รีเซต

“เมืองลอยน้ำ” แบบพึ่งพาตัวเอง 100% ไอเดียรับมือโลกร้อนจากญี่ปุ่น

“เมืองลอยน้ำ” แบบพึ่งพาตัวเอง 100% ไอเดียรับมือโลกร้อนจากญี่ปุ่น
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2566 ( 16:01 )
180

ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมืองในอนาคตก็จำเป็นต้องอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติใหม่ให้ได้ บริษัทสถาปนิกหน้าใหม่อย่าง เอ็นอาร์ก (N-ARK - เชื่อว่ามีที่มาจากคำว่า Noah Ark หรือเรือโนอาห์ที่กู้โลกในพระคัมภีร์) ก็ได้นำเสนอวิธีการสร้างเมืองลอยน้ำ ให้เป็นตัวอย่างเมืองยุคใหม่ในอีก 30 ปีข้างหน้า


Dogen City - “เมืองลอยน้ำ” พึ่งพาตัวเอง

เมืองโดเกน (Dogen City) คือชื่อของเมืองลอยน้ำพึ่งพาตนเองที่บริษัทนำเสนอภายใต้แนวคิดเมืองลอยน้ำด้านสาธารณสุขอัจฉริยะ (Smart healthcare floating city) ที่สามารถแปลงเป็นเมืองพึ่งพาตนเองได้อย่างสมบูรณ์เมื่อเกิดภัยพิบัติ


ตัวเมืองมีลักษณะเป็นวงกลมที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางของเขตเมืองอยู่ที่ 1.56 กิโลเมตร มีเส้นรอบวงเมืองอยู่ที่ประมาณ 5 กิโลเมตร มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนวงแหวนซึ่งเกิดจากท่อทรงกระบอกต่อกันเป็นวงกลม ท่อแต่ละอันจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางสูงสุด 50 เมตร และยาว 150 เมตร กับส่วนภายในเมืองที่เป็นสิ่งปลูกสร้างลอยน้ำต่าง ๆ รวม 14 ประเภท รองรับประชากรได้ 10,000 คน 

เขตต่าง ๆ ใน Dogen City

ด้านบนของวงแหวนเป็นทางเดินและสวนสาธารณะ ถัดลงมาใต้สวนสาธารณะจะแบ่งเป็นโครงข่ายของสาธารณูปโภคอย่างไฟฟ้าและประปาในด้านที่ติดกับกำแพงวงแหวน กับอีกส่วนหนึ่งที่หันหน้าเข้าภายในเมืองจะพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัย ด้านนอกของวงแหวนจะเป็นกำแพงครึ่งวงกลมที่เว้าเข้าไปสูง 8 เมตร สำหรับกันคลื่นสึนามิ ส่วนด้านใต้ในบริเวณที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลจะถูกสร้างเป็นศูนย์ข้อมูล (Data Center) ด้านการแพทย์


ในขณะที่ภายในเขตเมืองจะประกอบไปด้วยอาคารสิ่งอำนวยความสะดวกและบริการต่าง ๆ เช่น โรงเรียน, สนามกีฬา, ร้านอาหาร, ห้างสรรพสินค้า, โรงพยาบาล, พื้นที่การเกษตร, พื้นที่จัดงานแสดง, ตลอดจนห้องวิจัยและหน่วยรักษาความปลอดภัย ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ลอยน้ำได้ทั้งหมด ซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนสาธารณะและโรงแรมแบบลอยน้ำด้วยเช่นกัน

แผนบริหาร Dogen City

บริษัทเอ็นอาร์กต้องการพัฒนาเมืองโดเกนให้เป็นเมืองที่มีสามารถอยู่รอดได้เมื่อเกิดภัยพิบัติในทุกรูปแบบ ทั้งการผลิตอาหาร น้ำ และไฟฟ้าด้วยตัวเองอย่างครบวงจร รวมถึงเป็นศูนย์กลางการแพทย์แห่งอนาคตที่รองรับการรักษาทางไกล (Telemedicine) ร่วมกับการใช้หุ่นยนต์และโดรน พร้อมเป็นเมืองนวัตกรรมทางการแพทย์แบบครบวงจร ทั้งการเป็นฐานวิจัยด้านการแพทย์, คลังข้อมูลรหัสพันธุกรรม (DNA), พื้นที่ทดลองยา, ตลอดจนการเป็นพื้นที่พัฒนากระบวนการรักษาและผ่าตัดต่าง ๆ อีกด้วย


เมืองโดเกนคาดว่าจะมีประชากรไม่ต่ำกว่า 30,000 คน ที่เข้ามาใช้งานแต่ละวัน ซึ่งก่อให้เกิดความต้องการใช้น้ำต่อปีไม่น้อยกว่า 2 ล้านลิตร อาหารอีกปีละ 6,862 ตัน สร้างขยะกว่าปีละ 3,288 ตัน แต่ทั้งหมดจะได้รับการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อลดการพึ่งพาภายนอก พร้อมความสามารถในการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนกว่าปีละ 22,265 เมกะวัตต์ (MW) ที่เพียงพอหล่อเลี้ยงความต้องการไฟฟ้าของสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในเขตเมือง 

โดยตอนนี้โครงการเมืองลอยน้ำของบริษัท เอ็นอาร์ก นั้นเป็นเพียงแนวคิดเท่านั้น ก้าวต่อไปของบริษัทคือการผลักดันให้เกิดขึ้นจริง โดยทางบริษัทจะจัดประชุม (NEW OCEAN Consortium) เพื่อหาผู้ลงทุนจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการขับเคลื่อนความเป็นไปได้ทั้งในแง่ของการพัฒนาและข้อกฎหมายต่อไป 


อย่างไรก็ตาม แนวคิดเมืองลอยน้ำไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่ เพราะก่อนหน้านี้ก็มีหลายโครงการทั่วโลก เช่น เมืองลอยน้ำ OCEANIX Busan จากเกาหลีใต้ ออกซากอน (Oxagon) เมืองลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกของซาอุดิอาระเบีย หรือแม้แต่แพนเจียส (Pangeos) ไอเดียยานทางน้ำที่แปลงเป็นเมืองลอยน้ำซึ่งใหญ่สุดในโลกจากการออกแบบปิแอร์เปาโล ลัซซารินี (Pierpaolo Lazzarini) นักออกแบบชาวอิตาลีคนดังในปีที่ผ่านมา


ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ N-ARK

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง