รีเซต

ย้อนรอย รถไฟฟ้าสายสีแดง ทำไมล่าช้า?

ย้อนรอย รถไฟฟ้าสายสีแดง ทำไมล่าช้า?
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2563 ( 12:25 )
229
ย้อนรอย รถไฟฟ้าสายสีแดง ทำไมล่าช้า?

        โครงการรถไฟฟ้าในกรุงเทพและปริมณฑล เป็นรูปเป็นร่างให้ได้เห็นกันหลายเส้นทางแล้ว  บางสายก็ได้เริ่มเปิดให้ทดลองใช้ไปบ้าง และมีบางสายที่ยังติดขัดอยู่ในบางขั้นตอน  อย่างรถไฟฟ้าสายสีแดง ที่แม้ว่างานด้านโยธาจะแล้วเสร็จเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่สามารถเปิดทดลองใช้ได้ 

        ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะนำ “รถไฟชานเมืองสายสีแดง” ช่วงตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต ที่สร้างใกล้เสร็จและส่วนต่อขยายใหม่ให้เอกชนร่วมลงทุน PPP รับสัมปทานก่อสร้างและเดินรถแทนการให้บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) จนส่งผลกระทบต่อไทม์ไลน์การเปิดบริการสายสีแดงช่าวง “ตลิ่งชัน-บางซื่อ-รังสิต”  ที่ร.ฟ.ท.ลงเม็ดเงินก่อสร้างไป 5 ครั้ง กว่า 1 แสนล้านบาท เลื่อนจากเดือนม.ค. 2564 เป็นภายในปี 2565-2566  ซึ่งก็ทำให้หลายคนสงสัยว่า ทำไมต้องทเวลาการเปิดให้บริการออกไปอีก ทั้งที่งานก่อสร้างคืบหน้ากว่า 80% อีกทั้งยังได้มีการนำขบวนรถมาวิ่งทดสอบไปแล้ว ก็น่าใกล้เคียงความจริง ตามแผนที่จะเปิดได้ภายในปี 2564 


cr:https://www.facebook.com/ThaiRailNews/posts/2039236129491702/

ล่าช้าเพราะอะไร? 

        สาเหตุที่ก่อนหน้านี้รถไฟฟ้าสายสีแดงไม่สามารถเปิดตามกำหนดเดิม ก็เนื่องมาจากผู้รับจ้างสัญญา 3 งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน มีกิจการร่วมค้า MHSC เป็นผู้รับจ้างขอขยายเวลาเพิ่มเป็น 1,122 วัน โดยสาเหตุที่เอกชนขอขยายเวลา มาจากหลายสาเหตุ เช่น ส่งมอบพื้นที่ล่าช้าจากการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคจนทำให้การส่งมอบพื้นที่ทำไม่ทัน  

"ศักดิ์สยาม"เคาะให้เปิดทดลองวิ่ง เดือนมี.ค.64

        ล่าสุด ความคืบหน้าโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิตและบางซื่อ-ตลิ่งชัน ในส่วนของค่างานก่อสร้างเพิ่มเติม (VO) ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อยู่ระหว่างดำเนินการหารือทั้งกระทรวงการคลังและสำนักอัยการสูงสุด เพื่อดำเนินการตามระเบียบกฎหมาย  ซึ่งนายศักดิ์สยาม เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อแผนการเปิดทดสอบเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงที่จะให้ประชาชนได้ทดลองใช้ฟรี 3 เดือน (มีนาคม-พฤษภาคม 2564) ในช่วงเดือนมีนาคม 2564  ก่อนที่เปิดเดินรถเชิงพาณิชย์ภายในเดือนพฤศจิกายน 2564  ขณะเดียวกันคาดว่าจะเปิดให้บริการสถานีกลางบางซื่อก่อนเปิดเดินทดสอบเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดงไม่เกินเดือนมีนาคม 2564


เปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP)        

        รูปแบบการเดินรถใหม่ เป็นการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) เนื่องจากในปีนี้มีสถานการณ์เชื้อไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด รัฐบาลนำงบประมาณไปใช้ในการแก้ปัญหา ป้องกัน เยียวยา และฟื้นสถานการณ์เป็นจำนวนมาก แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ห้ามก่อหนี้หนี้สาธารณะเกิน 60% ต่อจีดีดีพี ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ 58%  ซึ่งหากจะเดินหน้าโครงการได้ ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ด PPP) ที่มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ดำเนินการและเสนอเข้าที่ประชุมคณะ กรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานพิจารณาอนุมัติ

ค่าก่อสร้างเพิ่มอีก 10,345 ล้านบาท

        ค่าก่อสร้างเพิ่มเติม(Variation Order : VO) ที่ร.ฟ.ท.จะต้องขออนุมัติกรอบวงเงินเพิ่มจาก ครม.อีก 10,345 ล้านบาท จากการที่มีเนื้องานก่อสร้างเพิ่มเติมและผู้รับเหมาขอขยายเวลา ซึ่งให้ร.ฟ.ท.ไปตรวจสอบรายละเอียดวงเงินที่เพิ่มขึ้น และแหล่งเงินที่จะขอใช้ ซึ่งรถไฟฟ้าสายสีแดงใช้เงินกู้จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (ไจก้า) ไม่สามารถนำงบประมาณปกติมาใช้ได้ดังนั้นจึงให้รวมเงินก้อนนี้เข้าไปใน PPP ด้วย


cr:https://www.facebook.com/ThaiRailNews/posts/2039236129491702/
โครงการช่วงไหนพร้อมก็จะเปิดเดินรถก่อน 

        รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระบุว่า แม้ขบวนรถไฟจะทยอยรับมอบแล้ว แต่หากช่วงไหนที่มีความพร้อมก็จะเปิดให้เดินรถก่อน ซึ่งการเปิดให้บริการต้องอยู่บนพื้นฐานที่ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยและความสะดวกมากที่สุด 

ได้ผู้รับแล้วเหมาบริหารงานเดินรถ
        ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.  เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติการจัดทำบันทึกข้อตกลงเพิ่มเติมแนบท้ายสัญญา จ้างบริหารการเดินรถไฟฟ้าระบบขนส่งทางรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์  ให้กับบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท.จำกัด (รฟฟท.) เป็นผู้เดินรถโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน  โดยให้เตรียมบุคลากรในด้านนี้ และยังได้อนุมัติกรอบวงเงินให้ 61 ล้านบาท สำหรับดำเนินการในช่วงเดือน พ.ย. 2563 – ต.ค. 2564 เป็นระยะเวลา 11 เดือน โดยจะมีการรับพนักงานชั่วคราวเข้ามาฝึกอบรมเพื่อเตรียมเดินรถสายสีแดง สำหรับอัตราพนักงานชั่วคราวคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 คน
        ส่วนการเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ในการบริหารรถไฟสายสีแดงนั้น จะเป็นแนวทางคู่ขนานที่ต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่ง ร.ฟ.ท. เตรียมจ้างบริษัทที่ปรึกษา เข้ามาดำเนินการศึกษา และต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปิดเดินรถไปก่อนด้วย 


cr:https://www.facebook.com/ThaiRailNews/posts/2039236129491702/
        หากนึกภาพไปถึงอนาคตว่าบ้านเรามีรถไฟฟ้าหลายๆสายแล้วเสร็จ และเชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายก็คงจะช่วยให้การเดินทางนั้นง่ายขึ้น แต่จะดียิ่งขึ้นหากการคิดค่าโดยสาร ไม่เป็นการผลักภาระให้กับประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการขั้นสุดท้ายของระบบขนส่งมวลชนนี้


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง