รีเซต

เปิด 4 วิธีบริหารความเสี่ยงรับมือค่าเงินบาทผันผวน

เปิด  4 วิธีบริหารความเสี่ยงรับมือค่าเงินบาทผันผวน
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2565 ( 14:11 )
241
เปิด  4 วิธีบริหารความเสี่ยงรับมือค่าเงินบาทผันผวน

ความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเป็นเงาตามตัว  ผู้ประกอบการทั้งส่งออกและนำเข้าควรมีวิธีการรับมือกันอย่างไร

 เพื่อไม่ให้ขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน TNN Online พาไปไขคำตอบ 


การรับมือความผันผวนของค่าเงินมี 4 วิธีดังนี้


1.  ทำสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า / Forward /  คือการล็อกเรทไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่เราจะสั่งซื้อสินค้าหรือได้รับคำสั่งซื้อเข้ามา และเมื่อถึงวันที่เราต้องชำระเงิน เราก็แลกเงินตราต่างประเทศด้วยอัตราที่ตกลงกันไว้แล้วนั่นเอง


วิธีนี้จะช่วยสร้างความแน่นอนให้กับต้นทุนหรือรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าค่าเงินบาทในอีก 3 เดือน 6 เดือนข้างหน้าจะเป็นเท่าใด เพราะได้ทำสัญญาล็อกเรทไว้แล้ว แต่จุดอ่อนคือ เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนจริง ๆ ในอนาคตเกิดวิ่งไปในทิศทางที่เราชอบ เช่น เมื่อบาทอ่อนค่าลงกว่าอัตรา forward ที่ทำไว้ ผู้ส่งออกก็อาจจะรู้สึกเสียดาย เพราะไม่สามารถ เปลี่ยนแปลงสัญญาได้


2.  ทำประกันค่าเงิน / FX Options /          เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอีกประเภทหนึ่ง มีลักษณะคล้ายการทำประกันรถ ลองนึกภาพว่าถ้าเราซื้อประกันแล้วเกิดอุบัติเหตุ เราก็นำกรมธรรม์ไปเรียกชดเชยความเสียหายได้ ประกันค่าเงินก็เช่นกัน หากเกิดอุบัติเหตุกับค่าเงินในอนาคต เช่น แข็งค่าหรืออ่อนค่าไปกว่าอัตราที่เราทำไว้ เราก็ไปขอเคลมเพื่อรับส่วนต่างได้ 


แต่ถ้าไม่ได้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น เราก็ทิ้งประกันนี้ไป ซึ่งจะเห็นว่าเครื่องมือนี้ยืดหยุ่นกว่าวิธีแรก โดยสามารถเลือกว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ อย่างไรก็ดี ผู้ซื้อประกันค่าเงินก็จะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน (premium) ในการซื้อสิทธิแลกเงินในอนาคต ซึ่งต่างจาก วิธีแรกที่ไม่มีค่าใช้จ่าย


3.  ใช้บัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ / Foreign Currency Deposit: FCD /  โดยเปิดบัญชีและฝากเงินสกุลต่างประเทศไว้ในธนาคาร เช่น หากผู้ประกอบการมีรายรับเป็นเงินสกุลต่างประเทศ และไม่ต้องรีบเร่งแปลงเป็นเงินบาทก็สามารถฝากเงินไว้ที่ในบัญชี FCD นี้ก่อนได้


เมื่ออัตราแลกเปลี่ยนอยู่ในระดับที่พอใจแล้วค่อยแลกเป็นเงินบาท หรือกรณีผู้ประกอบการมีทั้งรายรับและรายจ่ายเป็นเงินสกุลเดียวกัน ก็สามารถนำเงินฝากในบัญชี FCD ที่มีอยู่ไปชำระค่าสินค้า โดยถอนเงินจากบัญชี FCD ไปจ่ายได้เลย ช่วยให้ไม่ต้องเสียส่วนต่าง (spread) ในการซื้อและขายเงินต่างประเทศหลายรอบ


4.  ทำการค้าด้วยเงินสกุลท้องถิ่น / Local Currency /  เป็นการลดทอนผลกระทบจากความผันผวนแบบง่าย ๆ โดยให้ตั้งราคาซื้อขายสินค้า (invoicing currency) กันเป็นเงินบาทหรือใช้เงินสกุลท้องถิ่นอื่น ๆ นอกเหนือจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเงินสกุลท้องถิ่นส่วนใหญ่มักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับค่าเงินบาท


ทำไมผู้ประกอบการควรบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

1. การขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนอาจส่งผลต่อความอยู่รอดของธุรกิจ โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการ SMEs มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย


2. ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเป็นความเสี่ยงที่สามารถจัดการได้


3. การบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ไม่ได้แปลว่าจะทำให้ได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน แต่หมายถึงทำให้ทราบว่าจะสามารถแลกเงินที่อัตราใด ซึ่งช่วยให้สามารถคาดการณ์รายได้และรายจ่ายได้ล่วงหน้า เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนธุรกิจและสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน  เพียงแค่นี้ก็สามารถจำกัดจุดขาดทุน เพิ่มผลกำไรได้ไม่ยากเลย



ที่มา  ธปท.

ภาพประกอบ  พิกซ่าเบย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง