รีเซต

พบฟอสซิลสายพันธุ์ใหม่ในไทย เปิดเผยความลับมหาทวีปโบราณ

พบฟอสซิลสายพันธุ์ใหม่ในไทย เปิดเผยความลับมหาทวีปโบราณ
TNN ช่อง16
26 พฤศจิกายน 2566 ( 14:27 )
98
พบฟอสซิลสายพันธุ์ใหม่ในไทย เปิดเผยความลับมหาทวีปโบราณ

ไทรโลไบต์ (Trilobite) ฟอสซิลที่เคยมีชีวิตอยู่เมื่อราว 490 ล้านปีก่อน ถูกค้นพบสปีชีส์ใหม่กว่า 11 สปีชีส์และ 1 สกุล บนชายฝั่งเกาะตะรุเตา อุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการสนับสนุนให้ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติเข้ามาศึกษาในพื้นที่นี้ และนี่อาจทำให้สามารถหาคำตอบของปริศนาอันซับซ้อนของภูมิศาสตร์โลกยุคโบราณได้


นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พบฟอสซิลไทรโลไบต์ติดอยู่ในชั้นของเถ้าภูเขาไฟในหินทราย ซึ่งเถ้าภูเขาไฟสะสมและกลายเป็นหินสีเขียวที่เรียกว่าทัฟฟ์ (Tuffs) และในหินทัฟฟ์พบแร่เซอร์คอน ซึ่งเป็นแร่ที่เกิดระหว่างภูเขาไฟปะทุ สำหรับเซอร์คอนเป็นแร่ที่มีความเสถียรทางเคมี ตลอดจนทนความร้อนและทนต่อสภาพอากาศได้ดี มันแข็งพอ ๆ กับเหล็ก และแม้หินจะถูกกัดเซาะไปแล้ว แต่เซอร์คอนก็ยังคงเหลืออยู่ และภายในเซอร์คอนนี้ อะตอมของธาตุยูเรเนียมแต่ละอะตอมจะค่อย ๆ สลายตัว และเปลี่ยนเป็นอะตอมของตะกั่ว ซึ่งเราสามารถใช้เทคนิคไอโซโทปรังสี (Radioisotope) เพื่อหาอายุตอนที่เซอร์คอนก่อตัว รวมถึงหาอายุของฟอสซิลได้ด้วย


ทีมวิจัยได้อธิบายเพิ่มเติมว่าเป็นเรื่องยากที่จะพบหินทัฟฟ์ในยุคแคมเบรียนตอนปลาย หรือประมาณ 497 - 485 ล้านปีที่ผ่านมา มีไม่กี่แห่งบนโลกที่สามารถพบได้ ทั้งนี้การพบทัฟฟ์ ไม่เพียงแต่จะทำให้เรากำหนดอายุฟอสซิลที่พบในไทยเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจส่วนต่าง ๆ ของโลก เช่น จีน ออสเตรเลีย และแม้แต่อเมริกาเหนือซึ่งพบฟอสซิลที่คล้ายกัน แต่ไม่สามารถระบุอายุได้


เชลลี เวอร์เน็ตต์ (Shelly Wernette) นักธรณีวิทยาหนึ่งในทีมวิจัยบอกว่า ส่วนที่น่าตื่นเต้นที่สุดคือการค้นพบสายพันธุ์ไทรโลไบต์ที่เคยพบในประเทศอื่น แต่ไม่เคยพบที่ไทยมาก่อน และนั่นทำให้สามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางธรณีวิทยาประเทศไทยเข้ากับบางพื้นที่ของออสเตรเลียได้ ซึ่งสำหรับเวอร์เน็ตต์เธอบอกว่า “นี่เป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมาก”


ในช่วงที่ไทรโลไบต์ยังมีชีวิตอยู่ หรือราว 490 ล้านปีก่อน บริเวณเกาะตะรุเตา ตั้งอยู่บริเวณขอบนอกของกอนด์วานาแลนด์ ซึ่งเป็นมหาทวีปโบราณที่ประกอบด้วยแผ่นทวีปแอฟริกา อินเดีย ออสเตรเลีย อเมริกาใต้ และแอนตาร์กติกา แต่เมื่อผ่านไป แผ่นทวีปต่าง ๆ เริ่มเคลื่อนตัวแยกห่างกันไป ดังนั้นหน้าที่ของนักธรณีวิทยาในการศึกษานี้ก็คือการเชื่อมความสัมพันธ์ว่าพื้นที่เกาะตะรุเตานี้ มีความเกี่ยวข้องกับพื้นที่ที่เคยเป็นส่วนอื่น ๆ ของกอนด์วานาแลนด์อย่างไร 


ทั้งนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาเพื่อหาอายุของฟอสซิลสปีชีส์ต่าง ๆ เช่นสปีชีส์ซินาเนีย สิรินธรเน่ (Tsinania sirindhornae) หากทราบอายุแล้ว พวกเขาก็อาจจะเทียบเคียงได้ว่าฟอสซิลที่พบในไทย มีอายุใกล้เคียงกับฟอสซิลที่พบทางตอนเหนือและตอนใต้ของประเทศจีน


นักวิจัยรู้สึกว่าฟอสซิลที่พวกเขาพบมีข้อมูลอันล้ำค่าสำหรับยุคปัจจุบัน เพราะมันได้ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิศาสตร์โลกยุคโบราณ เพื่อที่จะให้เรานำความรู้เหล่านี้มาเพื่อวางแผนสภาพแวดล้อมในปัจจุบัน


ที่มาข้อมูล Scitechdaily, Onlinelibrary

ที่มารูปภาพ Reuters

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง