงเจ้าหน้าที่รัฐบาลเพียงหยิบมือ ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมในกระบวนการอารยะขัดขืน เท่านั้นที่ยังอยู่ได้ และยังมีทหารรัฐบาลอยู่ในเมืองด้วย
ชาวเมียนมาทะลักเข้าอินเดีย
ในรัฐมิโซรัม ประเทศอินเดีย หัวหน้ากลุ่มสังคมพลเรือน กล่าวกับ Reuters ว่า มีประชาชนประมาณ 5,500 คนเดินทางจากเมียนมา เข้ามาใน 2 อำเภอของรัฐมิโซรัมเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
โทมัส แอนดรูว์ส เจ้าหน้าที่ทูตพิเศษของสหประชาชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ในเมืองทานตะลาน แสดงให้เห็นว่า ประชาชนกำลังทนอยู่ในมือของกองทัพเมียนมา ไม่ต่างจากการตกนรก
ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พลเอกมิน อ่อง หล่าย ผู้นำกองทัพในการยึดอำนาจ ได้แต่งตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี และกล่าวว่า การบังคับใช้สถานการณ์ฉุกเฉินในประเทศ จะถูกขยายเวลาออกไปอีก
เสี่ยงต่อสู้ หรืออพยพย้ายประเทศ?
กองทัพบอกว่า จะจัดการเลือกตั้ง “อย่างเสรีและยุติธรรม” เมื่อสถานการณ์ฉุกเฉินสิ้นสุดลง แต่ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่
การประท้วงลุกลามไปทั่วประเทศหลังกองทัพยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์ กองทัพรัฐบาลตอบโต้ด้วยการกวาดล้างอย่างรุนแรง มีประชาชนเสียชีวิตไปมากกว่า 1,000 คน และจับกุมคุมขังอีกมากกว่า 6,000 คน จากรายงานของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners) หรือ AAPP
การสู้รบกันยังจะยืดเยื้อต่อไปอีก ตราบใดที่ยังมีกลุ่มติดอาวุธและประชาชนส่วนหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลเผด็จการ ประชาชนต้องทนทุกข์ต่อไปอีกนาน หรือไม่ก็ต้องยอมอพยพ