รีเซต

เมื่อพญาอินทรีย์จุดเพลิงเผาโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

เมื่อพญาอินทรีย์จุดเพลิงเผาโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร
TNN ช่อง16
26 มีนาคม 2564 ( 13:10 )
123
เมื่อพญาอินทรีย์จุดเพลิงเผาโลก โดย ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

อากาศที่หนาวเย็นในวันที่ 18-19 มีนาคม ที่ผ่านมา ณ โรงแรมกัปตันคุก เมืองแองเคอร์เรจ มลรัฐอลาสก้า เขตอาณาของสหรัฐอเมริกานอกผืนแผ่นดินใหญ่ ร้อนระอุขึ้นมาทันทีเมื่อสหรัฐฯ พญาอินทรีย์แห่งโลกตะวันตกกับจีน มังกรแห่งโลกตะวันออก เริ่มคิ๊กออฟเปิดการประชุมรอบใหม่กัน 

การประชุมของผู้แทนระดับสูงระหว่างจีนและสหรัฐฯ ถือเป็นครั้งแรกในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ซึ่งสหรัฐฯ ก็วางแผนเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ แต่ผลจะเป็นอย่างไร ผมขอรวบรวมประเด็นสำคัญมาให้อ่านกัน ...

ในแง่ของจังหวะเวลาและสถานที่ ก็ดูจะผิดเพี้ยนอยู่สักหน่อย ก่อนหน้านี้ ผมเคยประเมินไว้ว่าสหรัฐฯ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน จะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก่อนเปิดหน้าชกกับจีนยกใหม่ เพราะสหรัฐฯ น่าจะต้องใช้เวลาสักพักในการแก้ไขหลายปัญหาภายในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวิกฤติโควิด-19 ปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์ และการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ 

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ส่งสัญญาณเชิงลบและเชิงบวกเป็นระลอกปะปนกัน อาทิ การส่งเรือรบและฝูงบินไปป้วนเปี้ยนแถวไต้หวันและหมู่เกาะทะเลจีนใต้ แต่ในทางกลับกันก็ประกาศปลดล็อกกิจการด้านเทคโนโลยีของจีนบางรายออกจากรายชื่อบัญชีดำ 

ผมก็แปลกใจว่าทำไมสหรัฐฯ เลือกใช้กลยุทธ์ดังกล่าว และหยิบประเด็นที่อ่อนไหวยิ่งดังกล่าวขึ้นมากล่าวหาจีน เพราะก่อนหน้านี้โลกได้เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสหรัฐฯ มาหลายกรณี 

ตัวอย่างเช่น การส่งจดหมายข่มขู่เพื่อขับไล่คนผิวสีให้ออกนอกประเทศ การทำร้ายร่างกาย และการฆ่าคนที่มีเชื้อสายเอเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีการเสียชีวิตของจอร์จ ฟลอยด์ ซึ่งนำไปสู่การชุมนุมประท้วงครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ของสหรัฐฯ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้โจ ไบเดนชนะการเลือกตั้ง 

นอกจากนี้ การเร่งเปิดหน้าชกกับจีนในครั้งนี้โดยขาดความพร้อม จึงดูจะเร็วไปสักหน่อย เพราะปัญหาภายในที่ยังไม่ได้รับการสะสาง แถมหัวหน้าคณะสหรัฐฯ เป็นเสมือนมือใหม่หัดขับที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งไม่นาน (เมื่อเทียบกับฝ่ายจีน) จึงกลายเป็นชนักติดหลังที่สหรัฐฯ แกะไม่ออกและถูกตอกหน้าหลายซ้ำหลายซ้อน

ในแง่ของสถานที่ประชุม หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมจึงเลือกอลาสก้าที่เย็นยะเยือกในการจัดประชุม เพราะในช่วงเวลานั้น คณะผู้แทนของสหรัฐฯ และจีนอยู่ใกล้กันแค่หนึ่งชั่วโมงบิน เนื่องจากคณะผู้แทนสหรัฐฯ มีภารกิจเดินทางมาเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ 

คำตอบก็อยู่บนความสมประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมในรอบนี้ พยายามหาสถานที่ในสหรัฐฯ ที่เอื้อประโยชน์สำหรับการเดินทางแก่ทั้งสองฝ่าย โดยคณะผู้แทนของสหรัฐฯ ก็พักครึ่งทางระหว่างเดินทางกลับจากเกาหลีใต้ ขณะที่ฝ่ายจีนก็ประหยัดเวลาและไม่ต้องเดินทางไกลไปถึงแผ่นดินใหญ่ของสหรัฐฯ

เมื่อเวลาและสถานที่ลงตัว การเผชิญหน้าในครั้งนี้จึงดูจะมาเร็วกว่าที่ผมคาดคิดไว้ ทันทีที่การประชุมเริ่มต้นขึ้น แอนโทนี่ บลิงเกิ้น รัฐมนตรีต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐฯ ก็กล่าวต้อนรับสั้นๆ และตามด้วยการรัวหมัดเข้าใส่ฝ่ายจีนในทันที รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐฯ อ่านเอกสารที่เตรียมมาด้วยการกล่าวหาจีนในความไม่เป็นประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมยกเหตุการณ์และเรียกร้องให้จีนยุติการกดขี่ประชาชนในซินเจียง ทิเบต ไต้หวัน และฮ่องกง รวมทั้งยังต้องการให้จีนดำเนินมาตรการที่สอดคล้องกับระเบียบด้านการเมืองและเศรษฐกิจโลกที่กำหนดไว้

สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จตามเป้าประสงค์ในการส่งสัญญาณที่ชัดเจนยิ่งขึ้นเพื่อบอกพันธมิตรและนานาประเทศว่า “สหรัฐฯ กลับมาแล้ว” และตอกย้ำถึงประเด็นสำคัญต่อจีนผ่านสื่อที่ยังเก็บภาพและเสียงอยู่ในห้องประชุม 

ประการสำคัญ เหตุการณ์นี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เจ้าภาพตั้งใจให้ผู้สื่อข่าวเก็บภาพและเสียงไปโพนทะนาบอกชาวโลก เพราะปกติผู้สื่อข่าวจะถูกเชิญให้ออกนอกห้องเมื่อการประชุมเริ่มต้นขึ้น แต่การณ์กลับเป็นว่า ฝูงเหยี่ยวข่าวอยู่เก็บภาพและเสียงได้ยาวนานจนนำไปตัดต่อได้หลายคลิปในเวลาต่อมา

นอกจากนี้ ยังแสดงจุดยืนว่า สหรัฐฯ ต้องการรักษาสถานะตำรวจโลกอยู่ต่อไป โดยอ้างถึงระเบียบโลกที่ตนเองจัดทำขึ้น รวมทั้งจะเอาจริงกับการจัดการปัญหาที่ค้างคากับจีน

ในด้านหนึ่ง การจุดประเด็นดังกล่าวสะท้อนว่า สหรัฐฯ ต้องการปฏิบัติกับประเทศอื่นๆ บนพื้นฐานของวัฒนธรรมอเมริกันที่สื่อสารแบบตรงไปตรงมา มุ่งสู่ประเด็นเป้าหมาย และมุ่งเน้นประสิทธิภาพเป็นที่ตั้ง 

สหรัฐฯ ต้องการให้ทุกประเทศเดินตามสิ่งที่สหรัฐฯ เห็นว่าถูกต้อง ขณะที่ครูปรีชายึดมั่นในความจริง “ความจริงก็คือความจริง” แต่สหรัฐฯ ประกาศยึดถือความถูกต้อง เพียงแต่ความถูกต้องของสหรัฐฯ ก่อกำเนิดและดำเนินไปบนพื้นฐานและหลักการที่สหรัฐฯ สร้างและเห็นชอบเท่านั้น

นอกจากนี้ พฤติกรรมของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ก็ดูจะขาดมารยาททางการทูตอย่างยิ่งในการปฏิบัติกับแขกผู้มาเยือนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่อมวลชนเป็นเครื่องมือ และการขมขู่คู่เจรจาผ่านมุมมองของตนเอง แถมยังอ้างอิงข้อเจรจากับพันธมิตรในภูมิภาค ซึ่งก็อาจทำให้ประเทศพันธมิตรพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย

ในแง่ของประเด็นและท่าทีของผู้แทนสหรัฐฯ ในครั้งนี้ ก็ไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด เพราะในระยะหลัง เราได้สังเกตเห็น โจ ไบเดน แสดงจุดยืนในหลายเวทีว่า สหรัฐฯ มีมุมมองต่อจีนในฐานะภัยคุกคามอยู่เนืองๆ 

และเพียง 1 วันก่อนการประชุมระดับสูงในครั้งนี้ สหรัฐฯ โดย แอนโทนี่ บลิงเก้น และลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหม ก็แถลงข่าวร่วมกับผู้แทนของญี่ปุ่นถึงการออกมาตรการแซงชั่นเจ้าหน้าที่ของจีนแผ่นดินใหญ่และฮ่องกงเพิ่มเติมอีก 24 ราย โดยอ้างประเด็นเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชนกลุ่มน้อยในซินเจียง ด้านซีกตะวันตกของจีนภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมระหว่างญี่ปุ่นและสหรัฐฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเดินทางเยือนญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ของคณะผู้แทนสหรัฐฯ 

มาตรการแซงชั่นดังกล่าวอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือกับแคนาดา ประเทศในยุโรป และอีกหลายประเทศพันธมิตรภายหลังการเดินสายล้อบบี้อย่างต่อเนื่องก่อนหน้านี้ของ แอนโทนี่ บลิงเก้น และคณะผู้แทนด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในยุโรป และแคนาดา 

โดยในคราวนี้ บุคคลสำคัญที่ถูกแซงชั่นก็ได้แก่ หวัง เฉิน 1 ใน 25 สมาชิกโพลิตบูโร และถั่ม ยิ่ว-จง ผู้แทนฮ่องกงในคณะกรรมการถาวรของสภาฯ ที่มีส่วนร่วมในการร่างกฎหมายความมั่นคงของฮ่องกง รวมถึงเจ้าหน้าที่หน่วยงานด้านความมั่นคงของฮ่องกง อาทิ หลี ไว่-หว่า และเอดวิน่า หลัว รองผู้บัญชาการตำรวจ และหัวหน้าทีมด้านความมั่นคงของฮ่องกง

มาตรการแซงชั่นครั้งนี้ใช้หลักการคล้ายกับการลงดาบที่สหรัฐฯ เคยแซงชั่นในครั้งแรกเมื่อตุลาคม 2020 ที่ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของจีนจำนวน 10 รายเดินทางเข้าสหรัฐฯ และห้ามการดำเนินธุรกรรมกับสถาบันการเงินของสหรัฐฯ ซึ่งครอบคลุมถึงบุคคลสำคัญ อาทิ แครี่ แลม ผู้ว่าการฮ่องกง และจาง เสี่ยวหมิง รองอธิบดีสำนักงานด้านการต่างประเทศของฮ่องกงและมาเก๊า

ในครั้งนั้น จีนตอบโต้แบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” ในเดือนมกราคม ที่ผ่านมาด้วยการประกาศแซงชั่นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ จำนวนหลายรายเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไมค์ ปอมปิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสมัยประธานาธิบดีทรัมป์

ทันทีที่การเปิดแผลยกแรกจบลงด้วยคะแนนนำจากหมัดแย็บของพญาอินทรีย์ เจ้าภาพก็รีบเชิญผู้สื่อข่าวออกนอกห้องประชุมในทันที

แต่ หยาง เจียฉือ ซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสมาชิกกรมการเมือง (โพลิตบูโร) และผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมาธิการต่างประเทศแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีน ในฐานะหัวคณะฝ่ายจีน ผู้คร่ำหวอดในการเจรจา ก็กล่าวเชื้อเชิญให้ผู้สื่อข่าวให้อยู่ต่อ ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีสื่อใดอยากจะตกข่าวผลการชกในยกสอง

หยาง เจียฉือ ได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาและอธิบายเชิงตอบโต้ในแต่ละประเด็นด้วยถ้อยสำเนียงที่สุภาพ ราบเรียบ แต่หนักแน่น และเต็มไปด้วยสาระที่ดุเด็ดเผ็ดมัน พร้อมผายมือแบบกึ่งกำปั้นไปยังผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ เป็นระยะ 

ตลอด 17 นาทีของคำกล่าวมีถ้อยคำที่น่าสนใจในหลายส่วนที่ผมฟังแว่บแล้ว รู้สึกได้ทันทีว่า จีนในยุคใหม่ภายใต้การนำของสี จิ้นผิง ไม่ได้หน่อมแน้มดังเช่นหลายประเทศที่สหรัฐฯ เคยกดขี่ในอดีต และได้ปรับเปลี่ยนท่าทีและกลยุทธ์ในการสื่อสารกับจีนแบบ “ตาต่อตา ฟันต่อฟัน” มาโดยลำดับ 

หยาง เจียฉือ สามารถควบคุมอารมณ์ได้เป็นอย่างดี โดยกล่าวตอบโต้ในน้ำเสียงที่เรียบเฉย ใบหน้าที่เคร่งขรึม สามารถสะกดความโกรธายิ่งไม่ให้ออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม หรือแม้กระทั่งก่อนที่ล่ามจะเริ่มแปลเป็นภาษาอังกฤษ ท่านยังกล่าวถามล่ามแบบติดตลกว่า “คุณแปลมันได้ไหม นี่เป็นเพียงบททดสอบ ... และหากทำได้ดี กลับไปรัฐบาลจะขึ้นเงินเดือนให้”

จาง จิง ล่ามสาวตาโตที่ละม้ายคล้าย จ้าว เวย ดาราดังของจีน สามารถแปลคำกล่าวที่ยาวนานเกือบ 20 นาทีโดยเก็บรายละเอียดของสาระสำคัญพร้อมถ้อยคำที่สละสลวยได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งพอข่าวนี้กระจายออกไป เธอก็โด่งดังในโลกอินเตอร์เน็ตของจีนในชั่วข้ามคืน 

เมื่อเจ้าภาพไม่ไว้หน้าแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือน ฝ่ายจีนก็ไม่รีรอที่จะคว่ำแก้วน้ำเพื่อแสดงการตอบโต้ เพียงแต่ครั้งนี้ ผู้มาเยือนเปี่ยมด้วยประสบการณ์และซุ่มฟิตซ้อมมาดี โดยปักหลักยิงหมัดตอบโต้อย่างต่อเนื่องยาวนาน

การกล่าวถ้อยคำในแต่ละประโยคของฝ่ายจีนล้วนเต็มไปด้วยความหมายเชิงลึก และชำแหละเปิดแผลพญาอินทรีย์อย่างแสบทรวง เปรียบประดุจกระบี่อาบน้ำเกลือที่เฉือดเฉือน “หน้าตา” ของอีกฝ่ายจนเหวอะหวะ และฆ่าเชื้อสมานแผลป้องกันการติดเชื้อไปพร้อมกัน จนผมคิดว่าคณะผู้แทนสหรัฐฯ อาจจะต้องกลับไปศัลยกรรมใบหน้าใหม่หลังการประชุมในครั้งนี้

 “ผมมองพวกคุณดีเกินไป วันนี้พวกคุณก็ไม่มีสิทธิ์จะมาสั่งให้จีนทำอะไรตามอำเภอใจ และถึงแม้ย้อนเวลากลับไปในอดีต คุณก็ไม่มีสิทธิ์ ...” เพียงท่อนแรกก็ทำให้คณะผู้แทนสหรัฐฯ หน้าชาจนไร้ความรู้สึกไปตามๆ กันแล้ว

“สหรัฐฯ มีประชาธิปไตยในสไตล์ที่มีแบบอย่างเฉพาะ ขณะที่จีนก็มีประชาธิปไตยในแบบของตนเอง จีนจะสานต่อการพัฒนาในแบบของจีนที่โลกเป็นผู้ตัดสิน (ไม่ใช่สหรัฐฯ) จีนและประเทศต่างๆ ในโลกยึดถือหลักการที่เป็นสากลตามกรอบของกฎหมายระหว่างประเทศ ไม่ใช่จากตามหลักการของบางกลุ่มประเทศ ...”

“สหรัฐฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศใดๆ และโลกตะวันตกก็ไม่ได้เป็นตัวแทนของประเทศต่างๆ เช่นกัน ไม่ว่าจะดูจากจำนวนคน แนวโน้มของโลก ตะวันตกไม่ได้ถูกยอมรับเป็นตัวแทนของประเทศใดๆ พวกคุณเป็นได้แค่ตัวแทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ...” 

“สิ่งที่สหรัฐฯ ควรทำในตอนนี้ คือ การเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ของตน แต่ไม่ใช่การประชาสัมพันธ์สิ่งที่ตนเรียกว่าประชาธิปไตย ชาวอเมริกันเองไม่เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย  และมีหลายมุมมองแตกต่างกันต่อรัฐบาลสหรัฐฯ” 

ความสงบ ความมั่นคง และการพัฒนาควรเกิดขึ้นควบคู่กันไป และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ควรทิ้งทัศนะของการก่อสงครามเย็นยุคใหม่ และแนวทางแบบผู้ชนะกินรวบ หรือซีโร่ซัมเกมส์ รวมทั้งกล่าวทิ้งท้ายแก่คณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่สรุปเป็นสุภาษิตของไทยที่ว่า “ตักน้ำใส่กะโหลก ชะโงกดูเงา” เสียบ้าง

หวัง อี้ สมาชิกโพลิตบูโร และรัฐมนตรีต่างประเทศ ก็กล่าวเสริมสั้นๆ และเจ็บแสบไม่แพ้กันว่า “ในด้านของจีนไม่ว่าจะเป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคต ไม่สามารถยอมรับสิ่งที่สหรัฐฯ กล่าวหา ก้าวก่ายการเมืองของจีน และแสดงความมีอำนาจของตน นิสัยเช่นนี้ควรเปลี่ยนได้แล้ว เราได้รับเชิญมาที่นี่ และพวกคุณปฏิบัติกับแขกของคุณเช่นนี้หรือ ...”

ในมุมมองของจีน การกระทำของสหรัฐฯ ในครั้งนี้ยังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของจีน ป่วนฮ่องกง และบั่นทอนความมั่นคงและการพัฒนาของจีนอีกด้วย พฤติกรรมดังกล่าวยังมองข้ามความแตกต่างทางวัฒนธรรมของคู่เจรจาที่นิยมการพูดจาโดยอ้อม การให้ความสำคัญกับประสิทธิผลมากกว่า การระมัดระวังคำพูดที่เมื่อหลุดจากปากแล้วจะกลายเป็นนายเรา และการรักษาหน้าเป็นเรื่องใหญ่ 

ความดุเด็ดเผ็ดมันของการกล่าวโต้ตอบของจีนยังสามารถสะท้อนผ่านความวุ่นวายของคณะผู้แทนฝ่ายสหรัฐฯ ที่ส่งจดหมายน้อยกันไปมาระหว่างฟังคำแปลของล่ามสาวชาวจีน แม้กระทั่ง เจ็ค ซุลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของโจ ไบเดน ที่นั่งถัดจากแอนโทนี่ บลิงเก้น ก็ดูสับสนกับบรรยากาศในที่ประชุม

แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจบการประชุมด้วยการแลกหมัดใส่กันไปมาจนฝุ่นตลบ แต่ดูเหมือนกำปั้นเหล็กของจีนจะหนักและแม่นยำกว่า เพราะทำเอาผู้แทนสหรัฐฯ เจียนอยู่เจียนไป และซมซานกลับเข้ามุมแบบสะบักสะบอม ผลคือฝ่ายจีนมีคะแนนนำลิ่ว

จากจังหวะการใช้หมัดชุดในการตอบโต้ หยาง เจียฉือ ลากไส้สหรัฐฯ ออกมาได้อีกหลายขด โดยเปรียบเทียบหลายสิ่งระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในปัจจุบัน “จีนยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของผู้คนหลายร้อยล้านคน และกำจัดความยากจนหมดสิ้นไปจากประเทศ ขณะที่สหรัฐฯ มีคนจรจัดนับล้าน และผู้คนอีกหลายล้านที่ตกงาน ...”

“จีนควบคุมการระบาด และแก้ไขวิกฤติโควิด และขจัดโควิดจนหมดไปจากประเทศ แต่สหรัฐฯ ปล่อยให้เชื้อโควิดฆ่าอเมริกันชน สถานพยาบาลและสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานก็ล้าหลังจีน 30-40 ปี ...”

“เราก่อสร้างบ้านเรือนและที่อยู่อาศัยให้ชาวจีนเป็นเจ้าของในราคาที่สามารถจับต้องได้ ขณะที่สหรัฐฯ สร้างบ้านเหมือนกัน แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ทำให้คนอเมริกันถูกยึดบ้านมากกว่ามีปัญญาซื้อบ้าน จีนไม่มีคนจรจัดนอนอยู่ข้างถนน ขณะที่สหรัฐฯ มีคนจรจัดอยู่ในทุกส่วนของประเทศ ...”

“คนจีนมีอาหารที่ดีและพอเพียง ขณะที่สหรัฐฯ มีอาหาร แต่คนไม่มีปัญญาซื้อ ต้องรับบริจาคหรือใช้สวัสดิการของรัฐ จีนไม่มีปัญหาอาชญากรรม แต่สหรัฐฯ กลับมีอัตราการกระทำผิดกฎหมายสูงที่สุดในโลก ส่งผลให้ตำรวจมีงานล้นมือ ...”

นอกจากนี้ ยังลากยาวไปถึงความแตกต่างของระบบประกันสุขภาพและสุขอนามัย ความสามัคคีของคนในชาติ ความป่าเถื่อนของทหารอเมริกัน รวมทั้งปัญหาสงครามอิรักที่กองทัพสหรัฐฯ ฆ่าคนท้องถิ่นโดยไม่มีการชดเชยใดๆ

หลังจากนั้น บรรยากาศในที่ประชุมก็เป็นการตอบโต้กลับไปมาของทั้งสองฝ่ายอย่าง “ถึงพริกถึงขิง” แม้ว่าในตอนท้ายสุดของการประชุมในครั้งนี้ จีนและสหรัฐฯ ได้พยายามหันมาเจรจาพัฒนาความร่วมมือเพื่อความผาสุกของมวลมนุษยชาติ อาทิ เรื่องการจัดการกับปัญหาโลกร้อน และอื่นๆ 

จึงไม่น่าประหลาดใจที่ภายหลังการประชุม ทั้งสองฝ่ายไม่มีแถลงการณ์ร่วมถึงสาระสำคัญของผลการประชุมดังเช่นที่เคยมีมา เพราะประเด็นความร่วมมือดังกล่าวดูจะไม่สลักสำคัญอะไรเลยเมื่อเทียบกับการเปิดหน้าชกกันของคณะผู้แทนทั้งสองฝ่าย จนผู้สื่อข่าวต่างถูมือเพราะได้ “ปลามัน” ชิ้นใหญ่ไปขายเรียบร้อย และนำไปสู่ควันหลงในหลายวันต่อมา

มาถึงวันนี้ ดูเหมือนพญาอินทรีย์ ภายใต้การนำของโจ ไบเดน อาจประสบความสำเร็จในการดึงความร่วมมือจากชาติพันธมิตรในการสร้างภาพให้จีนกลายเป็นศัตรูใหม่ของโลก และจุดเพลิงแห่งความขัดแย้งระหว่างประเทศครั้งใหม่ให้เกิดขึ้นอีกครั้ง รวมทั้งสามารถดึงฐานเสียง “คนคลั่งชาติ” จากขั้วเดิมได้บางส่วน

ความสำเร็จดังกล่าวยังอาจถือเป็นความสำเร็จของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้วางเหยื่อล่อไว้ในช่วงสองปีสุดท้ายของการดำรงตำแหน่งเช่นกัน 

ในทางกลับกัน มังกรที่เปี่ยมด้วยพลังก็ตอบโต้พญาอินทรีย์ได้อย่างสมเหตุสมผล ก็เหลือว่าใครจะราดรดน้ำมันและสุมกองไฟกันต่อมากน้อยขนาดไหน 

ยิ่งเข้าใกล้วันปีใหม่ไทย ดูเหมือนอุณหภูมิโลกจะร้อนขึ้นทุกขณะ คราวหน้าผมจะมาเล่าต่อว่า ผลจากการประกาศแซงชั่นของสหรัฐฯ และการประชุมในครั้งนี้ นำไปสู่การตอบโต้ระหว่างกันอย่างทันควันอีกหลายระลอกอย่างไร ...

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง