รีเซต

รัฐประหารเมียนมา: เฟซบุ๊ก-ไอจี ถูกสั่งปิด ประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลทหาร

รัฐประหารเมียนมา: เฟซบุ๊ก-ไอจี ถูกสั่งปิด ประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลทหาร
ข่าวสด
4 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:22 )
68
รัฐประหารเมียนมา: เฟซบุ๊ก-ไอจี ถูกสั่งปิด ประชาชนเริ่มเคลื่อนไหวต้านรัฐบาลทหาร

ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในเมียนมาจำกัดการเข้าถึงเฟซบุ๊ก อินสตาแกรมและแอปพลิเคชั่นสนทนาตามคำสั่งของคณะรัฐประหาร ทำให้ชาวเมียนมาสื่อสารกันได้ยากลำบากมากขึ้น ขณะที่วันนี้ (4 ก.พ. ชาวเมียนมาบางส่วนนัดทำกิจกรรมอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการบริหารประเทศจากพรรคเอ็นแอลดีของนางออง ซาน ซู จี เมื่อวันที่ 1 ก.พ.

 

กระทรวงคมนาคมและการสื่อสารมีคำสั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือและผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตปิดการเข้าถึงเฟซบุ๊กจนถึงวันที่ 7 ก.พ. โดยอ้างเหตุว่าโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่เป็นเครื่องมือแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องและมีเนื้อหายั่วยุ

 

 

กลุ่ม "เน็ตบล็อกส์" ซึ่งมอนิเตอร์การลิดรอนการใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกระบุด้วยว่า ผู้ให้บริการในเมียนมายังปิดกั้นการเข้าถึงอินสตาแกรมและแอปพลิเคชั่นวอทส์แอป ซึ่งมีเฟซบุ๊กเป็นเจ้าของอีกด้วย

"ผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊กถูกจำกัดการใช้งานในผู้ให้บริการหลายรายในเมียนมา เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของทางการ" กลุ่มดังกล่าวระบุบนทวิตเตอร์

 

คำสั่งปิดเฟซบุ๊กมีขึ้นหลังจากในช่วงสองวันที่ผ่านมาหลังการรัฐประหารเมื่อ 1 ก.พ. เมื่อคืนวานนี้ประชาชนบางส่วนในนครย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าและเมืองที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมาพากันบีบแตรบนท้องถนนและตีภาชนะอย่างเช่น หม้อ กะละมัง กาต้มน้ำ ปี๊บ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ขับไล่รัฐบาลทหาร ตามความเชื่อดั้งเดิม ชาวเมียนมาจะใช้วิธีตีภาชนะให้เกิดเสียงดังเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ภาพเหล่านี้ถูกส่งต่อแพร่หลายบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊ก

 
EPA
หญิงเมียนมาในนครย่างกุ้งตีกะละมังประท้วงรัฐประหาร

 

โซเชียลมีเดียยังเป็นช่องทางแสดงออกถึงต่อต้านรัฐประหารของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลในเมียนมาทั่วประเทศ พวกเขาชี้ว่าการก่อการยึดอำนาจของกองทัพเป็นการเห็นแก่ผลประโยชน์ของตัวเองเหนือความทุกข์ยากของประชาชนจากโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งคร่าชีวิตชาวเมียนมาไปแล้วกว่า 3,100 คน

 

เฟซบุ๊กนับว่าเป็นโซเชียลมีเดียที่ได้รับความนิยมอย่างมากในเมียนมา กว่าครึ่งของชาวเมียนมา 53 ล้านคนใช้เฟซบุ๊กเป็นหลัก กระทรวงต่าง ๆ ของรัฐบาลเมียนมาเองก็ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางหลักในการออกแถลงการณ์ต่าง ๆ

 

"กลุ่มคนที่สร้างปัญหาให้กับความมั่นคงของประเทศ ใช้เฟซบุ๊กในการแพร่ข่าวลวง ข้อมูลผิด ๆ และสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน" จดหมายของกระทรวงคมนาคมและการสื่อสารเมียนมาระบุ

 

วันนี้นักเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเมียนมานัดจัด "อารยะขัดขืน" เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร ซึ่งนับเป็นครั้งแรกหลังเหตุรัฐประหาร ที่มีการนัดหมายทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลและหน่วยงานด้านสาธารณสุข 70 แห่งใน 30 เมืองทั่วประเทศนัดหยุดงาน

 

บีบีซีแผนกภาษาพม่ารายงานว่า กองทัพเริ่มทยอยปล่อยตัวนักการเมืองพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) บางคนแล้ว แต่ยังไม่ปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ซึ่งยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ภายในบ้านพักในกรุงเนปิดอว์

 

ในประเทศไทยมีการส่งภาพโปสเตอร์ชักชวนไปรวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมาในกรุงเทพฯซึ่งตั้งอยู่ที่ ถ.สาทร ในช่วงค่ำวันนี้เพื่อทำกิจกรรม "ส่องไฟต้านรัฐประหารพม่า"

 

การรวมตัวในวันนี้จะเป็นครั้งแรกหลังการชุมนุมต้านรัฐประหารเมียนมาที่หน้าสถานทูตซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้พลุควันเข้าสลายการชุมนุม ทำให้เกิดการปะทะกันเล็กน้อยระหว่างผู้ชุมนุมที่เป็นคนไทยกับเจ้าหน้าที่

 

รวมภาพตีภาชนะต้านรัฐประหารในนครย่างกุ้ง

Reuters
ชาวเมียนมาเชื่อว่าการตีภาชนะให้เกิดเสียงดังจะช่วยขับไล่วิญญาณชั่วร้าย
Reuters
Reuters
ผู้คนในนครย่างกุ้งประท้วงรัฐประหารด้วยการออกมาตีภาชนะที่ระเบียงห้องพักเมื่อคืนนี้ (3 ก.พ.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง