รักษาเบาหวานด้วย "อัลตราซาวด์" ประสิทธิภาพสูง ไร้ผลข้างเคียงจากการใช้ยา
ปัจจุบันการรักษาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 (Diabetes mellitus type 2) ที่มีประสิทธิภาพ คือ การใช้ยาควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย ทั้งนี้ ผู้ป่วยอาจได้รับผลข้างเคียงจากยารักษาโรคเบาหวาน เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น, ท้องเสีย หรือเหนื่อยอ่อนเพลีย เป็นต้น นอกจากนี้ในผู้บางรายอาจต้องใช้ยามากกว่า 1 ชนิดจึงจะสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ ดังนั้น หากมีวิธีการที่สามารถรักษาเบาหวานโดยไม่ต้องใช้ยาได้ คงจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียว
ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัย GE ได้พัฒนาวิธีการลดระดับน้ำตาลในเลือดโดยใช้คลื่นอัลตราซาวด์กระตุ้นข่ายประสาทเฉพาะภายในตับ เรียกว่า Peripheral Focused Ultrasound Stimulation (pFUS) ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอย่างมีประสิทธิภาพ ไร้ผลข้างเคียงเช่นที่เกิดขึ้นจากการใช้ยา
ณ ตำแหน่ง Porta Hepatis คือ ตำแหน่งที่มีข่ายประสาท Hepatoportal nerve plexus ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณควบคุมระดับน้ำตาลและฮอร์โมนอินซูลินไปยังสมอง จึงเชื่อว่าหากสามารถกระตุ้นข่ายประสาทบริเวณนี้ได้ จะช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เนื่องจากข่ายประสาทในบริเวณดังกล่าวมีขนาดเล็กเกินกว่าจะสามารถควบคุมด้วยขั้วอิเล็กโทรด ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงเปลี่ยนมาใช้การกระตุ้นด้วยคลื่นเสียงแบบเฉพาะจุด pFUS
นักวิทยาศาสตร์ทดลองใช้ pFUS ในหนูและหมู พบว่าเพียง 3 นาทีหลังกระตุ้นในตำแหน่ง Portal Hepatis แล้ว น้ำตาลในเลือดของสัตว์ทดลองมีระดับลดต่ำลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพายาลดระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหากใช้ pFUS ลดระดับน้ำตาลในเลือดควบคู่กับการปรับโภชนาการและการออกกำลังกายที่เหมาะสม มีแนวโน้มว่าอาจช่วยให้ร่างกายผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หรืออาจหายขาดจากโรคเบาหวานเลยก็เป็นได้
แม้การลดระดับน้ำตาลในเลือดด้วยคลื่นอัลตราซาวด์จะให้ผลลัพธ์ที่ดี ถึงกระนั้น การดำเนินการรักษาจำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถส่งคลื่นอัลตราซาวด์ลงไปในตำแหน่งของ Portal Hepatis ได้อย่างแม่นยำเพื่อให้การลดระดับน้ำตาลมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้น นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องพัฒนาเครื่องมือที่ช่วยให้การรักษาที่ใช้งานได้ง่ายขึ้น เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้งานได้เองที่บ้าน
หลังจากการทดลองในสัตว์ประสบความสำเร็จแล้ว ในลำดับถัดไปนักวิทยาศาสตร์จะเริ่มทดลองใช้ pFUS ในการรักษาโรคเบาหวานในมนุษย์ ก่อนที่จะยื่นเรื่องต่อองค์การอาหารและยาเพื่อขออนุญาตใช้ในการรักษาภายในสถานพยาบาลได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก New Atlas