รีเซต

กินไอศกรีมอย่างไรไม่อ้วน? แนะจำกัดปริมาณ เลือกรสชาติ เพิ่มผลไม้แทนโคน

กินไอศกรีมอย่างไรไม่อ้วน? แนะจำกัดปริมาณ เลือกรสชาติ เพิ่มผลไม้แทนโคน
TNN ช่อง16
17 เมษายน 2565 ( 14:35 )
75
กินไอศกรีมอย่างไรไม่อ้วน? แนะจำกัดปริมาณ เลือกรสชาติ เพิ่มผลไม้แทนโคน

วันนี้ (17 เม.ย.65) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงหน้าร้อนไอศกรีมเป็นของหวานที่หลาย ๆ คน กินเพื่อคลายร้อน ซึ่งควรจำกัดปริมาณในการกิน 

เพราะไอศกรีมส่วนใหญ่มีส่วนประกอบหลักคือน้ำตาลและไขมันนม หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากนม เช่น โยเกิร์ต นมผง นมเปรี้ยว และยังมีสารให้ความหวาน เช่น กลูโคสไซรัป ฟรุกโตส น้ำผึ้ง หรืออาจมีน้ำมันพืช ไข่กะทิ

นอกจากนี้ ไอศกรีมยังนิยมกินกับวาฟเฟิลโคน วิปปิ้งครีม และของตกแต่งหน้าเพิ่มด้วย หากกินมากเกินไป ขาดการออกกำลังกาย อาจทำให้ผู้บริโภคเสี่ยงไขมันสะสม น้ำหนักเพิ่มขึ้น หลีกเลี่ยงไอศกรีมที่มีไขมันสูง และระวังน้ำตาลที่อยู่ในไอศกรีมด้วย 

เนื่องจากไอศกรีมบางประเภทแม้มีไขมัน 0% แต่กลับมีน้ำตาลสูงถึง 3.5-6.5 ช้อนชา ดังนั้น จึงควรบริโภคแต่พอควรสำหรับผู้ที่มีคอเรสเตอรอลในเลือดสูงควรเลือกกินไอศกรีมที่มีไขมันน้อยหรือไม่มีไขมันเลย เช่น "ไอศกรีมเชอร์เบต"

ส่วนผู้ที่มีไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงสามารถกินไอศกรีมเป็นครั้งคราวจำกัดคาร์โบไฮเดรต ไขมัน และน้ำตาลในอาหาร เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมาก ส่งผลทำให้ระดับไตรกลีเซอร์ไรด์ในเลือดสูงขึ้นได้

ด้าน ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวว่า การเลือกกินไอศกรีม ควรหลีกเลี่ยงชนิดที่มีไขมันและน้ำตาลสูง เนื่องจากไอศกรีมดัดแปลง 1 แท่ง (50-70 กรัม) ให้พลังงาน 150-230 กิโลแคลอรี มีไขมันอิ่มตัว 12-15 กรัม มีน้ำตาล 4-5 ช้อนชา ส่วน ไอศกรีม 1 สกู๊ป (100 กรัม) ให้พลังงาน 250-350 กิโลแคลอรี มีไขมันอิ่มตัว 7-11 กรัม น้ำตาล 6-9 ช้อนชา

โดยใน 1 วัน ไม่ควรกินไขมันและน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา ไอศกรีมจึงควรกินเป็นครั้งคราวและจำกัดปริมาณไอศกรีมการเลือกกินไอศกรีมเลือกชนิดไขมันน้ำตาลน้อยและไม่เพิ่มโคน กินควบคู่กับผลไม้ เพื่อทำให้น่ากินมากขึ้น และควรกินแบบพอดี ไม่เยอะจนเกินไป

เนื่องจากส่วนผสมของไขมันและน้ำตาลที่มีอยู่ในปริมาณมากก่อนซื้อควรดูฉลากโภชนาการเป็นส่วนประกอบก่อนการบริโภค เพื่อทำให้ทราบปริมาณพลังงาน น้ำตาลและไขมัน จะได้หลีกเลี่ยงไม่ให้กินมากเกินไป

โดยสังเกตสัญลักษณ์ทางเลือกสุขภาพ (Healthier choice) และเลือกกินไอศกรีมจากผู้ผลิตที่มีมาตรฐานเชื่อถือได้ ลดความเสี่ยงโรคระบบทางเดินอาหารจากไอศกรีมที่ไม่สะอาด.


ข้อมูลจาก กรมอนามัย

ภาพจาก TNN ONLINE


ข่าวที่เกี่ยวข้อง