โดรนสอดแนมอเมริกาสุดล้ำประจำการที่ญี่ปุ่นแล้ว บินนาน 24 ชั่วโมง บินไกล 15,200 กิโลเมตร
กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา (U.S. Navy) ส่งโดรนสอดแนมรุ่น เอ็มคิว โฟร์ซี ไทรทัน (MQ-4C Triton) ของบริษัท นอร์ธอร์ป กรัมแมน (Northrop Grumman) ซึ่งเป็นหนึ่งในโดรนสอดแนมที่ทันสมัยที่สุดในโลก จำนวน 2 ลำ ไปปฏิบัติหน้าที่ในญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยใช้ฐานบินในเขตหมู่เกาะโอกินาวาเป็นฐานบังคับโดรน
ข้อมูลโดรนสอดแนมอเมริกาในญี่ปุ่น
Northrop Grumman MQ-4C Triton เป็นระบบอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aircraft System: UAS) ที่เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2013 มีความสูง 4.6 เมตร ปีกยาว (Wingspan) 39.9 เมตร ยาว 14.5 เมตร ซึ่งถูกเปรียบเทียบเป็นเครื่องบินโดยสาร Boeing 737 MAX 7 ที่มีลำตัวสั้นกว่า
MQ-4C Triton ใช้นักบินภาคพื้นดินทั้งหมด 4 คน ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์เจ็ตแบบกังหันใบพัด (Turbofan engine) ของโรลส์-รอยซ์ (Rolls-Royce) รุ่น AE 3007 ทำความเร็วสูงสุด 575 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพดานการบินสูงสุดที่ 50,000 ฟุต หรือประมาณ 15.2 กิโลเมตร ระยะการบิน 15,200 กิโลเมตร ระยะเวลาทำการบิน (Endurance) ระหว่าง 24 - 30 ชั่วโมง
จุดเด่นสำคัญของ MQ-4C Triton คือการออกแบบสำหรับภารกิจรวบรวมข่าวกรอง สอดแนม และลาดตระเวณ (Intelligence, Surveillance and Reconnaissance: ISR) ด้วยการติดเซนเซอร์ต่าง ๆ จำนวนมาก เช่น เรดาร์ย่านความถี่เอกซ์ (X-band AESA radar) แบบ 360 องศา สามารถสำรวจพื้นที่รวมกว่า 7 ล้านตารางกิโลเมตร ในระยะเวลาเพียง 24 ชั่วโมง
รวมไปถึงเซนเซอร์อินฟราเรดแบบ EO/IR (Raytheon MTS-B multi-spectral EO/IR) ที่มีระบบชี้เป้าด้วยเลเซอร์ พร้อมตัววัดระยะ และระบบกล้องที่ถ่ายทอดสดไปยังศูนย์ภาคพื้นดินอีกด้วย
ภารกิจของโดรนสอดแนมอเมริกาในญี่ปุ่น
โดยภารกิจของ MQ-4C Triton จะเป็นการทำภารกิจ ISR ในพื้นที่หมู่เกาะต่าง ๆ ของญี่ปุ่น ท่ามกลางข้อขัดแย้งด้านเขตแดนในพื้นที่ ซึ่งสหรัฐอเมริกาต้องการแสดงการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดกับญี่ปุ่นที่เป็นชาติพันธมิตร
ในปัจจุบัน MQ-4C Triton มีเพียงสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียเท่านั้นที่มีโดรนรุ่นนี้เข้าประจำการ โดยสหรัฐอเมริกาได้วางแผนให้ MQ-4C Triton เข้าประจำการทั้งหมด 68 ลำ ในขณะที่ออสเตรเลียมีโดรนรุ่นนี้อยู่ทั้งหมด 4 ลำ ที่เพิ่งได้รับเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา จากแผนการสั่งซื้อทั้งหมด 7 ลำ
ข้อมูลจาก USNI, Defence Blog, Northrop Grumman, Riotact, PS News
ภาพจาก Wikipedia