"ทวิตเตอร์" คิดค่าธรรมเนียมบัญชีผู้ใช้งานที่มี "บลูมาร์ก" 7.99 ดอลล์/เดือน
"ทวิตเตอร์" (Twitter) แพลตฟอร์มสื่อออนไลน์ชื่อดัง ยืนยันจะเรียกเก็บเงินจากบัญชีผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน หรือบลูมาร์ก (Blue Mark) ด้วยค่าบริการเดือนละ 7.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 300 บาท)
ทวิตเตอร์ (Twitter) แอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียบนสมาร์ทโฟน แจ้งอัปเดตที่ขณะนี้แจ้งเฉพาะระบบปฏิบัติการ IOS บนไอโฟนและไอแพดว่า จะเริ่มให้บริการทวิตเตอร์บลูแบบใหม่
หากสมัครเวลานี้จะคิดค่าบริการเดือนละ 7.99 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 300 บาท) ผู้สมัครจะได้เครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน หรือ "บลูมาร์ก" (Blue Mark) ที่เป็นการยืนยันว่าเป็นบัญชีที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว
และจะได้สิทธิพิเศษ เช่น มีโฆษณาปรากฏในฟีดลดลง ส่วนทวิตเตอร์บลูปัจจุบันคิดค่าบริการเดือนละ 5 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 190 บาท) มีฟีเจอร์พิเศษ เช่น โหมดการอ่านที่สะดวกขึ้น
เอสเธอร์ ครอว์ฟอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของทวิตเตอร์โพสต์ว่า บริการทวิตเตอร์บลูแบบใหม่ยังไม่ได้ใช้งานจริง เป็นการเปิดตัวที่ผู้ใช้งานบางส่วนเท่านั้นที่จะเห็นอัปเดต เพราะอยู่ระหว่างการทดสอบและปรับแก้ไขในเวลาจริง
ที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ไม่คิดค่าบริการยืนยันตัวตนสำหรับบัญชีผู้ใช้งานที่ได้รับการยืนยันตัวตนด้วยเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน หรือฟีเจอร์พิเศษดังกล่าว ซึ่งมักจะเป็นรัฐบาล องค์กรต่างๆ คนดังและบุคคลสาธารณะในหลากหลายวงการทั่วโลก นักการเมือง นักข่าว หรือแม้แต่บัญชีที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก
ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ แต่ "อีลอน มัสก์" มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ที่เพิ่งซื้อกิจการทวิตเตอร์ด้วยวงเงิน 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 1.67 ล้านล้านบาท) วิจารณ์ว่า เป็นการแยกชนชั้นแบบระบบขุนนางและไพร่
เขารับปากเมื่อวันเสาร์ว่า ทวิตเตอร์จะปรับปรุงให้ดีขึ้น โดยจะมีเครื่องมือในการแบ่งปันและค้นหาที่สะดวกขึ้น และมีวิธีให้ผู้สร้างเนื้อหาทำรายได้ได้มากขึ้น ขณะที่การเก็บค่าบริการรายเดือนจากผู้ใช้บัญชีที่ต้องการเครื่องหมาย "บลูมาร์ก" ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ให้ทวิตเตอร์ ที่ไม่มีกำไรมาหลายปีแล้ว นอกเหนือไปจากโมเดลโฆษณาที่ใช้อยู่
อย่างไรก็ดี หลายคนบอกว่า ผู้ใช้งานทวิตเตอร์จะยอมเสียเงินเดือนละ 300 บาทเพื่อเครื่องหมายถูกสีน้ำเงินอันเดียวหรือไม่ เพราะหากต้องเสียเงินรายเดือนเพื่อใช้สื่อออนไลน์จากเดิมที่เคยใช้ฟรี ผู้ใช้งานจำนวนมากอาจเลิกใช้ทวิตเตอร์แบบถาวร แล้วหันไปใช้สื่อออนไลน์แพลตฟอร์มอื่นแทน.
ภาพจาก AFP