รีเซต

หุ่นยนต์ควบคุมทางไกลผ่าตัดเส้นเลือดในสมองด้วยเส้นลวด

หุ่นยนต์ควบคุมทางไกลผ่าตัดเส้นเลือดในสมองด้วยเส้นลวด
TNN ช่อง16
18 พฤษภาคม 2565 ( 16:53 )
70

เมื่ออายุมากขึ้น ความเสี่ยงที่ผนังเส้นเลือดจะเสื่อมสภาพและมีไขมันอุดตันภายในเส้นเลือดยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เกิดเป็นโรคเส้นเลือดโป่งพองและโรคเส้นเลือดตีบ หากเป็นโรคเส้นเลือดสมองโป่งพองจะส่งผลให้เส้นเลือดแตกออกในท้ายที่สุด และหากเป็นโรคเส้นเลือดสมองตีบจะส่งผลเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงสมองได้เนื่องจากมีสิ่งอุดตันอยู่ ทั้ง 2 โรคอาจนำผู้ป่วยไปสู่ภาวะอัมพฤกษ์ หรืออัมพาต หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิตในท้ายที่สุด


ทั้งนี้ การผ่าตัดโรคเส้นเลือดในสมองโป่งพองและเส้นเลือดสมองตีบโดยศัลยแพทย์มักใช้เวลานาน และเส้นเลือดในสมองยังมีความคดเคี้ยวและซับซ้อนมากกว่าบริเวณอื่นในร่างกาย ส่งผลให้คนไข้เสียเลือดมากและต้องแบกรับความเสี่ยงของอาการข้างเคียงที่อาจตามมาหลังการผ่าตัด ไม่เพียงเท่านั้น การปฏิบัติการอยู่ในห้องผ่าตัดติดกันหลายชั่วโมงยังส่งผลให้ทีมศัลยแพทย์อ่อนล้าอย่างที่ไม่ควรเป็น


ทีมวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) จึงได้นำเสนอการนำหุ่นยนต์ควบคุมทางไกล หรือ Telerobot ที่มีส่วนหัวเป็นแม่เหล็กมาใช้ในการผ่าตัด โดยแม่เหล็กจะทำการควบคุมเส้นลวดที่ถูกใส่ไปในสมองโดยทีมศัลยแพทย์ให้เดินทางไปยังเป้าหมายเพื่อนำลวดเข้าไปขดอุดบริเวณที่เส้นเลือดโป่งเพื่อไม่ให้เส้นเลือดแตกและเกิดลิ่มเลือด และในกรณีที่เส้นเลือดอุดตันเส้นลวดจะทำการนำไขมันหรือสิ่งที่อุดตันเส้นเลือดอยู่ออกมา


จากการทดสอบกับแบบจำลองแสดงให้เห็นว่าเส้นลวดสามารถเดินทางไปยังเป้าหมายได้ดีแม้ในพื้นที่ที่คดเคี้ยวและซับซ้อน นอกจากนั้นยังรวดเร็วและปลอดภัยกว่าวิธีการผ่าตัดแบบทั่วไป แพทย์ผู้ทำการผ่าตัดเพียงทำการควบคุมหุ่นยนต์ผ่านหน้าจอมอนิเตอร์ ดังนั้นจึงชี้ให้เห็นว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็ว เนื่องจากมีบาดแผลน้อยและเสียเลือดน้อย และช่วยลดภาระของทีมศัลยแพทย์ไปในตัว


ทคโนโลยีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัยพัฒนาและทดลองในหลอดเลือดแดงขาของสุกร การใช้งานกับร่างกายของมนุษย์จำเป็นต้องใช้การวิจัยพัฒนาเพิ่มเติมเนื่องจากเส้นเลือดในสมองของมนุษย์มีขนาดเล็กและมีความซับซ้อนสูง


ข้อมูลและภาพจาก science.org

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง