รีเซต

รัฐประหาร โควิด วิกฤตเศรษฐกิจ กำลังทำให้คนเมียนมาเสี่ยงกับภาวะอดอยาก

รัฐประหาร โควิด วิกฤตเศรษฐกิจ กำลังทำให้คนเมียนมาเสี่ยงกับภาวะอดอยาก
ข่าวสด
1 ตุลาคม 2564 ( 11:32 )
62
รัฐประหาร โควิด วิกฤตเศรษฐกิจ กำลังทำให้คนเมียนมาเสี่ยงกับภาวะอดอยาก

คนยากจนในเมียนมากำลังเผชิญภาวะอดอยากท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ดำดิ่งลงอย่างรวดเร็วจากความไม่สงบทางการเมืองและข้อจำกัดจากโควิด โก โก อ่อง ผู้สื่อข่าวบีบีซีรายงานว่า ระบบธนาคารของประเทศกำลังใกล้เข้าสู่การล่มสลาย

"ฉันต่อคิวรับโจ๊กจากองค์กรช่วยเหลือมากว่าครึ่งชั่วโมง แต่ของหมดก่อนจะถึงคิวฉัน" หญิงสาวที่ชื่อ มะ เว เล่าทั้งน้ำตา

"ฉันต้องกลับบ้านมือเปล่า ฉันเสียใจแทนลูกสาววัย 4 ขวบของฉัน"

มะ เว อายุ 42 ปี อาศัยอยู่ในเมืองโมนยวา ทางภาคกลางของเมียนมา เธอเคยทำงานเป็นพนักงานทำความสะอาดและแม่บ้านให้ครอบครัวร่ำรวย แต่เมื่อสถานการณ์โควิดพุ่งแตะระดับสูงสุดในเดือน ก.ค. นายจ้างบอกให้เธอไม่ต้องไปทำงานตามคำสั่งของรัฐบาลที่ขอให้ประชาชนอยู่บ้าน

 

สามีของเธอซึ่งเป็นช่างทาสีก็ตกงานเพราะมาตรการควบคุมการระบาดของโควิดเช่นกัน

 

 

"เมื่อเร็ว ๆ นี้ สามีของฉันพยายามออกไปทำงาน ฉันหุงข้าวเที่ยงให้เขา มันเป็นข้าวที่เราเก็บไว้กินยามยาก" มะ เว เล่า

 

 

"แต่ทหารหยุดเขา แล้วบอกให้เขากลับบ้าน เขาเลยไม่ได้ทำงาน"

 

 

อาหารวันละมื้อ

มะ เว และสามีไม่ได้ทำงานมา 7 เดือนแล้ว และตอนนี้พวกเขาต้องพึ่งพาอาหารที่ได้รับบริจาคเพื่อเลี้ยงปากท้องลูกทั้ง 4 คน และแม่ของมะ เว ที่อาศัยอยู่ด้วยกัน

 

 

เธอเล่าว่า "บางครั้งเรากินข้าวแค่มื้อเดียว...เราไม่เคยลำบากแบบนี้มาก่อน"

 

 

ธนาคารโลกประเมินว่า เศรษฐกิจเมียนมาจะหดตัว 18% ในปีงบประมาณนี้ (ต.ค. 2020/ก.ย.2021) และอัตราความยากจนน่าจะเพิ่มเป็นสองเท่าในปี 2022

 

 

โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ระบุว่า ปัจจุบันราคาข้าวในเมียนมาพุ่งสูงขึ้นกว่า 18% และน้ำมันประกอบอาหารก็มีราคาเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา

 

 

การขัดขืนและคว่ำบาตร

เมืองโมนยวาที่ มะ เว อาศัยอยู่ถือเป็นพื้นที่สำคัญของการลุกฮือขึ้นต่อต้านการปกครองของรัฐบาลทหาร ชาวบ้านจำนวนมากในชุมชนของเธอได้เข้าร่วมประท้วงการก่อรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.

 

 

มะ เว เล่าว่า "ตอนนั้นทหารยิงปืนใส่ชุมชนของเรา ทำให้เพื่อนบ้านบางคนเสียชีวิต และบางคนได้รับบาดเจ็บจากคมกระสุน"

 

 

นับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร ข้าราชการหลายหมื่นคน ตั้งแต่ครูไปจนถึงพนักงานการรถไฟ แพทย์ และพยาบาล ต่างปฏิเสธที่จะทำงานให้รัฐบาลทหาร

 

 

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติเมียนมา (National Unity Government หรือ NUG) ซึ่งจัดตั้งโดยสมาชิกรัฐสภาที่ถูกทหารยึดอำนาจ ระบุว่า ปัจจุบันยังมีเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 410,000 คนที่ร่วมผละงานประท้วง

G

NUG ยังเรียกร้องให้ประชาชนคว่ำบาตรบริการต่าง ๆ ที่เป็นของกองทัพ ตั้งแต่ธนาคารไปจนถึงสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อตัดแหล่งรายได้หลักของทหาร

 

 

ประชาชนยังไม่ยอมจ่ายค่าไฟฟ้า เพราะพวกเขาบอกว่าเงินดังกล่าวจะตกไปอยู่ในมือของทหาร การกระทำนี้รวมถึงการคว่ำบาตรอื่น ๆ ของประชาชนได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อธุรกิจของกองทัพ

 

 

พลเอกอาวุโส โซ วิน รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดเมียนมา ยอมรับในการประชุมงบประมาณเมื่อเดือน ส.ค.ว่า รัฐบาลมีรายได้ลดลง

 

 

การต่อต้านท่ามกลางความทุกข์ยาก

ที่สำนักงานการไฟฟ้าของรัฐในเมืองคะยะ ซึ่งห่างจากนครย่างกุ้งไปทางตะวันออกราว 60 กม. มีเจ้าหน้าที่เพียง 1 คนจากทั้งหมด 43 คนมาทำงาน โดยเจ้าหน้าที่คนนี้เคยเป็นทหารมาก่อน

 

 

ส่วนเจ้าหน้าที่คนอื่นผละงานประท้วง ในจำนวนนี้ 15 คนยังคงเคลื่อนไหวประท้วงการเข้ายึดกิจการของกองทัพ แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความเดือดร้อนของตัวเอง

 

 

"ฉันไม่มีรายได้เลยตอนนี้ แต่ฉันและเพื่อนร่วมงานตัดสินใจจะไม่กลับไปทำงานให้ทหาร" ขิ่น จี ตา กล่าว

 

 

"เงินเดือนของฉันอยู่ที่ 150,000 จัต (ราว 2,800 บาท) ฉันเสียรายได้ส่วนนี้มาตั้งแต่เดือน เม.ย. กลุ่มช่วยเหลือในเมืองของเราให้ความช่วยเหลือเรื่องเงินแก่ฉัน แต่ต่อมาหัวหน้ากลุ่มต้องหลบหนีไป" เธอเล่า

 

 

สลากกินแบ่งคู่ขนานโดยรัฐบาลคู่ขนาน

ในความพยายามช่วยบรรเทาความเดือนร้อนของประชาชน NUG ได้ออกสลากกินแบ่งออนไลน์ เมื่อเดือน ส.ค. เพื่อระดมเงินช่วยเจ้าหน้าที่รัฐที่ผละงานประท้วง

 

NU

NUG ระบุว่า 70% ของผลกำไรจะนำไปมอบให้แก่ผู้ที่ผละงานประท้วง ส่วนอีก 30% จะใช้เป็นเงินรางวัล

 

นี่ทำให้ชาวเมียนมาเลิกซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาล และในชั่วโมงแรกของการเปิดขาย สลาก NUG จำนวน 250,000 ใบก็ขายหมดเกลี้ยง

 

 

รัฐบาลทหารจึงตอบโต้ด้วยการสั่งให้สลาก NUG เป็นสิ่งผิดกฎหมาย พร้อมสั่งอายัดบัญชีธนาคารหลายบัญชีของผู้ต้องสงสัยว่าซื้อสลาก NUG

 

 

ธนาคารใกล้ล่มสลาย

ระบบธนาคารของเมียนมากำลังใกล้จะล่มสลาย โดยหลังเกิดการรัฐประหาร ประชาชนต่างแห่ถอนเงินฝาก ส่งผลให้ธนาคารต้องจำกัดจำนวนเงินที่จะถอนได้

นับแต่เดือน มี.ค. ธนาคารกลางเมียนมาได้จำกัดให้ประชาชนทั่วไปถอนเงินได้สัปดาห์ละ 2 ล้านจัต และให้บริษัทส่วนใหญ่ถอนเงินได้ 20 ล้านจัต

 

 

มะ ไข่ ก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในนครยิ่งกุ้งที่ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อไปต่อคิวที่ตู้เอทีเอ็ม ด้วยความหวังที่จะถอนเงินบางส่วนออกมา

ธนาคาร KBZ ที่ห้างเมียนมาพลาซาที่เธอไป เปิดทำการเวลา 6 โมงเช้า และจะออกรหัสให้ลูกค้าจำนวนจำกัดสำหรับใช้ถอนเงิน แต่แม้คุณจะเป็นผู้โชคดีได้รหัสดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้รับประกันว่าจะยังมีเงินสดเหลืออยู่ในตู้เมื่อถึงคิวคุณ

 

มะ ไข่ เล่าถึงสถารณ์ในปัจจุบันว่า "แต่ละครั้งจะมีตู้เอทีเอ็มที่ใช้ได้แค่ 3 ตู้จาก 10 ตู้ และธนาคารจะไม่เติมเงินที่ตู้เพิ่มอีก"

 

"ถ้าคุณไม่สามารถรอได้ คุณต้องจ่ายค่านายหน้าในตลาดมืด" มะ ไข่ บอก พร้อมเล่าว่าตอนที่เธอใช้บริการดังกล่าวเมื่อเดือนก่อน เธอต้องเสียค่านายหน้า 12% เพื่อถอนเงินของตัวเอง

 

G

ไร้กฎเกณฑ์ที่ชัดเจน

ธนาคารเอกชนต่างลดยอดเงินที่ประชาชนสามารถถอนได้ลงไปอีก ยกตัวอย่างเช่น ธนาคาร CB บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิรวดี ที่อนุญาตให้ลูกค้ารายย่อยถอนเงินได้เพียง 5 แสนจัต (ราว 9,350 บาท) ต่อ 2 สัปดาห์

ทุน ทุน ผู้จัดการธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งระบุว่า "ธุรกิจขนาดเล็กได้รับความเดือดร้อนอย่างหนักจากการจำกัดการถอนเงินนี้" เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนเป็นบริษัท จึงไม่มีสิทธิถอนเงินได้เป็นจำนวนมาก

"ตอนนี้มีคนฝากเงินน้อยมาก...ในทางกลับกันเจ้าของบัญชีหลายพันรายต่างถอนเงินออกไปทุกวัน"

นอกจากนี้ การโอนเงินก็ทำได้อย่างจำกัดด้วย "เราต้องโทรหาธนาคารสาขาอื่นเพื่อตรวจสอบว่าพวกเขามีเงินสดอยู่พอสำหรับการโอนเงินหรือไม่" ทุน ทุน กล่าว

 

 

เศรษฐกิจร่วงกราวรูด

เงินจัตของเมียนมาอ่อนค่าลงกว่า 20% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ นับตั้งแต่เกิดรัฐประหารเมื่อเดือน ก.พ. ประชาชนในนครย่างกุ้งต่างระบุว่าอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าวที่ร้านรับแลกเงินอ่อนค่าลงกว่า 40%

ตอนนี้จึงทำให้ประชาชนเลือกที่จะเก็บเงินในสกุลดอลลาร์ หรือซื้อทองคำแทน ซึ่งราคาทองได้พุ่งสูงสร้างสถิติใหม่ทุกเดือนนับแต่เดือน ก.พ.

G

ลงทุนปลูกกล้วย

พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้พูดถึงความตั้งใจในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

 

หนึ่งในแนวคิดอันยิ่งใหญ่ของเขาคือการส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกล้วย โดยในการประชุมฝ่ายบริหารของสภาทหารเมื่อเดือน มิ.ย. เขาได้ส่งเสริมให้ประชาชนปลูกกล้วยหักมุกเพื่อการส่งออก

 

ก่อนหน้านี้ อดีตผู้นำทหารอย่าง พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ก็เคยพยายามทำโครงการคล้ายกัน โดยให้ปลูกต้นละหุ่ง เพื่อผลิตน้ำมันละหุ่งขาย แต่แผนการล้มเหลวในที่สุด

 

หากเทียบกับโครงการดังกล่าว ดูเหมือนว่าการปลูกกล้วยจะมีแนวโน้มเป็นไปได้มากกว่า เพราะนักลงทุนจีนได้เข้าไปลงทุนปลูกกล้วยในรัฐกะฉิ่นเป็นเวลาหลายปีแล้ว

 

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็ไม่น่าจะเลี้ยงปากท้องชาวเมียนมาหลายล้านคนที่กำลังเผชิญความอดอยากได้

G

นับตั้งแต่เดือน พ.ค. โครงการอาหารโลกแห่งสหประชาชาติ ได้จัดสรรอาหารให้คนด้อยโอกาส 800,000 คน ในย่านชานเมืองย่างกุ้ง

 

แต่โครงการฯ ระบุว่ายังต้องการเงินสนับสนุนอีกอย่างน้อย 86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2,924 ล้านบาท) เพื่อช่วยจัดสรรอาหารเป็นเวลา 6 เดือนให้ชาวเมียนมาที่กำลังอดอยากจำนวน 3.3 ล้านคน

........

ข่าว BBCไทย ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ ข่าวสด เป็นความร่วมมือของสององค์กรข่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง