รีเซต

[Exclusive] เปิดกลยุทธ์สู่บริษัทเทคระดับท็อป ผ่านมุมมอง Xiaomi

[Exclusive] เปิดกลยุทธ์สู่บริษัทเทคระดับท็อป ผ่านมุมมอง Xiaomi
TNN ช่อง16
27 เมษายน 2565 ( 20:46 )
316
[Exclusive] เปิดกลยุทธ์สู่บริษัทเทคระดับท็อป ผ่านมุมมอง Xiaomi



แม้ว่าทั่วโลกจะเริ่มปรับตัวให้อยู่ร่วมกับเจ้าโควิด-19 ได้แล้ว แต่เจ้าไวรัสร้ายยังคงทิ้งร่องรอยของผลกระทบไว้อยู่ ทั้งวัสดุอิเล็กทรอนิกส์ที่มีราคาแพงและเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 


ถึงกระนั้น ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า โควิดเองก็เป็นตัวกระตุ้นให้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการสื่อสารฟื้นตัวหลายเท่า เพื่อให้การเรียนหรือการทำงานจากที่บ้าน เดินหน้าได้อย่างไร้รอยต่อมากที่สุด 


ทำให้ความต้องการซื้ออุปกรณ์สื่อสารเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวอย่างสถิติการส่งมอบของ Xiaomi เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งคุณ K.M. Leong ในฐานะ General Manager of Southeast Asia, Xiaomi International ได้เปิดเผยว่า “จากรายงานของ Canalys ในปี 2021 ยอดการส่งมอบสมาร์ตโฟน Xiaomi สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศไทย และเติบโตสูงขึ้นประมาณ 160% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งมากขึ้นถึง 2 เท่า


และเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินค้าของผู้บริโภคในการหาซื้อแท็บเล็ตหรืออุปกรณ์สื่อสาร เพื่อที่จะเรียนและทำงานจากบ้านได้” 


K.M. Leong ในฐานะ General Manager of Southeast Asia, Xiaomi International ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ TNN Tech

 


เทรนด์ที่น่าจับตามองของวงการเทคโนโลยี


1. Internet of Things (IoT) 


นอกจากความต้องการอุปกรณ์เพื่อการสื่อสารที่เพิ่มสูงขึ้นแล้ว IoT หรือ Internet of Things อุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ต ก็เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคแสวงหา จนกลายมาเป็นเทรนด์สำคัญ ที่อีกหลายบริษัท อย่าง Samsung Google Apple หรือแม้กระทั่ง Amazon ก็กระโจนเข้ามาในตลาด ไม่จำกัดแค่เพียง Xiaomi ที่สร้างชื่อไว้เท่านั้น 


ซึ่ง Xiaomi เลือกที่จะเดินหมากนี้ด้วยกลยุทธ์ที่ชื่อว่า Dual-Engines หรือการผสานความเป็น Smartphone เข้ากับโลก AIoT และเพิ่มจำนวนสินค้าให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยในปีที่ผ่านมา Xiaomi มีผลิตภัณฑ์ AIoT ประมาณ 60 ประเภท และมีแผนผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 110 ประเภทในปีนี้ 


อุปกรณ์ IoT สามารถเชื่อมต่อและควบคุมผ่านอินเทอร์เน็ตได้

 

2. Physical Store เพื่อประสบการณ์ที่ดีกว่า


ทุกวันนี้ แม้ว่าผู้บริโภคจะสามารถซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ไม่ต่างจากซื้อที่ร้านค้า  มีรายละเอียดสินค้า มีรูปประกอบครบทุกองศา 


แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้บริโภคยังคงต้องการเห็น สัมผัส และทดลองสินค้าจริง ซึ่งเป็นที่มาของเทรนด์ในการเปิดพื้นที่พิเศษ เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราได้เข้ามาทดลองสินค้าด้วยตัวเองก่อนตัดสินซื้อ และช่วยให้เราได้เห็นภาพรวมระบบนิเวศของแบรนด์นั้น ๆ ได้ชัดเจนมากขึ้นอีกด้วย


โดย Xiaomi มีการเปิดพื้นที่พิเศษ ที่รู้จักกันในชื่อว่า Mi Store ซึ่งปัจจุบันมีประมาณ 40 แห่งทั่วประเทศ และมีเป้าหมายขยายเพิ่มเป็น 100 แห่งในปีนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มาเยี่ยมชมและทดลองสัมผัสกับผลิตภัณฑ์ทั้งหมด


พื้นที่พิเศษ สำหรับให้ผู้บริโภคเข้ามาสัมผัสสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ

 

3. Robotics เดินหน้าสู่โลกหุ่นยนต์


การเดินหน้าเข้าสู่โลกของหุ่นยนต์ เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจ เห็นได้อย่างการเปิดตัวหุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบของแบรนด์เทคมากมายในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์จาก BigTech ฝั่งตะวันตกอย่าง Boston Dinamic ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความล้ำสมัยและการเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติของหุ่นยนต์ หรือ Engineering Art เจ้าของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ Ameca (อะเมกา) หรือจะเป็นเจ้า Astro (แอสโทร) หุ่นยนต์ในบ้านรูปทรงสุนัขของแอมะซอน 


เช่นเดียวกันกับ Xiaomi ที่ได้ลงทุนไปกับการสร้าง Robotics Labs คิดค้นหุ่นยนต์สัตว์เลี้ยง (Cyberdog) เพื่อให้ผู้บริโภคสนุกกับการใช้เทคโนโลยี โดยหุ่นยนต์สุนัขดังกล่าวเป็นแบบ Open source เพื่อให้คนสามารถลงโปรแกรมสำหรับการสั่งการการเคลื่อนไหวและป้อนข้อมูลในระบบ AI ให้กับหุ่นยนต์สุนัข


CyberDog หนึ่งในลูกเล่นใหม่ของ Xiaomi

 

4. R&D ทุ่มงบฯ วิจัยและพัฒนา


ด้วยการแข่งขันในโลกเทคโนโลยีที่เข้มข้น ทำให้เทรนด์ของบริษัทเทคต่าง  พากันทุ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยปีที่ผ่านมา(2021) Apple อัดเม็ดเงินเข้าไปในส่วนนี้ถึง 21,910 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือว่า 735,000 ล้านบาท ขณะที่ Samsung เอง ใช้เงินวิจัยและพัฒนาไปถึง 22 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 600,000 ล้านบาท 


เช่นเดียวกับ Xiaomi คุณ K.M. Leong เล่าให้กับ TNN Tech ฟังว่า “ในปี 2021 ที่ผ่านมา เราลงทุนในงานวิจัยของเราไปกว่า 13,000 ล้านหยวน (68,000 ล้านบาท) ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 42% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สำหรับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานั้น เป็นสิ่งที่ทำให้เรามีความแตกต่างอย่างมากในเรื่องนวัตกรรมและเทคโนโลยี”


5. EV Car ตลาดใหม่ของ BigTech


การพัฒนารถยนต์พลังงานไฟฟ้า เป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังมาแรง ซึ่ง Xiaomi เอง ก็ได้กระโจนเข้ามาสู่สนามนี้เช่นกัน โดย Mr. Lei Jun ซึ่งเป็น CEO Xiaomi ได้ประกาศและตั้งบริษัทลูกเพื่อพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ปี 2021 และตัดสินใจสร้างโรงงานแห่งแรกที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน โดยได้รับสมัครวิศวกรกว่า 1,000 คน เพื่อออกแบบเครื่องยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วย 


การพัฒนารถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้าของ Xiaomi เป็นนสิ่งที่น่าจับตามอง เพราะต้องสู้กับคู่แข่งในตลาดที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วอย่าง Tesla หรือ Great Wall Motor รวมไปถึง LG , Apple และ Sony ที่อยู่ระหว่างซุ่มออกแบบรถยนต์พลังงานไฟฟ้าด้วยเช่นกัน 


สิ่งที่ทำให้ Xiaomi แตกต่างและเติบโตอย่างก้าวกระโดดในเวลาเพียง 12 ปี 


จากเทรนด์ทั้งหมดที่น่าจับตา อาจจะเป็นสิ่งที่หลายบริษัทเดินหน้าไปในทิศทางเดียวกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ Xiaomi แตกต่างและเติบโตอย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาเพียง 12 ปี คือ ราคาของสินค้าที่สามารถจับต้องได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลยุทธ์หลัก ที่ Xiaomi นำมาใช้ฝ่าฟันกับคู่แข่งและเพิ่มส่วนแบ่งในตลาดพรีเมียม จนกลายมาเป็นแบรนด์ใหญ่ที่เข้าถึงคนทั่วโลก 


พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงแทบจะทุกนาที ถือว่าเป็นหนึ่งในความท้าทายหรือไม่ ?


“แทนที่จะมองถึงสิ่งที่เปลี่ยนแปลง เรากลับมองและให้ความสำคัญในสิ่งที่มั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลง ดังนั้น สิ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไปจากมุมมองของผู้บริโภค นั่นคือสเปกที่ดีกว่า คุณภาพที่ดีกว่า และราคาที่น่าสนใจกว่า” คุณ K.M. Leong กล่าว



"พระเจ้าคือผู้สร้างโลก และสิ่งอื่น  ที่เหลือนั้นถูกสร้างโดยเสียวหมี่


คำกล่าวนี้เป็นตัวแทนสิ่งที่ Xiaomi ผลิต ซึ่งมีหลากหลายประเภท ตอบโจทย์การใช้งานแบบครอบจักรวาล เก็บครบตั้งแต่ไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ซึ่งคุณ K.M. Leong แสดงความคิดเห็นว่า “เราอยากให้ทุกคนได้สนุกไปกับการใช้ชีวิตผ่านนวัตกรรมทางเทคโนโลยี และเพื่อการนี้ เราจะลงทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่เพียงแค่ทรัพยากรระดับโลกเท่านั้น แต่รวมไปถึงคนที่มีความรู้ความสามารถในระดับท้องถิ่นอีกด้วย เราได้พัฒนาต่อไปยังผลิตภัณฑ์ในระบบนิเวศ และตอนนี้เราก็กำลังก้าวเข้าสู่ตลาดยานยนต์ ดังนั้น ไม่มีอะไรที่จะหยุดยั้งเราได้


ทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็น อุปกรณ์ IoT , พื้นที่ทดลองสินค้า , หุ่นยนต์ , รถยนต์พลังงานไฟฟ้า หรือแม้กระทั่งการอัดงบประมาณเพื่อการวิจัยและพัฒนา ล้วนแล้วแต่เป็นทิศทางที่ BigTech ต่างเดินหน้าไปในเส้นทางเดียวกัน เช่นเดียวกับ Xiaomi 


แต่ไม่ว่าโลกจะหมุนและเปลี่ยนแปลงไปแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนก็คือพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ต้องการสินค้าดีมีคุณภาพในราคาที่ย่อมเยา ซึ่งใครทำได้ก็มีโอกาสเข้าไปครองใจผู้บริโภคได้อย่างแน่นอน  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง