ไทย – เมียนมา เดินหน้าร่วมมือแก้ปัญหาสารหนูในแม่น้ำกก

วันที่ 21 กรกฎาคม 2568 สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) จัดประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วย “การพัฒนาข้อเสนอการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกัน (Joint Water Quality Monitoring)” ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก MRC ได้แก่ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และตัวแทนจากเมียนมาในฐานะประเทศคู่เจรจา เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง
การประชุมมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. เป็นประธานฝ่ายไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจาก สทนช. กรมควบคุมมลพิษ และกรมทรัพยากรน้ำ ร่วมหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการปนเปื้อน สารหนูในแม่น้ำกก และการวางแนวทางความร่วมมือระยะยาวด้านคุณภาพน้ำในภูมิภาค
- ไทย-เมียนมาเปิดข้อมูลตรง แม่น้ำกกปนเปื้อนหนัก
เมียนมาโดยกระทรวงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ส่งผู้แทน 3 รายร่วมประชุม พร้อมรายงานสถานการณ์คุณภาพน้ำในลุ่มน้ำกกตอนบน ด้านไทย โดยกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยผลตรวจวิเคราะห์ล่าสุดว่า แม่น้ำกก แม่น้ำสาย และแม่น้ำรวก มีค่าการปนเปื้อน สารหนูเกินมาตรฐาน WHO และมีผลกระทบต่อการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคอย่างชัดเจน
ทั้งนี้ สปป.ลาว ยังรายงานผลตรวจโลหะหนักในแม่น้ำโขง เขตแขวงบ่อแก้ว ซึ่งอยู่ใกล้ชายแดนไทย ทำให้เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาด้านคุณภาพน้ำข้ามพรมแดนอย่างเป็นรูปธรรม
- ตั้งเป้า ระบบติดตามน้ำมาตรฐานเดียวกัน – แพลตฟอร์มแจ้งเตือนล่วงหน้า
เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือที่เป็นรูปธรรม โดยไทยเสนอแนวทางสำคัญ ได้แก่
1.กำหนด พารามิเตอร์และวิธีตรวจวัดคุณภาพน้ำร่วมกัน
2.พัฒนา ระบบติดตามอย่างต่อเนื่อง และ แพลตฟอร์มแบ่งปันข้อมูลคุณภาพน้ำ
3.สร้าง ระบบแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า โดยเฉพาะสำหรับการใช้น้ำเพื่อบริโภค เกษตรกรรม และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ
4.ขยายการติดตามสู่ลำน้ำสาขาฝั่งไทย–เมียนมา–ลาว
5.ศึกษาผลกระทบทางเศรษฐกิจ–สังคม และส่งเสริมการใช้ แนวทางธรรมชาติเพื่อลดผลกระทบ (Nature-based Solutions)
6.แจก ชุดทดสอบคุณภาพน้ำภาคสนาม ให้ประชาชนในพื้นที่เพื่อเสริมการเฝ้าระวังเบื้องต้น
โดยช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมประชุมได้ลงพื้นที่สำคัญในจังหวัดเชียงราย ได้แก่ ศูนย์เฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อม ,จุดเก็บตัวอย่างน้ำที่สะพานแม่ฟ้าหลวง
,โรงกรองน้ำวังคำ และสวนสาธารณะหาดเชียงราย เพื่อรับฟังข้อมูลภาคสนามและข้อเสนอจากภาคประชาชนและเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น
การประชุมครั้งนี้ถือเป็นก้าวแรกของการผลักดันเอกสารแนวคิด (Concept Note) สำหรับโครงการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำร่วมกัน โดยมีการเสนอจุดเก็บตัวอย่าง การแบ่งปันผลวิเคราะห์ และการกำหนดกรอบการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
