รีเซต

14 กรกฎาคม วันรู้จักฉลาม : อย่ากินหูหนู! หูฉลามต้องอยู่กับฉลาม

14 กรกฎาคม วันรู้จักฉลาม : อย่ากินหูหนู! หูฉลามต้องอยู่กับฉลาม
TeaC
7 กรกฎาคม 2566 ( 14:33 )
654
14 กรกฎาคม วันรู้จักฉลาม : อย่ากินหูหนู! หูฉลามต้องอยู่กับฉลาม

ข่าววันนี้ หยุดกินหูฉลามเท่ากับหยุดฆ่า! วิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถช่วยกันรักษาชีวิตของฉลามได้ ในวันสำคัญแบบนี้ใช้เป็นวันแห่งการเริ่มต้นอนุรักษ์ฉลามกันเถอะ ก่อนที่ฉลามจะสูญพันธุ์จากมนุษย์ที่ไล่เข่ฆ่าราว 100 ล้านตัวต่อปี หูตัวเองใคร ๆ ก็รัก ไม่อยากเสียหูให้ใคร วอนละ เลิกกินหูฉลามกันเถอะ

 

14 กรกฎาคม วันรู้จักฉลาม

 

14 กรกฎาคม ของทุกปี เป็นวันรู้จักฉลาม (Shark Awareness Day) เพื่อสร้างการตระหนักในการอนุรักษ์ถึงฉลามทั่วโลก สัตว์ที่มีส่วนสำคัญทั้งในการรักษาสมดุลและรักษาสุขภาพแห่งท้องทะเล TreuID จะขอพาทุกคนไปรู้จักนักล่าผู้รักษาสมดุลแห่งท้องทะเล 

 

รู้จัก ฉลาม อย่าลืมรู้รักษ์ด้วย

จากข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อธิบายถึง ปลาฉลาม Selachimorpha ว่า เป็นปลาที่อยู่ในกลุ่มปลากระดูกอ่อน มีรูปร่างโดยรวมเพรียวยาว ทั่วโลกพบแล้วกว่า 440 ชนิด มีขนาดลำตัวแตกต่างออกไปตั้งแต่ 17 ซม. จนถึง 12 เมตร ส่วนใหญ่มีซี่กรองเหงือก 5 ซี่ ครีบทุกครีบแหลมคม ครีบหางเป็นแฉกเว้าลึก มีจุดเด่นคือ ส่วนหัวและจะงอยปากแหลมยาว ปากเว้าคล้ายพระจันทร์เสี้ยวภายในมีฟันแหลมคม

 

แม้ว่าภาพของฉลามที่เราคุนเคย หรือพบเห็นในภาพยนต์ คือ สัตว์ที่ดุร้ายน่ากลัว แต่ในความเป็นจริง ฉลามส่วนมากไม่ได้มีนิสัยก้าวร้าวอย่างที่ถูกสร้างภาพ ในทางตรงข้ามราว หนึ่งในสี่ ของฉลามและกลุ่มปลากระเบน 1,๐๐๐ กว่าชนิดทั่วโลกกำลังถูกมนุษย์คุกคามทั้งที่ตั้งใจและไม่ตั้งใจปีละนับร้อยล้านตัว จนอยู่ในภาวะที่ใกล้สูญพันธุ์

 

 

และที่สำคัญ ฉลาม มีบทบาทเป็นนักล่าสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร ซึ่เป็นบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการรักษาสมดุลของทะเล แต่ในปัจจุบันฉลามส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง พวกเขาถูกล่าโดยมนุษย์จับตัดครีบนำมาเป็นอาหารราคาแพง ไม่เว้นแม้แต่ยักษ์ใหญ่ใจดีผู้กรองแพลงตอนกินเป็นอาหารอย่างฉลามวาฬ

 

ปัจจุบัน ฉลามวาฬ ได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวน ตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

 

ปลาฉลาม มีกี่ชนิด?

สำหรับ ปลาฉลามนั้น จะแบ่งออกได้เป็นหลายอันดับ หลายวงศ์ และหลายชนิด ในปลาฉลามแคระ (Etmopterus perryi) ซึ่งเป็นปลาฉลามน้ำลึกที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรแอตแลนติกบริเวณทวีปอเมริกาใต้ ไปจนถึง ปลาฉลามวาฬ (Rhincodon typus) ที่มีความยาวกว่า 12 เมตร ซึ่งเป็นปลาที่ใหญ่ที่สุดในโลกด้วย

 

ขณะที่ ปลาฉลาม ถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทด้วยกัน คือ ปลาฉลามผิวน้ำและปลาฉลามหน้าดิน ซึ่งมีลักษณะนิสัยแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

  • ปลาฉลามผิวน้ำ มีรูปร่างปราดเปรียวชอบว่ายน้ำอยู่ตลอดเวลา ลักษณะของฟันเป็นฟันที่มีความแหลมคมดุจมีดโกน เรียงกันเป็นแถวอยู่ภายในปาก
  • ฉลามหน้าดิน มีนิสัยชอบกบดานอยู่นิ่ง ๆ มากกว่าเคลื่อนที่ ฟันมีลักษณะเป็นฟันขบ กินซากสัตว์ที่ตายแล้วเป็นอาหาร ไม่ค่อยดุร้ายและส่วนใหญ่มีนิสัยขี้เล่น

 

ปลาฉลามทุกชนิดเป็นปลากินเนื้อ มักล่าสัตว์น้ำชนิดต่าง ๆ กินเป็นอาหาร แต่ก็มีฉลามบางจำพวกที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร เช่น ปลาฉลามในอันดับ Orectolobiformes ได้แก่ ปลาฉลามวาฬ, ปลาฉลามในอันดับ Lamniformes เช่น ปลาฉลามเมกาเมาท์ (Megachasma pelagios) และปลาฉลามอาบแดด (Cetorhinus maximus)

 

แต่ปลาฉลามบางสกุลในอันดับ Lamniformes เช่น ปลาฉลามมาโก (Isurus spp.) และปลาฉลามในอันดับ Carcharhiniformes มีรูปร่างเพรียวยาว ว่ายน้ำได้ปราดเปรียว โดยอาจทำความเร็วได้ถึง 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง เช่น ซึ่งฉลามในอันดับนี้ หลายชนิดเป็นปลาที่ดุร้าย อาจทำร้ายมนุษย์หรือกินสิ่งต่าง ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่อาหารได้ด้วย ฉลามในอันดับนี้ได้แก่ ปลาฉลามขาว (Carcharodon carcharias), ปลาฉลามเสือ (Galeocerdo cuvier), ปลาฉลามหัวบาตร (Carcharhinus leucas) เป็นต้น

 

นอกจากนี้แล้ว ยังมีปลาฉลามที่มีรูปร่างประหลาดและพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากปลาฉลามส่วนใหญ่ อาทิ ปลาฉลามเสือดาว (Stegostoma fasciatum), ปลาฉลามกบ (Chiloscyllium spp.) ที่อยู่ในอันดับ Orectolobiformes ซึ่งเป็นปลาฉลามที่ไม่ดุร้าย มักหากินและอาศัยอยู่ตามพื้นทะเล มีครีบหางโดยเฉพาะครีบหางตอนบนแหลมยาวและมีขนาดใหญ่ และมักมีสีพื้นลำตัวเป็นลวดลายหรือจุดต่าง ๆ เพื่อพรางตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม หรือ ปลาฉลามโบราณ (Chlamydoselachus anguineus) ที่อยู่ในอันดับ Hexanchiformes ที่มีรูปร่างยาวคล้ายปลาไหล เป็นปลาน้ำลึกที่หาได้ยากมาก ๆ และเดิมเคยเชื่อว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

 

ปลาฉลามโดยมากเป็นปลาที่ออกลูกเป็นตัว ในตัวผู้จะมีอวัยวะเพศเป็นติ่งยื่นยาวออกมาหนึ่งคู่เห็นได้ชัด ซึ่งเรียกว่า "เดือย" หรือ "Clasper" ในภาษาอังกฤษ แต่ก็มีเพียงบางชนิดเท่านั้นที่ออกลูกเป็นไข่ โดยมากแล้วเป็นปลาทะเล อาศัยอยู่ในทะเลทั้งเขตอบอุ่นและขั้วโลก มีเพียงบางสกุลและบางชนิดเท่านั้น ที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดหรือน้ำกร่อยได้ อาทิ ปลาฉลามแม่น้ำ (Glyphis spp.) ที่เป็นปลาฉลามน้ำจืดแท้ โดยมีวงจรชีวิตอยู่ในน้ำจืดตลอดทั้งชีวิต และปลาฉลามหัวบาตร หรือ ปลาฉลามครีบดำ (Carcharhinus melanopterus) ที่มักหากินตามชายฝั่งและปากแม่น้ำ ซึ่งอาจปรับตัวให้อยู่ในน้ำจืดสนิทได้

 

ย้อนยุค ทะเลยังเต็มไปด้วยฉลาม

 

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม ได้โพสต์เล่าถึงฉลามผ่านเฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat โดยระบุข้อความว่า เป็นเรื่องเมื่อเกือบ 25 ปีก่อน ในยุคที่ทะเลยังเต็มไปด้วยฉลามในทะเลไทยยังพอมีบ้าง แต่เยอะจริงอยู่ในพม่า สมัยรุ่นบุกเบิกการดำน้ำที่นั่น

 

จุดเยอะจริงคือ Burma Bank กองหินกลางทะเลไม่โผล่พ้นน้ำ เป็นจุดดำน้ำห่างฝั่งสุด จากระนองตรงออกไปในทะเล 100 กม. หากไปจากเกาะสุรินทร์ทางตะวันตกเฉียงเหนือ 64 กม. เป็นกลางอันดามันของแท้ รอบด้านเวิ้งว้าง ไม่มีแม้ประภาคารเหมือนโลซิน เพราะไม่มีอะไรโผล่ขึ้นมา ข้างล่างลึก 15-30 เมตร เป็นดงปะการังก้อนเรียงราย เบอร์มาแบงค์แบ่งเป็น 2 สัน แต่ละสันยาวนับกิโลเมตร ยังมีหน้าผาที่ดิ่งลงสู่ก้นทะเลลึกที่มองไม่เห็นพื้นใต้น้ำไม่ได้สวยเหมือนสิมิลัน แต่ความใสเชื่อถือได้ เพราะห่างฝั่งเหลือหลาย

 

เหตุผลสำคัญที่ผู้คนดั้นด้นมาคือปลา มีอยู่มหาศาล รวมถึงปลาหมอทะเลขนาดยักษ์หรือแม้กระทั่งเก๋าดอกหมาก Potato Cod และที่สำคัญสุดคือ ที่นี่มีฉลาม ตอนผมมองลงไปจากเรือ ผมหัวเราะหึ ๆ มันจะแค่ไหนกันจ๊ะอย่าลืมว่าผมเรียนที่ออสเตรเลีย อยู่ที่นั่นเกือบ 4 ปี และไม่ใช่เป็นการอยู่ในเมือง มหาลัยที่ผมเรียนชื่อ JCU อยู่เมือง Townsville ใจกลาง GBR แนวปะการังใหญ่สุดในโลก งานผมก็อยู่ในแนวปะการังแถวนั้น แถมยังเป็นสมาชิกร้านดำน้ำ หากมีทัวร์แล้วเหลือที่ว่าง เขาจะโทรมาเรียกเสมอ 

 

last minute มันก็ต้อง Cheap Cheap ผมจึงไปบ่อยเลยครับ เพราะทำ ป.เอกมีอิสระ ชิ่งได้ทุกเมื่อใน GBR เป็นทะเลแห่งฉลาม แทบไม่มีครั้งไหนที่ดำน้ำแล้วไม่เจอ และเจอทีไม่ใช่แค่ 1-2 ตัว แต่เจอแบบเรียงรายบางหนถึงสิบ

 

ผมยังเคยนั่งเรือนอนเรือเพื่อไปสุดขอบฟ้า ผ่าน GBR ออกไปทะเลนอก เรียกว่า Coral Sea ตรงนั้นมีแนวปะการังกลางทะเล น้ำใสแจ๋ว และเป็นทะเลที่ผมเห็นฉลามเยอะสุด นับจนขี้เกียจจะนับ เมื่อมาถึง Burma Bank ผมจึงคิดว่าเป็นแค่เรื่องสิว ๆ ตูม ! โดดน้ำลงไป มองซ้ายมองขวาตามที่ทำมาตลอด โอ้…ฉลาม


แถวนี้เป็นฉลามครีบเงิน ฉลามที่ผมคิดว่าเท่ที่สุดในโลก ไม่เว้นแม้แต่ฉลามขาว (เคยไปดำดูครับเลยเทียบได้)
ฉลามขาวดูอ้วน ท่าทางตะกละนิดๆ หน้าตาคล้ายชิโระ (หมาผม)  แต่พูดถึงความเท่ ความสง่างาม ครีบเงินชนะเห็น ๆ มองลงไป เห็นครีบเงินว่ายอยู่หลายตัวเลย ลงไปดูใกล้ ๆ ดีกว่า

 

ยุคนั้นผมยังชอบถ่ายภาพใต้น้ำ จึงกะจะไปถ่ายฉลามแก้เซ็ง เพราะสมัยอยู่ออสเตรเลียยังใช้กล้องทั่วไป ไม่เหมือนตอนกลับไทยอัปเกรดกล้องไปอีกขั้น แต่จะขั้นไหน สมัยนั้นเราใช้กล้องฟิล์ม ยังไม่ถึงยุคเฮ้าส์ซิ่งด้วยซ้ำ
ผมลงไปถึงพื้น จากนั้นฉลามก็เริ่มเข้ามา Burma Bank ยุคนั้นมีเรือไปน้อยมาก มีบางลำมีกิจกรรมเลี้ยงฉลาม 
คุณชาร์คกี้เลยเคยตัว เห็นนักดำน้ำแล้วชอบเข้ามาเคลียคลอ 

 

ป๊ะป๋า ขอหนูหม่ำขนมหน่อย  ผมมองซ้ายมองขวา ขนมไหนเฟ้ย ไม่มี ทั้งตัวมีแต่กล้องกับมือและเท้า แม้จะประกาศว่าเรารักฉลาม แต่ไม่รักถึงขนาดเอามือยัดปากแล้วตะโกนว่างับเลยลูก

 

ผมจึงถอยห่างน้องหลามรายแรก ก่อนรู้สึกว่ามีอะไรว่ายข้ามหัวไป เป็นเงาดำวูบ ๆ เสียวหลังวาบ ๆ เหมือนโดนผีกระโดดเกาะ ครีบเงินอีกตัวว่ายข้ามมา ตัวใหญ่กว่าเจ้าตัวที่เข้ามาอ้อน เวลาเราดำน้ำอยู่กลางดงฉลาม หลักการสำคัญคืออยู่ติดพื้นเข้าไว้ หรือจะไปหลบหลังก้อนปะการังก็ได้นะ ฉลามงับเหยื่ออยู่ติดพื้นได้เสมอ อ้าว…แล้วจะไปหลบตามพื้นทำไม ? คำตอบคือดีต่อใจฮะ 

 

หากถามว่าผมกลัวไหม ? คำตอบแท้จริงคือไม่กลัว  ขนาดหนูดาวผู้เป็นภรรยา ผมยังไม่กลัวเลย แล้วเหตุใดผมต้องกลัวฉลาม  โลกนี้จะกลัวอย่างเดียวคือเจ้าตัวนี้ -> 👻 ฉลามครีบเงินเริ่มว่ายเข้ามาเรียงลำดับไหล่ หมายความว่าตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ใหญ่สิดี เล็ก ๆ ถ่ายภาพแล้วนึกว่าลูกอ๊อด Size dose matter

 

ผมชื่นมื่นกับการถ่ายภาพฉลาม สลับกับการสังเกตพฤติกรรม เหตุผลหนึ่งคือเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล  อีกเหตุผลคือเพื่อความปลอดภัยหากฉลามเปลี่ยนใจอยากมาเจี๊ยะ อ้าว…ไม่กลัว ? แต่เรื่องนั้นไม่เกี่ยวกันครับ แม้ผมไม่กลัวเมีย แต่หนูดาวขอตังค์ก็ให้นะ

 

การสังเกตช่วยทำให้รู้ว่า ฉลามโชว์ท่าทางผิดปรกติไหม ปรกติจะว่ายไปมา ตรง ๆ ทื่อ ๆ แม้เข้าใกล้แต่พอใกล้เกินไป ฉลามจะหันออกซ้ายขวา ผิดปรกติคือว่ายสะบัดไปมา ท่าทางยึกยักเหมือนนักเลงล้วงกระเป๋าทำท่ายียวนกวนบาทา อธิบายด้วยตัวอักษร บอกยาก แต่ถ้าเห็นจะเข้าใจ

 

หมดเวลา อากาศใกล้เหี้ยน ถึงเวลาต้องขึ้นจากน้ำ ระหว่างลอยตัวขึ้น ผมยังมองลงข้างล่าง เห็นฉลามเข้ามาเยอะขึ้น มีตัวหนึ่ง ใหญ่มาก เทียบกับตัวอื่นแล้วกลายเป็นลูกแหง่ไปเลย ครีบเงินยาวเต็มที่ 3 เมตร ที่ผมเจออยู่ระดับ 2 เมตรบวก แต่เจ้าตัวนี้น่าจะถึงแมกซ์ โผล่ขึ้นผิวน้ำ ผมเตะเท้าเบาๆ มาที่เรือ ก่อนขึ้นยังมองลงล่างอีกครั้ง กองปะการังเป็นพืดยาว  ฉลามว่ายสลับกันไปมา บ่งบอกถึงทะเลสมบูรณ์สุดขีด โอเอซิสแห่งอันดามัน เป็นภาพแห่งความทรงจำ เพราะหลังจากนั้นไม่นาน ทะเลพม่าโดนถล่มด้วยเรือล่าฉลาม จาก 20+ ตัวในทุกไดฟ์สมัยก่อน เหลือแค่ 2-3 ตัว ผมไม่รอให้ถึงศูนย์ เพราะผมไม่กลับไปอีกแล้ว

 

ทะเลไร้ฉลาม ที่นั่นไร้เสน่ห์ ดูปลาการ์ตูนสวยดี ดูปลาผีเสื้อก็ยังไหว แต่ความตื่นเต้นใด ๆ หมดไป ทั้งทะเลมีปลาหนึ่งเดียวเท่านั้น ที่แค่เห็นก็ร้องเรียกให้คนอื่นมาดู ไม่ว่าจะอยู่บนฝั่งหรือในน้ำ มีปลาเพียงหนึ่งเดียวที่ทำให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่ ความลึกลับ ความเร้าใจของโลกสีคราม มีเพียงหนึ่งเดียวที่จดจำได้ ไม่ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน แม้วันนี้ ฉลามในภาพอาจไปอยู่ในจานซุปของใคร แต่ผมจะจำเธอไว้…ไม่ลืม ที่ครั้งหนึ่งเราเจอกัน 

 

อนุรักษ์ฉลามได้อย่างไร?

สิ่งสำคัญที่เราทำได้ในการช่วยกันอนุรักษ์ฉลามคือการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของฉลาม การไม่กินเนื้อและหูฉลาม รวมถึงการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกฎหมายในการคุ้มครองฉลามและคุ้มครองพื้นที่ทางทะเล หรือการห้ามจำหน่ายสินค้าที่มาจากฉลาม 


โดยในปัจจุบัน ในหลายๆประเทศได้มีความตระหนักถึงการไม่บริโภคฉลาม ห้ามขาย ห้ามนำเข้าหูฉลามมากขึ้น  สำหรับประเทศไทยเองเมื่อเดือนที่ผ่านมา นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้เผยว่ากำลังมีการยกระดับกฎหมายคุ้มครองฉลามน่านน้ำไทย เร่งดำเนินการพิจารณาเพิ่มการคุ้มครองฉลามแต่ละประเภทให้ขึ้นทะเบียนสัตว์ป่าคุ้มครองตามความเหมาะสม รวมถึงพิจารณาการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มถิ่นที่อยู่อาศัยที่ปลอดภัยให้กับสัตว์ทะเลหายากเหล่านี้

 


แค่ร่วมหยุดกินหูฉลามเท่ากับหยุดฆ่า! วิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถช่วยกันรักษาชีวิตของฉลามได้นะ

 

ข่าวเกี่ยวข้อง :

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง