นาซา เผยภาพยืนยันโลกร้อนของจริง ทะเลสาบแห้งเหลือแต่เกลือ น้ำแข็งขั้วโลกหายกว่าครึ่ง
เว็บไซต์ unilad.co.uk รายงานเมื่อวันที่ 5 มกราคม เผยแพร่ภาพชุด Images of Change หรือภาพแห่งความเปลี่ยนแปลง เป็นภาพจากดาวเทียมขององค์การบริหารการบินและอวกาศ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา แสดงให้เห็นภาพเปรียบเทียบ ก่อน-หลัง ของพื้นที่หลายแห่งทั่วโลกที่เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ภาพแรกในชุดภาพดังกล่าวเป็นภาพถ่ายจากดาวเทียมแสดงให้เห็นการเกิดน้ำท่วมในฤดูมรสุมของประเทศ ปากีสถาน และ บังกลาเทศระหว่างเดือนกันยายน 2019 ถึงปี 2020 โดยในช่วงระยะเวลาเพียง 1 ปี แสดงให้เห็นว่าสภานการณ์น้ำท่วมรุนแรงขึ้นอย่างชัดเจน
อีกภาพที่นาตกใจก็คือทะเลสาบโลนาร์ ในประเทศอินเดีย ที่เปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีชมพูในช่วงเวลาเพียงไม่กี่วัน เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2020 ผลจากอากาศที่ร้อนจัดส่งผลให้น้ำในทะเลสาบระเหยไปจนหมด เหลือไว้เพียงเกลือสีชมพูเอาไว้ที่ก้นทะเลสาบ
นอกจากนี้ยังมีภาพอีกชุดหนึ่งที่แสดงให้เห็นผลกระทบจากการขยายของตัวเมืองเช่นในเมืองแคนคูน ประเทศเม็กซิโก ระหว่างปี 1985 ถึงปี 2019 ที่เมืองซึ่งมีประชากรราว 100 คน ขยายตัวกลายเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยว ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปเยือนปีละ 2 ล้านคนต่อปีด้วย
โดยเมืองแคนคูน กลายเป็นเมืองที่เป็นแหล่งรายได้จากการท่องเที่ยวมากถึง 1 ใน 4 ของประเทศเม็กซิโก การเจริญเติบโตของเมืองยังส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม ในจำนวนนั้นคือปัญหามลพิษในน้ำและปัญหาการกัดเซาะชายหาดเป็นต้น
ขณะที่ภาพเปรียบเทียบน้ำแข็งในมหาสมุทรอาร์คติก บริเวณขั้วโลกเหนือที่มีปริมาณน้ำทะเลที่เป็นน้ำแข็งในหน้าร้อนที่ลดน้อยลงอย่างมากโดยภาพเป็นภาพเปรียบเทียบระหว่างปี 1984 และปี 2012 โดยระดับน้ำแข็งที่ลดลงนั้นมีความเร่งเพิ่มขึ้นหลังปี 2017 โดยในปี 2016 เป็นปีที่มีน้ำแข็งปกคลุมน้อยที่สุดเป็นอันดับที่ 2 ในประวัติศาสตร์ การลดลงที่รวดเร็วดังกล่าวนักวิทยาศาสตร์นาซา ระบุเอาไว้ว่า อาจทำให้น้ำแข็งที่ปกคลุมมหาสมุทรอาร์คติกในช่วงฤดูร้อนอาจหายไปทั้งหมดภายในศตวรรษนี้