รีเซต

รัฐประหารเมียนมา : ผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารหญิงผู้กระโดดตึกเสียชีวิตเพื่อหนีการจับกุมของตำรวจ

รัฐประหารเมียนมา : ผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารหญิงผู้กระโดดตึกเสียชีวิตเพื่อหนีการจับกุมของตำรวจ
ข่าวสด
15 สิงหาคม 2564 ( 12:10 )
30
รัฐประหารเมียนมา : ผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารหญิงผู้กระโดดตึกเสียชีวิตเพื่อหนีการจับกุมของตำรวจ

 

แม้จะมีข่าวความรุนแรงอันโหดร้ายจากเมียนมามาตลอด 6 เดือนที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้ก็ยังสามารถทำให้ทั้งประเทศต้องตกตะลึง ผู้ประท้วง 5 รายเลือกกระโดดลงจากอาคารที่พวกเขากำลังหลบซ่อนอยู่ ไม่ยอมให้ตำรวจจับกุม มีบางคนที่เสียชีวิตทันที

 

 

ตำรวจประณามว่าคนกลุ่มนี้เป็นผู้ก่อการร้าย แต่สามีของเหยื่อรายหนึ่งบอกกับบีบีซีว่า เธอเป็นภรรยาและแม่ผู้ช่างเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และคอยทำสิ่งต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้อื่นพ้นจากความเจ็บปวด

 

 

นี่คือเรื่องราวการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของผู้หญิงคนนี้

 

 

เมื่อบ่ายวันอังคาร (10 ส.ค.) ที่ผ่านมา นักเคลื่อนไหวหนุ่มสาว 8 คนถูกตำรวจบุกล้อมเอาไว้

 

 

ย้อนไปเมื่อเดือน ก.พ. กองทัพเมียนมายึดอำนาจ และเข้าปราบปรามผู้ประท้วงรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 900 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายพันคน

 

 

วาย วาย มยินต์ เป็นหนึ่งในผู้ออกมาประท้วง เป็นหนึ่งในคน 5 คนที่เลือกกระโดดลงจากอาคารพาณิชย์แห่งหนึ่งที่ใจกลางนครย่างกุ้ง ตกลงไปที่ทางเดินคอนกรีตด้านล่าง แทนที่จะยอมให้ตำรวจจับ มีเธอและเพื่อนผู้ประท้วงอีกอย่างน้อย 1 รายที่เสียชีวิตทันที

อีก 3 คนที่เหลือถูกนำตัวไปที่โรงพยาบาลทหาร

 

 

ในรูปของเธอที่ถูกเผยแพร่หลังเหตุการณ์นี้ วาย วาย มยินต์ กำลังยืนหลังตรง ชูสามนิ้วซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของคนหนุ่มสาวในการเคลื่อนไหวต่อต้านการกดขี่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

 

ตำรวจบอกว่ากลุ่มผู้ประท้วงที่เธอไปอยู่ด้วยเป็นผู้ก่อการร้ายที่กำลังวางแผนจะวางระเบิด โดยเผยแพร่คำสารภาพของผู้ประท้วง 2 คนที่ไม่ได้กระโดดตึกและถูกจับกุมที่นั่น รวมถึงรูปภาพซึ่งตำรวจบอกว่าเป็นส่วนประกอบในการทำระเบิดด้วย

 

 

อย่างไรก็ดี โซ มัต ทู สามีของเธอ บอกเล่าเรื่องราวของผู้หญิงคนนี้ในแง่มุมที่ต่างออกไป

 

 

เขาต้องบอกลาภรรยาซึ่งเขาเรียกเล่น ๆ ว่าแอปเปิล ในงานศพหมู่ที่ทหารจัดขึ้นให้กับเธอและผู้เสียชีวิตคนอื่น ๆ รวมถึงผู้ประท้วงที่กระโดดลงมาเสียชีวิตพร้อมเธอด้วย

 

 

ในงานศพดังกล่าว ทางการห้ามถ่ายภาพ และครอบครัวก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บเถ้าอัฐิของคนรักไปด้วย

 

 

กองทัพเมียนมาพยายามจะห้ามไม่ให้มีการจัดงานศพของผู้ที่เสียชีวิตขณะออกมาประท้วงเพราะบ่อยครั้งที่งานดังกล่าวได้กลายเป็นการชุมนุมประท้วงไปด้วย และบางครั้งกองทัพเลือกที่จะเผาร่างของผู้ตายอย่างลับ ๆ ไม่ได้ส่งร่างคืนให้กับญาติของพวกเขา

โซ มัต ทู ชูดอกไม้ให้เธอในงานศพ แล้วก็ได้แค่เอาดอกไม้นั้นกลับบ้านแทนเถ้าอัฐิ

 

Getty Images

เข้าร่วมการประท้วง

สามีภรรยาคู่นี้เป็นชนชั้นกลางเชื้อสายจีนที่มีชีวิตสบาย มีลูกสาววัย 6 ขวบหนึ่งคน โซ มัต ทู เป็นทันตแพทย์ส่วน วาย วาย มยินต์ ทำธุรกิจค้าขายเพชรพลอยและเครื่องประดับ

สามีเธอเล่าว่าภรรยาถูกเลี้ยงดูมาโดยป้า 2 คน และก็มีเงินให้อยู่กินสบาย ๆ เสมอ

เธอชอบไปเที่ยวกลางคืนกับเพื่อน แต่ก็มีจิตใจชอบช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคเงินให้ชุมชนที่ยากจนหรือกลุ่มช่วยเหลือสัตว์

เขาเล่าว่าเขาและภรรยาไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเลย โดย วาย วาย มยินต์ เคยแม้กระทั่งบอกว่าควรจะอยู่ห่าง ๆ เรื่องนี้เพราะว่าเป็นเรื่องอันตราย

ตอนเกิดรัฐประหารเมื่อหลายเดือนที่แล้ว เธอก็ยังไม่ได้มีปฏิกิริยาอะไรทันที

แต่เขาบอกว่าภรรยาเป็นคนมีน้ำจิตน้ำใจดี และรู้สึกสะเทือนใจหลังผู้ประท้วงสาวที่ชื่อ เมียะ ตแวะ ตแวะ ข่าย เสียชีวิตเป็นคนแรกหลังถูกยิงที่กรุงเนปิดอว์

 

SOE MYAT THU
ก่อนหน้าการรัฐประหาร สามีภรรยาคู่นี้ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน

 

 

หลังจากนั้นเป็นต้นมา วาย วาย มยินต์ โอนเงินบริจาคช่วยเหลือครอบครัวของ เมียะ ตแวะ ตแวะ ข่าย และก็เริ่มโพสต์วิจารณ์ทางการมากขึ้นที่ปราบปรามผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง

 

 

เขาบอกว่าเขาและภรรยารู้ดีว่าไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เมื่อภรรยาก็เริ่มวิพากษ์วิจารณ์ทางเฟซบุ๊กอย่างเปิดเผยมากขึ้นหลังเห็นผู้คนโดนทหารยิงเสียชีวิต โซ มัต ทู บอกว่าภรรยาเป็นคนกล้าหาญและพร้อมจะเข้าเสี่ยงมากกว่าเขา

 

 

ก่อนหน้านี้ วาย วาย มยินต์ เคยถูกจับขณะชุมนุมมาครั้งหนึ่งแล้ว โดยสามีต้องไปช่วยเจรจาจนได้รับการปล่อยตัวออกมา

โซ มัต ทู เล่าว่าเธอโกรธมากที่ถูกเตะและทุบตี หลังจากนั้น เขาเตือนเธอไม่ให้ไปประท้วงอีกเพราะว่ามีลูกสาวต้องดูแล

 

หลังจากนั้น เขาเชื่อว่าภรรยาไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องแล้ว จากที่เป็นการประท้วงอย่างสันติหลังการรัฐประหาร การเคลื่อนไหวบางส่วนได้เปลี่ยนเป็นขบวนการใต้ดินที่ใช้ปืนและระเบิดทำมือต่อสู้ และเชื่อกันว่าอยู่เบื้องหลังการลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่ทำงานร่วมมือกับทหาร

 

 

โซ มัต ทู บอกว่าเขารู้จักกับนักเคลื่อนไหวคนอื่น ๆ ที่อยู่กับภรรยาในวันนั้น โดยทั้งหมดล้วนเป็นสมาชิกของกลุ่ม Pzundaung Botahtaung Young Strike Committee ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายกลุ่มที่ก่อตั้งในนครย่างกุ้งไม่กี่วันหลังจากการรัฐประหาร

 

 

โซ มัต ทู บอกว่าภรรยาเคยใช้เวลาอยู่กับเพื่อนเหล่านี้ และบางครั้งก็ชวนมากินข้าวที่บ้านด้วย และก็ให้ใช้อินเทอร์เน็ต

 

"ผมเสียใจกับพวกเขาและก็ชื่นชมพวกเขาที่พร้อมจะออกไปเผชิญอันตรายในแบบที่ผมจะไม่ทำ"

 

อย่างไรก็ดี เขาไม่รู้เลยว่าภรรยาจะออกไปเมื่อวันที่เกิดเหตุ เธอแค่บอกเขาว่าจะออกไปข้างนอกสักพัก ไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้าหรือแต่งหน้าอย่างที่เคย

 

ตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่าบทบาทเธอในกลุ่มนี้คืออะไรกันแน่ ไม่แน่ใจว่าเธอเป็นสมาชิกหรือเปล่าด้วยซ้ำ แต่ก็เป็นไปได้ที่เธอคอยช่วยเหลือเรื่องค่าเช่าและในด้านอื่น ๆ

 

ผู้ประท้วงในเมียนมาตอนนี้ต้องเคลื่อนย้ายไปตามที่ต่าง ๆ เรื่อยเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม

 

สามีเธอคิดว่าการคิดถึงการเจ็บปวดของผู้อื่น และความมุ่งมั่นที่จะไม่รับต่ออำนาจของทหาร ที่นำเธอไปสู่จุดจบเช่นนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง