รีเซต

รายงานชี้ 'มหาเศรษฐี' 5 อันดับแรกของโลก รวยเพิ่ม 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2020

รายงานชี้ 'มหาเศรษฐี' 5 อันดับแรกของโลก รวยเพิ่ม 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2020
Xinhua
16 มกราคม 2567 ( 17:49 )
58
รายงานชี้ 'มหาเศรษฐี' 5 อันดับแรกของโลก รวยเพิ่ม 2 เท่า นับตั้งแต่ปี 2020

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนพูดคุยกัน ณ ศูนย์การประชุมสำหรับการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลกปี 2024 ในเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ วันที่ 14 ม.ค. 2024)[/caption]

ดาวอส, 16 ม.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันจันทร์ (15 ม.ค.) ออกซ์แฟม (Oxfam) องค์กรการกุศลระหว่างประเทศ รายงานว่ามหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลก 5 อันดับแรก มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่านับตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมา เนื่องจากวิกฤตการณ์ทั่วโลกจำนวนมากที่ได้ขยายช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจน

ออกซ์แฟมเผยแพร่รายงานดังกล่าวขณะที่บุคคลสำคัญระดับโลก ตั้งแต่กลุ่มชนชั้นนำทางการเมืองไปจนถึงเหล่าผู้นำทางธุรกิจ รวมตัวกันเข้าร่วมการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก (WEF) ในเมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์

ออกซ์แฟมระบุว่ามหาเศรษฐีทั่วโลกร่ำรวยขึ้นกว่าปี 2020 ร้อยละ 34 พร้อมชี้ว่า "ความมั่งคั่งของพวกเขาโตเร็วกว่าอัตราเงินเฟ้อถึง 3 เท่า" สวนทางกับผู้คนราวห้าพันล้านคนทั่วโลกที่ยากจนลงตั้งแต่ปี 2020 เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทั่วโลก อาทิ การแพร่ระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) อัตราเงินเฟ้อ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และสภาพอากาศสุดขั้ว

นอกจากนี้ กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่และมั่งคั่งล้วนได้สัมผัสประสบการณ์ "เฟื่องฟูขึ้นอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" เช่นเดียวกับกลุ่มมหาเศรษฐี ซึ่งรายงานชี้ให้เห็นว่าบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก 148 แห่งมีกำไรรวม 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 63.26 ล้านล้านบาท) ช่วง 12 เดือนจนถึงมิถุนายน 2023 เพิ่มขึ้นร้อยละ 89 เมื่อเทียบกับกำไรรวมเฉลี่ยในปี 2017-2020

รายงานระบุว่าความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างซีกโลกเหนือและซีกโลกใต้ ตลอดจนระหว่างชายและหญิงเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน โดยกลุ่มประเทศในซีกโลกเหนือ ซึ่งครองสัดส่วนร้อยละ 21 ของประชากรโลก เป็นเจ้าของความมั่งคั่งร้อยละ 69 ของโลก ส่วนผู้ชายทั่วโลกมีทรัพย์สินมากกว่าผู้หญิงถึง 105 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.69 พันล้านล้านบาท)

"บริษัทขนาดใหญ่กำลังใช้อำนาจของพวกเขาในการลดค่าจ้าง หลบเลี่ยงการจ่ายส่วนแบ่งภาษีอย่างยุติธรรม และใช้อำนาจชักจูงรัฐบาลให้โอนกิจการบริการสาธารณะที่มีความจำเป็นสำหรับชีวิตอย่างการดูแลสุขภาพและการศึกษามาเป็นของเอกชน" โดยออกซ์แฟมมองว่าช่องว่างความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากอิทธิพลของกลุ่มองค์กรและการผูกขาดที่เพิ่มมากขึ้น

รายงานเผยว่าอำนาจที่ไร้การควบคุมดังกล่าวถือเป็นการเอาเปรียบและขยายช่องว่างความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ เพศ และเชื้อชาติ อีกทั้งกำลังเร่งการเกิดภูมิอากาศที่ผิดปกติ

ทั้งนี้ ออกซ์แฟมเรียกร้องให้มีโมเดลเศรษฐกิจอันคำนึงถึงมนุษย์เป็นศูนย์กลางเพื่อจัดการกับความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น พร้อมระบุว่าควรพยายามยกฐานะผู้คนให้หลุดพ้นจากความยากจนและเพิ่มความเท่าเทียมทั้งในระดับชาติและระดับโลก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง