รีเซต

ใด ๆ ในโลกล้วนมีผู้หญิงขับเคลื่อน ! หัวเว่ย จัดโร้ดโชว์ “Women in Tech” ครั้งแรกในไทย

ใด ๆ ในโลกล้วนมีผู้หญิงขับเคลื่อน ! หัวเว่ย จัดโร้ดโชว์ “Women in Tech” ครั้งแรกในไทย
TNN ช่อง16
24 มิถุนายน 2566 ( 01:54 )
66
ใด ๆ ในโลกล้วนมีผู้หญิงขับเคลื่อน ! หัวเว่ย จัดโร้ดโชว์ “Women in Tech” ครั้งแรกในไทย

บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมเฉลิมฉลองวันวิศวกรรมสตรีสากล (International Women in Engineering Day) ด้วยการจัดงานโร้ดโชว์ (Road Show) วูเมน อิน เทค (Women in Tech) ครั้งแรกในประเทศไทย จุดประกายการเรียนรู้ด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจจากผู้หญิงต้นแบบและผู้นำหญิงในสายไอที ณ สเตเดียม วัน (Stadium One) ถนนบรรทัดทอง กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา


รูปแบบและวัตถุประสงค์การจัดงาน “Women in Tech”

ภายในงานจะพบกับกิจกรรม Tech Talk และบูธจัดแสดงเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมถึงโครงการต่าง ๆ ที่หัวเว่ยร่วมผนึกกำลังกับพันธมิตร เพื่อสนับสนุนความหลากหลายและความเท่าเทียมกัน 


วัตถุประสงค์ของกิจกรรมโร้ดโชว์ครั้งนี้คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงรุ่นใหม่หันมาสนใจศึกษาต่อในสาขาสะเต็ม (STEM: Science, Technology, Engineering, Mathematics - วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์) เพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ยั่งยืนและเท่าเทียมกัน ภายใต้หลักคิด 3 เสาหลัก ได้แก่ Tech For Her, Teach With Her, Teach by Her (เทคโนโลยีเพื่อผู้หญิง คู่กับผู้หญิง และโดยผู้หญิง) ในไทยและอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก  


กิจกรรมนี้ยังเป็นการผนึกกำลังระหว่างหัวเว่ย องค์การยูเนสโก (UNESCO) สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) และสถาบันการศึกษาชั้นนำของไทย ในการบ่มเพาะและเพิ่มจำนวนบุคลากรด้านไอซีทีให้กับโลกดิจิทัลของไทยในอนาคต


ที่มาและความสำคัญในการจัดงาน “Women in Tech”

รายงานดัชนีช่องว่างระหว่างเพศ ประจำปี 2023 โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economy Forum) ระบุว่า อาชีพในสาขา STEM เป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพสำคัญที่มีค่าตอบแทนสูง และจะเป็นที่ต้องการมากยิ่งขึ้นในอนาคต แต่จำนวนผู้หญิงที่ประกอบอาชีพในสาขา STEM ยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนผู้ประกอบอาชีพที่ไม่อยู่ในกลุ่ม STEM ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 49.3% ในขณะที่ในอาชีพในสาขา STEM มีผู้หญิงเพียงร้อยละ 29.2 เท่านั้น 


ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กล่าวว่า “นวัตกรและบุคลากรด้านดิจิทัลทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ได้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจของประเทศ” พร้อมย้ำว่าการจัดงานกับหัวเว่ยเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันประเทศไทยให้ขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลแห่งอาเซียนอีกด้วย


การพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้หลักคิด “Women in Tech”

นางปิยะธิดา อิทธิระวิวงศ์ ประธานบริหารกลุ่มธุรกิจคลาวด์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “สำหรับในปี 2023 นี้ หัวเว่ยจะยังคงเดินหน้าเพาะบ่มบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพ โดยมุ่งเน้นใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ โครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ โครงการวิศวกรพลังงานดิจิทัล และการสร้างความเท่าเทียมทางดิจิทัล” โดยโครงการ Women in Tech นี้ถือเป็นการจัดงานเพื่อเชื่อมวัตถุประสงค์ทั้ง 3 ด้าน


“Women in Tech” ได้จัดแสดงบูธเรียนรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และโซลูชันพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือนที่จะช่วยสร้างความยั่งยืนยิ่งขึ้นให้กับโลก อีกทั้งจะได้สัมผัสเทคโนโลยีสมาร์ตโฟน สมาร์ตวอตช์ โซลูชันโลกเสมือนจริง ทั้ง AR (Augmented Reality) และ XR (Extended Reality) ที่เข้ามาช่วยส่งมอบความบันเทิงแห่งอนาคต 


ด้านนางมนทกานติ์ สุวรรณทรรภ กิตติไพศาลศิลป์ เจ้าหน้าที่บริหารแผนงานด้านวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพฯ ได้เน้นย้ำพันธกิจขององค์การยูเนสโกในการส่งเสริมความเท่าเทียมระหว่างเพศ ผ่านทางระบบการศึกษาตั้งแต่ชั้นปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษา เช่นเดียวกับการจัดงานของหัวเว่ย ตลอดจนผลักดันการวางแผนโครงสร้างหลักสูตรการเรียนการสอนเพื่อการฝึกอบรมครูอาจารย์


ซึ่งภายในงานนี้ก็จะมีการจัดนิทรรศการแผนงานและโครงการต่าง ๆ ที่ดำเนินการโดยองค์การยูเนสโก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 17 เป้าหมาย นอกจากนี้ ภายในงาน ผู้สนใจยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการนักพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ยได้อีกด้วย 


การผลักดัน “Women in Tech” ออกสู่สังคม

นอกจากจัดงานในกรุงเทพฯ แล้ว หัวเว่ยยังนำ ‘รถดิจิทัลเพื่อสังคม’ มาจัดแสดงให้บุคคลทั่วไปได้เข้าเยี่ยมชมเป็นครั้งแรก รถดิจิทัลคันนี้เป็นโครงการเพื่อสังคมที่หัวเว่ย ประเทศไทย จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ทักษะความรู้ด้านดิจิทัลให้กับนักเรียน คนงาน และบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คนใน 12 จังหวัด ทั่วประเทศ 


หัวเว่ยนั้นเชื่อมั่นว่าโครงการดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านดิจิทัล ซึ่งในปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วมในโครงการแล้ว 27 โรงเรียน สะท้อนถึงความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มการเข้าถึงด้านการศึกษาดิจิทัลในพื้นที่ห่างไกล 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุนันฑา สดสี คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมดิจิทัล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ให้ความเห็นว่า “มหาวิทยาลัยต้องทำงานร่วมกับภาครัฐ และพันธมิตรจากภาคอุตสาหกรรมอย่างหัวเว่ย เพื่อใช้ประโยชน์สูงสุดจากเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนโลกอนาคตแห่งดิจิทัลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น” 

      

“Women in Tech” คือหัวใจของทรัพยากรมนุษย์

ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยและสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ได้จัดงาน ‘Girls in ICT’ เพื่อส่งเสริมความรู้และฝึกอบรมหลักสูตรเทคโนโลยี 5G, คลาวด์ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้แก่นักเรียนมากกว่า 40 คน ตัวแทนนักเรียนจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ และต่อยอดเป็นแผนการระยะเวลา 3 ปี เพื่อฝึกอบรมนักพัฒนาคลาวด์จำนวน 20,000 คน พร้อมทั้งจุดประกายนักเรียนนักศึกษา ทั้งชายและหญิง ให้เข้าร่วมหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยีคลาวด์ของหัวเว่ย (Huawei Developer Program) 

  

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา หัวเว่ย ประเทศไทย ยังได้รับรางวัลไพร์ม มินิสเตอร์ อะวอร์ด (Prime Minister Award) ด้าน ‘สุดยอดองค์กรดีเด่นด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์’ (Best of Contributor in Human Capital Development Award) จากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติอีกด้วย


ที่มาข้อมูล Huawei


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง