เปิดเส้นทางนักวิจัยเคมีสู่เจ้าของแบรนด์ High and Seek ทรายแมวรักษ์โลก Tech on the Table EP. 11

ในยุคที่ประเทศไทยกำลังผลักดันเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) นักวิจัยไทยหลายคนพยายามแปลงองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปสู่การใช้จริงในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าทึ่งคือเรื่องราวของ ดร.กรกฤช แสงโชติ หรือ “ดร.ต่าย” นักวิจัยด้านเคมีผู้สามารถเปลี่ยนงานวิจัยเชิงวิชาการให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรมระดับสากล พร้อมสร้างแบรนด์ “High and Seek” ทรายแมวจากมันสำปะหลังเจ้าแรกของโลก ที่เติบโตจากงานวิจัยในห้องทดลอง สู่ธุรกิจที่มียอดขายแตะระดับ 20 ล้านบาทภายในเวลาไม่ถึง 5 ปี
เส้นทางของดร.ต่ายไม่ได้ราบรื่น หากแต่เต็มไปด้วยบทเรียนชีวิต จากนักศึกษาที่เกือบต้องพ้นสถานภาพเพราะเกรดเฉลี่ยต่ำและติด F หลายวิชา เขากลับเลือกเดินหน้าต่อในสายวิจัยเคมีด้วยความมุ่งมั่น
โดยกล่าวว่า “ข้อดีของการเรียนที่จุฬาฯ คือความเข้มข้น มันทำให้ผมโตขึ้นและรับผิดชอบกับชีวิตมากขึ้น” จนในที่สุดได้ทุนไปเรียนต่อระดับดุษฎีบัณฑิตที่ประเทศออสเตรีย และเริ่มต้นงานวิจัยแรกที่กลายมาเป็นจุดเริ่มของ Cellunate น้ำยาเคลือบเอกสารที่สามารถยืดอายุหนังสือและกระดาษเก่าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเขานำผลิตภัณฑ์นี้กลับมาใช้ในประเทศไทย กลับต้องพบความจริงที่ว่า "สุดท้ายทำมาแล้ว ใครใช้อ่ะอาจารย์?" ตลาดในประเทศมีขนาดเล็กกว่าที่คาด และไม่ได้มี “เจ้าของปัญหา” ที่ชัดเจนเหมือนที่เคยเจอในยุโรป จึงกลายเป็นบทเรียนสำคัญว่า "เราชอบเริ่มจากในห้องแลบ แต่ไม่เคยออกไปหาปัญหาจริง ๆ จากโลกภายนอก"
ด้วยประสบการณ์นั้นเอง เขาจึงเลือกโจทย์ที่มาจากชีวิตจริงของตนเองในฐานะ “User” นั่นคือ การใช้ทรายแมว เขาพบว่าทรายแมวในท้องตลาดล้วนแต่นำเข้าจากต่างประเทศ “Made in China, Made in Germany เต็มไปหมด” และตั้งคำถามง่าย ๆ ว่า "ทำไมไม่มีของไทย?" คำถามนี้นำไปสู่การทดลองใช้มันสำปะหลังเป็นวัสดุหลัก จนพบว่าเหมาะสมอย่างยิ่งในการพัฒนาเป็นทรายแมวที่ปลอดภัยและย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ
หลังจากเปิดตัว “High and Seek” ดร.ต่ายไม่เพียงแค่พัฒนาสินค้าให้ “ดีเทียบเท่า” แต่ยังพยายามค้นหาจุดต่างด้วยความเข้าใจผู้ใช้ เช่น เมื่อมีคนถามว่า “แมวกินทรายเข้าไปจะเป็นอะไรไหม?”
เขาตอบอย่างมั่นใจว่า “ของผมปลอดภัยครับ กินได้” และเมื่อเจ้าของร้านค้าสงสัย เขาพร้อมพิสูจน์ด้วยตัวเอง “กินให้ดูสิอาจารย์” เขาก็ตอบกลับว่า “กินก็กินครับ” ซึ่งกลายเป็นจุดขายที่โดนใจ
แบรนด์ทรายแมวจากมันสำปะหลังของเขาจึงกลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว เริ่มจากขายออนไลน์บน Facebook และ Line ก่อนจะขยายสู่ช่องทางออฟไลน์และรับจ้างผลิต (OEM) ให้กับโรงพยาบาลสัตว์และแบรนด์ใหญ่ ปัจจุบันสินค้าของเขาส่งออกไปยังหลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์และเกาหลีใต้ ภายใต้ทั้งแบรนด์ของบริษัทเองและแบรนด์ลูกค้า
นอกจากผลสำเร็จในเชิงธุรกิจ ดร.ต่ายยังได้รับรางวัลระดับชาติหลายรายการ เช่น รางวัลนักเทคโนโลยีรุ่นใหม่ รางวัล Prime Minister’s Export Award และรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ โดยกล่าวว่า “การขอรางวัลก็เป็นกลยุทธ์หนึ่งของนักวิจัย เพราะเราไม่ใช่นักการตลาด การมีรางวัลจะช่วยให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าสินค้ามีคุณค่าและมีมาตรฐาน”
แม้ธุรกิจจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เขายังคงทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ดูแลภาควิชาวิศวกรรมเคมี และยังให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้ให้กับนิสิต นักศึกษา รวมถึงนักวิจัยรุ่นใหม่ “สิ่งหนึ่งที่ผมอยากฝากไว้คือ อย่าคิดว่าสิ่งที่ทำในแลบจะมีคนต้องการแน่ ๆ นักวิจัยควรออกไปพูดคุยกับผู้ใช้จริง ฟังเขาว่าต้องการอะไรบ้าง แล้วเอากลับมาทำให้ตอบโจทย์”
ดร.ต่ายสรุปบทเรียนที่สำคัญที่สุดไว้ว่า "อย่ายึดติดกับความเป็นนักวิจัยมากเกินไปจนลืมว่าปลายทางคือผู้ใช้ เราต้องยอมรับให้ได้ว่า บางอย่างที่เราคิดว่าดี อาจไม่มีใครต้องการเลยก็ได้"
ในมุมมองของเขา ความสำเร็จไม่ใช่ปลายทางที่หยุดนิ่ง แต่คือกระบวนการของการเรียนรู้ การปรับตัว และการกล้ายอมรับคำวิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา เขากล่าวทิ้งท้ายด้วยความถ่อมตนว่า “สำหรับผม ทุกอย่างคือการเรียนรู้ ถ้ามันไม่สำเร็จ ก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราก็ได้ลอง ได้รู้ และพร้อมจะเดินต่อ”
และนั่นคือเส้นทางจากเด็กหนุ่มผู้เกือบถูกรีไทร์ สู่ผู้สร้างแบรนด์นวัตกรรมระดับนานาชาติที่ไม่เพียงพลิกชีวิตตนเอง แต่ยังพลิกภาพจำของ “นักวิจัยไทย” ให้กลายเป็นนักสร้างสรรค์ที่เชื่อมวิทยาศาสตร์เข้ากับโลกแห่งการใช้จริงอย่างแท้จริง
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
