"โรคซึมเศร้า" สมัยก่อนมีหรือไม่ คนยุคนั้นผ่านมาได้อย่างไร?

บ่อยครั้งที่หมอเห็นคำถามประมาณว่า "โรคซึมเศร้าเป็นโรคของยุคปัจจุบันหรือเปล่า?" "สมัยก่อนคนไม่เห็นจะเป็นโรคนี้เลย" วันนี้เราจะมาย้อนดูว่าในอดีตนั้น มีโรคซึมเศร้าหรือไม่ และผู้คนจัดการกับภาวะซึมเศร้าอย่างไร?
โรคซึมเศร้าเป็นโรคเกิดใหม่ หรือมีมานานแล้ว?
โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder : MDD) ไม่ใช่โรคใหม่หรือเพิ่งเกิดขึ้น โรคนี้มีหลักฐานว่ามีมานานตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ นักปราชญ์อย่างฮิปโปเครติส (Hippocrates) เคยบรรยายถึงภาวะ "Melancholia" ซึ่งมีลักษณะคล้ายโรคซึมเศร้าในปัจจุบัน หรือในพุทธประวัติก็มีภาวะที่เราได้ยินกันบ่อยๆว่า "ตรอมใจ"
โรคซึมเศร้า ไม่ใช่โรคที่เกิดใหม่ เพียงแต่คำว่า "โรคซึมเศร้า" นั้น เพิ่งจะถูกบัญญัติกันในช่วงหลัง พูดง่ายๆก็คือ โรคมันก็มีของมันมานาน แต่มนุษย์เพิ่งจะรู้จักและมาตั้งชื่อให้มัน โดยเริ่มจากยุค 1900s คำว่า “Depression” เริ่มถูกใช้ในทางการแพทย์เป็นครั้งแรก และในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา โรคซึมเศร้าถูกศึกษาและเข้าใจในเชิงชีววิทยาและจิตวิทยามากขึ้นเรื่อยๆ
โดยเฉพาะในยุค 1970s-1980s สมาคมจิตแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ได้คลอด *คู่มือวินิจฉัยโรคจิตเวช*อย่าง DSM-III (1980) ซึ่งเป็นคู่มือฉบับแรกที่มีการกำหนดเกณฑ์วินิจฉัยโรคซึมเศร้าแบบเป็นระบบ
และศัพท์คำนี้ก็ค่อยๆขยายฐานที่มั่น จนแผ่ขยายจนเป็นที่ยอมรับในทุกวันนี้นั่นเอง
คนสมัยก่อนจัดการกับภาวะซึมเศร้าอย่างไร?
แม้จะไม่มีแนวทางรักษาเหมือนปัจจุบัน แต่คนสมัยก่อนก็มี วิธีรับมือที่ช่วยให้พวกเขาผ่านภาวะซึมเศร้าได้ในแบบของพวกเขาเอง แถมในอดีต สังคมเศรษฐกิจก็มีความซับซ็อนต่างจากปัจจุับันมากพอสมควร
1. ในอดีตชีวิตคนเรามีโครงสร้างชัดเจน : คนสมัยก่อนมีรูปแบบชีวิตประจำวันที่แน่นอน เช่น การทำงานบ้าน ทำไร่ทำนา หรือกิจกรรมทางศาสนา กิจวัตรที่ชัดเจนช่วยให้จิตใจมีจุดยึดเหนี่ยว ลดอาการฟุ้งซ่านที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า
2. การพึ่งพาชุมชนและครอบครัว : สังคมสมัยก่อนไม่ได้หมกมุ่นกับความเป็นปัจเจกเท่าปัจจุบัน
ครอบครัวและเพื่อนบ้านมีบทบาทสำคัญในการเป็นแหล่งสนับสนุนทางอารมณ์ คนที่มีภาวะซึมเศร้ามักจะยังคงได้รับการยอมรับและดูแลผ่านสายสัมพันธ์ทางสังคม
3. ความเชื่อทางศาสนา : ศาสนาและพิธีกรรมมีบทบาทในการช่วยให้คนที่ทุกข์ใจมีที่พึ่งทางจิตวิญญาณ
หลายคนเชื่อว่าความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และมีแนวทางการรับมือ เช่น การสวดมนต์ ทำบุญ หรือสมาธิ
4. การออกกำลังกายและทำงานกลางแจ้ง : คนสมัยก่อนใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กลางแจ้งและเคลื่อนไหวร่างกายตลอดเวลา
การออกกำลังกายและการได้รับแสงแดดมีผลต่อระดับเซโรโทนินในสมอง ซึ่งช่วยลดภาวะซึมเศร้าได้
5. ไม่มีโซเชียลมีเดียหรือแรงกดดันจากโลกออนไลน์ : การเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นทางโซเชียลมีเดียเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เพิ่มความเครียดและซึมเศร้าในปัจจุบัน
คนสมัยก่อนอาจเผชิญปัญหาชีวิตที่หนักหน่วง แต่พวกเขาไม่ได้รับข้อมูลจำนวนมากที่สร้างความกังวลเพิ่มเติม