รีเซต

รัฐประหารเมียนมา: ทหารใช้วิธีประทุษร้ายทางเพศและซ้อมทรมาน เพื่อปราบปรามผู้ประท้วงหญิง

รัฐประหารเมียนมา: ทหารใช้วิธีประทุษร้ายทางเพศและซ้อมทรมาน เพื่อปราบปรามผู้ประท้วงหญิง
ข่าวสด
11 ธันวาคม 2564 ( 00:49 )
103
รัฐประหารเมียนมา: ทหารใช้วิธีประทุษร้ายทางเพศและซ้อมทรมาน เพื่อปราบปรามผู้ประท้วงหญิง

ข้อมูลที่ได้จากแหล่งข่าวของบีบีซีชี้ว่า มีการซ้อมทรมาน ประทุษร้ายทางเพศ และขู่ว่าจะข่มขืนกับบรรดาผู้ประท้วงหญิงชาวเมียนมา ซึ่งถูกทหารจับกุมตัวไปสอบปากคำแล้วหลายพันคน นับแต่เกิดเหตุกองทัพก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ของปีนี้

 

มีผู้หญิงที่ต่อต้านรัฐประหารอย่างน้อย 5 คนบอกกับบีบีซีว่า พวกเธอถูกทรมานและล่วงละเมิดทางเพศ หลังถูกจับกุมและนำตัวไปคุมขังในศูนย์สอบปากคำที่จัดตั้งขึ้นหลายแห่งทั่วประเทศ

 

กลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนต่างบอกว่า แม้กองทัพเมียนมาจะเคยใช้วิธีอุ้มหาย จับเป็นตัวประกัน หรือซ้อมทรมานหลายรูปแบบเพื่อปราบปรามผู้ต่อต้านมาก่อน แต่ในขณะนี้ความรุนแรงดังกล่าวเริ่มหนักข้อและแผ่ขยายไปในวงกว้างมากขึ้น

 

ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ของสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (AAPP) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนที่ไม่แสวงผลกำไร ระบุว่ามีพลเรือนเสียชีวิตจากการประท้วงต่อต้านรัฐประหารแล้ว 1,318 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิงเสียชีวิตด้วย 93 คน

 

มีผู้หญิง 8 คนเสียชีวิตขณะถูกคุมขัง ในจำนวนนี้ 4 คนถูกซ้อมทรมานจนขาดใจตาย ขณะถูกควบคุมตัวในศูนย์สอบปากคำแห่งหนึ่งของกองทัพเมียนมา ปัจจุบันยังคงมีผู้ประท้วงถูกคุมขังอยู่ทั้งสิ้นกว่า 10,200 คน ซึ่งรวมถึงผู้หญิงกว่า 2,000 คนด้วย

เอน โซเม (นามแฝง) นักรณรงค์ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยคนหนึ่งที่ถูกคุมขังอยู่นานเกือบ 6 เดือนเปิดเผยว่า ในช่วง 10 วันแรกเธอถูกนำตัวไปที่ศูนย์สอบปากคำซึ่งผู้คนรู้จักกันดีแห่งหนึ่ง และต่อมาเธออ้างว่าได้ถูกประทุษร้ายทางเพศและถูกซ้อมทรมานในสถานที่แห่งนั้น

 

โซเมบอกกับบีบีซีว่า ในช่วงเช้าวันหนึ่งขณะเธอกำลังทำป้ายข้อความประท้วงอยู่นั้น เธอถูกตำรวจบุกเข้าจับกุม โดยโดนรวบตัวเข้าไปอยู่ในด้านหลังของรถตู้

 

"ตอนที่ไปถึงศูนย์สอบปากคำก็เป็นเวลาค่ำแล้ว เจ้าหน้าที่เอาผ้าผูกปิดตาฉัน และแกล้งบอกให้เดินหลบสิ่งของที่ไม่มีอยู่ตรงนั้นจริงขณะเข้าไปในห้องสอบสวน เพื่อจะได้หัวเราะเยาะฉันเหมือนกับเป็นตัวตลก"

 

เมื่อผู้คุมถามบางคำถามกับเธอ และไม่ได้คำตอบที่น่าพึงพอใจ เขาจะใช้ไม้เรียวที่ทำจากไม้ไผ่ฟาดตีเธอ โซเมยังบอกว่าถูกย้ำถามเกี่ยวกับเรื่องกิจกรรมทางเพศส่วนตัวของเธอบ่อยครั้งมาก ผู้สอบปากคำคนหนึ่งถึงกับขู่เธอว่า" รู้ไหมเราทำอะไรกับผู้หญิงที่ต้องมาอยู่ที่นี่ ? พวกเราข่มขืนแล้วก็ฆ่าทิ้งยังไงล่ะ"

จากนั้นเธอถูกประทุษร้ายทางเพศทั้งที่ยังมีผ้าผูกปิดตาอยู่ "พวกมันดึงเสื้อตัวหลวมโคร่งของฉันลงแล้วจับเนื้อต้องตัวฉัน ทำให้ฉันอยู่ในสภาพเกือบจะต้องเปลือย"

 

ต่อมาผู้คุมนำผ้าที่ปิดตาเธอออก ขณะนั้นเธอเห็นเขาเอาลูกกระสุนออกจากปืนลูกโม่จนเกือบหมด แต่เหลือทิ้งไว้ 1 นัด เมื่อเธอไม่ยอมให้รายละเอียดเกี่ยวกับคนที่ติดต่อเกี่ยวข้องด้วยในการประท้วง ผู้คุมคนนั้นจะบังคับให้เธออ้าปาก แล้วเอาปืนที่มีกระสุนนัดเดียวนั้นยัดเข้าไป

 

ศูนย์ควบคุมตัวที่สร้างขึ้นชั่วคราว

แมนนี่ หม่อง นักวิจัยของฮิวแมนไรท์วอทช์ (HRW) บอกว่าศูนย์สอบปากคำของกองทัพเหล่านี้ "เป็นได้ทุกอย่างตั้งแต่ค่ายพักที่สร้างขึ้นบนพื้นที่ยึดครองชั่วคราว ห้องสักห้องในค่ายทหาร หรือแม้แต่อาคารที่ถูกทิ้งร้าง"

 

ข้อมูลนี้ได้รับการยืนยันจากทนายความหญิงผู้หนึ่งในเมียนมา โดยเธอบอกกับบีบีซีว่า ผู้ถูกคุมขังที่เธอดูแลอยู่หลายคน แจ้งว่าถูกซ้อมทรมานและถูกประทุษร้ายทางเพศระหว่างการสอบสวน

 

"ลูกความของฉันคนหนึ่งถูกจับไปทั้งที่ผิดตัว เมื่อพยายามอธิบายว่าไม่ใช่คนที่ทหารต้องการ เธอกลับถูกทรมานโดยใช้แท่งเหล็กกลิ้งกดทับหน้าแข้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนสลบไป ต่อมาเมื่อถูกส่งไปยังศูนย์สอบปากคำอีกแห่งหนึ่ง เธอบอกว่ามีผู้คุมเข้ามาพูดกับเธอว่า หากยอมร่วมหลับนอนด้วยแล้วเขาก็จะปล่อยตัวเธอไป"

 

ทนายความผู้นี้บอกว่าระบบกฎหมายของเมียนมานั้นคลุมเครือไม่ชัดเจน "เราพยายามจะท้าทายและหยุดยั้งการกระทำเหล่านี้ แต่ทหารจะบอกว่ามันเป็นกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และพวกผู้คุมเพียงทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น"

 

ผู้ประท้วงหญิงอีกคนหนึ่งบอกว่าถูกทรมานและประทุษร้ายทางเพศในศูนย์สอบปากคำของทหารเช่นกัน "พวกเขาบังคับให้ฉันชูสามนิ้วนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ในขณะที่ผู้คุมคนหนึ่งลูบผมฉันและคอยพูดข่มขู่ตลอดเวลา"

 

ผู้ประท้วงหญิงอีกรายหนึ่งซึ่งถูกคุมตัวไว้ที่ศูนย์สอบปากคำในเมืองชเว-ปยีตา เล่าว่า "พวกผู้คุมฉุดลากเด็กสาวหลายคนออกจากห้อง บางคนที่กลับมากระดุมเสื้อหลุดลุ่ยหรือไม่ก็ขาดหายไป"

ข่าวปลอม

ผู้สื่อข่าวของบีบีซีนำเรื่องราวของเอน โซเม ไปถามกับพลตรี ส่อมินตุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงข้อมูลข่าวสารของเมียนมา ซึ่งเขาปฏิเสธว่าไม่มีการซ้อมทรมานโดยกองทัพ และสิ่งที่บีบีซีได้รับทราบมานั้นเป็น "ข่าวปลอม"

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วงต้นปีนี้สถานีโทรทัศน์ของกองทัพได้ออกอากาศภาพผู้ต้องขังหญิงคนหนึ่ง ซึ่งใบหน้าของเธอถูกตีจนยับเยินถึงขั้นแทบจำไม่ได้ ภาพของเธอถูกส่งต่อออกไปในโลกออนไลน์อย่างกว้างขวาง แต่จนถึงขณะนี้เธอก็ยังอยู่ในเรือนจำ และโดนตั้งข้อหาเกี่ยวกับอาวุธ

เมื่อบีบีซีถามพลตรี ส่อมินตุน ว่าเหตุใดกองทัพจึงไม่พยายามปิดซ่อนร่องรอยการถูกทำร้ายของหญิงผู้นี้ คำตอบที่ได้รับก็คือมันอาจเป็นการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นขณะถูกจับกุม "พวกเขาอาจพยายามหนี แต่เราก็ต้องตามจับให้ได้"

 

ขังเดี่ยว

นักกิจกรรมทางการเมืองหญิงวัย 50 ปีผู้หนึ่ง ซึ่งใช้นามแฝงว่า "ลิน" บอกกับบีบีซีว่า เธอถูกจับขังเดี่ยวในเรือนจำอินเส่งของนครย่างกุ้งเป็นเวลากว่า 40 วัน ในนั้นไม่มีสิ่งใดเลยนอกจากเสื้อผ้าที่เธอสวมอยู่ ทั้งไม่มียาที่เธอจำเป็นต้องกินเป็นประจำด้วย ทำให้สุขภาพอ่อนแอลงเรื่อย ๆ

 

"ฉันนอนลงในความมืดและเริ่มกังวลว่าตัวเองจะต้องตาย บางทีก็ได้ยินเสียงตะโกนและเสียงร้องจากห้องข้าง ๆ ฉันได้แต่คิดว่าใครกันนะที่กำลังถูกซ้อม"

 

เธอยังจำได้ว่าวันหนึ่งมีผู้คุมชายเข้ามาในห้องขังของเธอกับผู้คุมหญิงอีกหลายคน แต่เมื่อพวกเขาจะกลับออกไป เธอสังเกตเห็นว่าผู้คุมชายได้บันทึกภาพวิดีโอของเธอไว้ด้วย เธอพยายามทักท้วงคัดค้านแต่ก็ไม่ได้ผล

 

แมนนี่ หม่อง นักวิจัยของ HRW ยังบอกว่า ผู้ต้องขังหญิงมีสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้าย บางครั้งผู้ต้องขังเกือบ 500 คน ถูกจับให้เข้าไปรวมอยู่ในห้องที่รองรับได้สูงสุดเพียง 100 คนเท่านั้น พวกเธอต้องผลัดกันนอน เพราะไม่สามารถจะเอนตัวลงพร้อมกันได้ในคราวเดียว

 

ผู้ต้องขังหญิงยังไม่ได้รับโอกาสในการรักษาสุขอนามัยง่าย ๆ ของตนเอง ซึ่งเท่ากับว่าเป็นการปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐานของพวกเธอไปโดยปริยาย

 

ผู้ประท้วงหญิงซึ่งถูกคุมขังที่ศูนย์สอบปากคำเมืองชเว-ปยีตา บอกว่า "ผู้หญิงบางคนที่เพิ่งย้ายมาจากศูนย์สอบปากคำแห่งอื่น มีบาดแผลที่ยังรักษาไม่หาย บางคนมีประจำเดือนอยู่ แต่เพิ่งได้รับอนุญาตให้อาบน้ำได้หลังผ่านไปถึง 7 วันแล้ว

 

เอน โซเม ถูกปล่อยตัวหลังได้รับการนิรโทษกรรมพร้อมผู้ถูกคุมขังคนอื่น ๆ อีก 5,000 คน เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โซเมบอกว่าการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองของเธอนั้นคุ้มค่า แม้ว่าจะต้องถูกจับกุมอีกครั้ง

 

"ฉันเข้าใจดีว่ามีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมอีกอยู่เสมอ ฉันอาจต้องตาย แต่ฉันอยากทำอะไรสักอย่างเพื่อประเทศชาติ ถึงจะรู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ฉันก็ยังต้องการเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการต่อสู้นี้ต่อไป"

ภาพประกอบโดย เดวีส์ สูรยา และ จิลลา ดาสต์มัลจี

 

..................

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง