TPCHเดินหน้าCOD ปั๊มกำลังผลิต250เมก
ทันหุ้น - TPCH จ่อ COD โรงไฟฟ้าขยะ "สยาม พาวเวอร์" ภายในไตรมาส 4/2564 หนุนกำลังผลิตไฟฟ้าสิ้นปีนี้เเตะ 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์ คาดปี 2565 สามารถ COD โรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลาน-บันนังสตา ช่วงไตรมาสที่ 2/2565 หนุนกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 250 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566
นายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH เปิดเผยว่า ในช่วงสิ้นปี 2564 คาดว่ากำลังผลิตไฟฟ้าจะเพิ่มเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์
ซึ่งจะมาจากโครงการโรงไฟฟ้าขยะ "สยาม พาวเวอร์" ขนาดกำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์แล้ว ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของบริษัท ปัจจุบันได้เริ่มทดสอบระบบจ่ายไฟฟ้า เตรียมความพร้อม COD ภายในไตรมาส 4/2564 ตามกำหนด
***COD ชีวมวล ปี 65
ด้านความคืบหน้าการก่อสร้างโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ปัจจุบันความคืบหน้าของการก่อสร้าง อยู่ที่ประมาณ 60% และคาดว่าจะสามารถ COD ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2/2565 ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ COD ไปแล้ว จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2
แบ่งออกเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวลปัจจุบันมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 115 เมกะวัตต์ โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 200 เมกะวัตต์ ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า จากการเข้าไปลงทุนโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม รวมถึงการเปิดประมูลจากภาครัฐ ขณะที่โรงไฟฟ้าขยะบริษัทมีกำลังการผลิตรวมณปัจจุบัน 10 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 50 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันยังมีโรงไฟฟ้าขยะอยู่อีกจำนวน 5 โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงาน
***ลุยโรงไฟฟ้าขยะเพิ่ม
ทั้งนี้บริษัทจะเดินหน้าศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของแต่ละโครงการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนระยะยาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565 เพื่อผลักดันให้กำลังผลิตอยู่ในระดับที่ 250 เมกะวัตต์ ภายในปี 2566
ขณะที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย)
** ได้ผลตอบแทนเพิ่ม
และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี จะส่งผลให้บริษัทได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์
อย่างไรก็ตาม อัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงจะได้ข้อสรุปอีกครั้ง
สำหรับผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนปี 2564 รายได้รวมแตะ 1,870.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.3% จากงวดเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิอยู่ที่ 147.62 ล้านบาท