รีเซต

Social Media เชื่อมเราเข้าด้วยกัน แต่มันก็แอบแยกเราออกจากกันอย่างเงียบ ๆ

Social Media เชื่อมเราเข้าด้วยกัน แต่มันก็แอบแยกเราออกจากกันอย่างเงียบ ๆ
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2563 ( 11:39 )
173

ทุกวันนี้น้อยคนที่จะไม่มีบัญชีของโซเชียลมีเดียดัง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram Twitter ฯลฯ และยิ่งเรากดติดตามสิ่งที่เราสนใจมากเท่าไหร่ อัลกอริทึมของระบบก็จะนำสิ่งที่เราชอบหรือสนใจมาแสดงผลให้เราดูทุกวัน แต่ยิ่งนานวันเข้าสิ่งที่เราสนใจกลายเป็นกรอบจำกัดให้เราเห็นแต่ข้อมูลซ้ำเดิมหรือเปล่า? เรากำลังถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มแทนที่จะได้เชื่อมต่อกับผู้คนอย่างหลากหลายหรือไม่? นักจิตวิทยาคนหนึ่งจึงได้เขียนบทความที่มีชื่อว่า “Social media promised to connect us, but made us isolated and tribal instead” ขึ้นมาเพื่อแนะวิธีที่เราจะรับมือกับระบบอัลกอริทึมที่จะทำแยกเราให้ห่างไกลกันกว่าเดิม


ผู้เขียนบทความนี้คือ ARASH JAVANBAKHT ซึ่งเป็นนักจิตวิทยาผู้ศึกษาด้านโรควิตกกังวลและโรคเครียด โดยเขาให้ความสำคัญกับประเด็นที่ว่า สังคมของเรากำลังถูกชักจูงไปสู่ยุคของการแบ่งแยกเป็นกลุ่ม ๆ (หรือที่เขาใช้คำว่า tribalism) บนโซเชียลมีเดียได้ง่ายเพียงใด เพราะอะไรโซเชียลมีเดียที่สัญญาว่าจะเชื่อมต่อเราทุกคนเข้าด้วยกัน กลับทำให้คนแต่ละกลุ่มห่างจากกันเรื่อย ๆ โดยเขาได้กล่าวว่ามันเกิดขึ้นจากการที่ระบบ artificial intelligence หรือ AI ที่ทำงานอยู่เบื้องหลังจดจำได้ว่าเราเคยสนใจ ค้นหา หรือชอบดูเรื่องอะไรเป็นพิเศษ จึงแนะนำเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นมาให้ ยื่งเรากดไลก์ กดติดตาม หรือแชร์ข้อมูลเหล่านั้นมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเจอเนื้อหาเหล่านั้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ของเรามากขึ้น 

และเมื่อระบบอัลกอริทึมจดจำได้แล้วว่าเราชอบหรือสนใจเนื้อหาแบบใด สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากนั้นก็คือแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของเราก็จะเต็มไปด้วยเนื้อหาและบุคคลที่สนใจเรื่องเดียวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งถึงแม้มันจะมีข้อดีตรงที่ทำให้เราได้เจอคนที่ชอบอะไรเหมือนกัน แต่อย่าลืมว่ามันกำลังแบ่งเราออกเป็นกลุ่ม ๆ ไปด้วย คนแต่ละกลุ่มก็จะได้รับข้อมูลแต่ที่ตัวเองสนใจเท่านั้น จนบางครั้งการที่เรารับข้อมูลอะไรเดิม ๆ จากกลุ่มคนที่เชื่อหรือสนใจสิ่งเดียวกันก็ทำให้เราเกิดความต่อต้านกับคนที่ไม่ใช่ “พรรคพวก” ของเรา ตัวอย่างเช่นสถิติในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่ากว่า 61% ของประชากร เคยลบเพื่อน เลิกติดตาม หรือบล็อกบัญชีของใครสักคนออกจากโซเชียลมีเดีย เพียงเพราะว่าเขาหรือเธอมีความคิดเห็นและทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างจากตนเอง


อีกหนึ่งสิ่งที่ระบบอัลกอริทึมของโซเชียลมีเดียแอบส่งผลกระทบกับเราโดยที่ไม่รู้ตัวนั่นก็คือมันกำลังทำให้ความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการอ่านเพื่อรับข้อมูลข่าวสารของเราลดลงไปและถูกแทนที่ด้วย “Scrolling and swiping culture” ไปเสียแล้ว โดยค่าเฉลี่ยทั่วไปของคนเราจะเลื่อนผ่านข้อมูลบนหน้าฟีดของเฟซบุ๊กอยู่ที่ประมาณ 1.7-2.5 วินาทีเท่านั้น นั่นทำให้ไม่ว่าข่าวจะเล็กหรือใหญ่มันก็จะมีอายุอยู่บนโลกโซเชียลของเราเพียงชั่วครู่ จากนั้นความสนใจของเราก็จะถูกดึงดูดไปที่อื่น และที่ร้ายไปกว่านั้นคือข่าวสารต่าง ๆ ที่เรารับเข้าไปก็มาจากการแสดงผลการไลก์จากกลุ่มพรรคพวกเดียวกับเรานั่นเอง ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่คนเราจะเชื่ออะไรหรือนิยมอะไรไปในทางเดียวกัน และเกิดความรู้สึกต่อต้านหรือห่างไกลจากคนที่ไม่เชื่อหรือไม่สนใจแบบเดียวกันกับเรานั่นเอง



แต่ทุกอย่างมีทางแก้เสมอ โดยผู้เขียนบทความนี้ได้แนะนำ 7 วิธีที่จะช่วยให้เราหลุดจากการควบคุมของระบบอัลกอริทีมที่จะชักจูงเราให้แตกออกเป็นกลุ่มมากขึ้น ดังนี้

1. หมั่นตรวจสอบและอัปเดต ad preferences ของเราอย่างน้อยปีละครั้ง
2. ตั้งค่าโฆษณาหรือการแนะนำที่ได้รับให้เป็น “irrelevant” หรือ “ไม่เกี่ยวข้อง” เพื่อทำให้ AI สับสน
3. ฝึกมองให้รอบด้าน อ่านข่าวสารให้ครบถ้วน ด้วยการเช็คความถูกต้องของข่าวสารที่ได้รับจากหลากหลายเว็บไซต์ และไม่อันฟอลใครง่าย ๆ เพียงเพราะเขาคิดไม่ตรงกับเรา
4. ปิดการรับข่าวสารจากการฟัง Cable news เพียงอย่างเดียวแล้วหันไปอ่านให้มากขึ้น หรืออย่างน้อยก็จำกัดเวลาให้น้อยลง
5. เช็คข่าวสารจากแหล่งที่มีความน่าเชื่อถือสูงและมีความเป็นกลาง เช่น NPR, BBC และ The Conversation
6. ถ้าคุณคิดว่าทุกสิ่งที่หัวหน้ากลุ่มหรือคนที่มีอิทธิพลในกลุ่มความเชื่อเดียวกับคุณถูกต้องและเป็นความจริงไปทั้งหมด ให้ลองคิดทบทวนใหม่อีกครั้งก่อนจะเชื่ออะไรง่าย ๆ
7. ออกจากโลกออนไลน์แล้วไปทำกิจกรรมในโลกจริง ๆ บ้าง ฝึกอยู่ห่างจากการใช้สมาร์ตโฟนตลอดเวลา

สุดท้ายแล้วอย่าลืมว่าเพื่อนของคุณที่อาจจะสนับสนุนทีมฟุตบอลคนละทีมกับเรา มีทัศนคติทางการเมืองที่แตกต่างจากเรา ไม่ได้แปลว่าเขาจะเป็นศัตรูกับเรา เรายังคงอยู่ร่วมกันได้แม้จะมีแนวคิดหรือความชอบที่แตกต่างกัน เพราะความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคนคือธรรมชาติที่เราต้องอยู่ร่วมกัน ไม่มีใครถูกเต็มร้อย ไม่มีใครผิดทั้งหมด แต่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้เพื่ออยู่ด้วยกันได้บนโลกใบนี้

ขอบคุณข้อมูลจาก

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง