รีเซต

20% ของวัยกลางคน เป็น “โรคนอนไม่หลับ” นอนน้อยเสี่ยงโรคระบบหัวใจ!

20% ของวัยกลางคน เป็น “โรคนอนไม่หลับ” นอนน้อยเสี่ยงโรคระบบหัวใจ!
TNN Health
29 ตุลาคม 2564 ( 16:48 )
93

การนอนสำคัญต่อสุขภาพ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายจะได้เยียวยาตัวเองและเพิ่มพลังชีวิต แต่ทุกวันนี้การนอนกลายเป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนสมัยใหม่ ทั้งนอนน้อยลง นอนไม่หลับ นอนยาก และนอนไม่ดี จนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต เกิดโรคและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ตามมา

 

คนไทยส่วนใหญ่มีปัญหานอนไม่พอ โดยเฉพาะคนวัยทำงานในเมืองที่มักตื่นเช้า นอนดึก จากข้อมูลวิจัยพบว่าการนอนน้อยกว่า 5.5 ชั่วโมง หรือมากกว่า 9 ชั่วโมง จะเพิ่มโอกาสการเสียชีวิต การนอนน้อยจะทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจ หลอดเลือด ทำให้ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกินไปจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้


รศ.พญ.นฤชา จิรกาลวสาน แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน โรคนอนไม่หลับเป็นปัญหาการนอนที่พบมากที่สุด คิดเป็น 10-20% ของประชากรทั่วโลก โดยพบในผู้สูงอายุถึง 20% นอกจากนี้ ยังมีโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการนอน เช่น ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โรคการขยับผิดปกติ นอนกัดฟัน ขากระตุก โรคขาอยู่ไม่สุข โรคง่วงนอนกลางวันผิดปกติ โรคพฤติกรรมผิดปกติขณะนอนหลับ เช่น ละเมอเดิน ละเมอพูด โรคนาฬิกาการนอนผิดปกติ ซึ่งพบได้บ่อยในคนที่นอนดึกตื่นสาย


ปัจจุบันการรักษาโรคนอนไม่หลับที่พบถึง 20 % ในประชากรวัยกลางคน ผู้หญิงมีอาการนี้มากกว่าผู้ชาย การรักษาหลักๆ แบ่งได้ 2 แบบ คือ ปรับความคิดและพฤติกรรม และรักษาโดยการใช้ยา ซึ่งศูนย์นิทราเวชจะเน้นการรักษา โดยการปรับความคิดและพฤติกรรมก่อน เช่น ปรับการเข้านอน การตื่นให้เป็นเวลา หลีกเลี่ยงแสงใกล้เวลานอน ไม่ทำกิจกรรมตื่นเต้นตกใจใกล้เวลานอน ซึ่งพฤติกรรมที่ควรเลี่ยงและลด คือ การใช้โทรศัพท์โซเชียลมีเดียใกล้เวลานอน ซึ่งจะกระตุ้นให้ตื่นเต้น การมีแสงเข้าตาจะลดการหลั่งสารเมลาโทนิน ทำให้หลับยาก


ส่วนแนวทางการรักษาปัญหาการนอน ในโรคภาวะหยุดหายใจขณะหลับอันเกิดจากการอุดกั้น พญ.บุษราคัม ชัยทัศนีย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า การรักษาหลักจะใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวก เพื่อถ่างทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ใส่เฉพาะเวลานอน นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ทางทันตกรรมที่ใส่ฟัน เลื่อนกรามล่างมาด้านหน้าเพื่อเปิดกรามให้กว้างขึ้น ช่วยให้ทางเดินหายใจให้กว้างขึ้น ส่วนในรายที่เป็นไม่มากแนะนำให้เปลี่ยนท่านอน ปรับพฤติกรรมการนอนหรือใช้อุปกรณ์ช่วยให้นอนตะแคงได้ก็จะดีขึ้น


การนอนหลับให้เพียงพอสำคัญต่อคนทุกช่วงวัย เด็กเล็กระดับอนุบาลควรนอน 10–13 ชั่วโมง เด็กวัยประถม 9 – 10 ชั่วโมง วัยรุ่นระดับมัธยม 8-10 ชั่วโมง วัยทำงาน 7-9 ชั่วโมง ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป นอนน้อยลง 7 – 8 ชั่วโมง

 

—————

ที่มา: ศูนย์นิทราเวช โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง