เครื่องบินขับไล่ KAAN ของตุรกี 6 ลำแรก เตรียมใช้ในปี 2030 ลดการพึ่งพาชาติมหาอำนาจ

สถาบันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หรือ SSB (ภาษาตุรกี: Savunma Sanayii Başkanlığı) ประกาศว่าตุรกีจะสั่งซื้อ ข่าน (KAAN) เครื่องบินขับไล่พหุภารกิจยุคที่ 5 ของประเทศ ล็อตแรกจำนวน 6 ลำ ซึ่งคาดว่าจะเข้าประจำการได้ภายในปี 2030 นี้ เสริมทัพกองทัพอากาศท่ามกลางสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นในภูมิภาค
ข้อมูลเครื่องบินขับไล่ KAAN ตุรกี
KAAN หรือชื่อเดิมคือ MMU (Milli Muharip Ucak) ในภาษาตุรกี หรือรหัส TAI TF-X ในภาษาอังกฤษ เริ่มต้นการพัฒนาในปี 2019 โดยบริษัท Turkish Aerospace Industries (TAI)
จุดเด่นของ KAAN คือ ความสามารถล่องหน (Stealth) ที่คาดว่าระดับค่า RCS หรือค่าการสะท้อนเรดาร์อยู่ในระดับต่ำ ใกล้เคียงกับ F-35 ซึ่งมีระดับค่า RCS ประมาณ 0.001–0.005 ตารางเมตร (m²)
ข้อมูลทางเทคนิคเพิ่มเติมของ KAAN
- ใช้นักบิน 1 นาย
- น้ำหนักขึ้นบินสูงสุด (Max takeoff weight: MTOW) 34,750 กิโลกรัม
- เครื่องยนต์เจ็ตแบบเทอร์โบแฟน General Electric F110 จำนวน 2 ตัว
- แรงขับดันเครื่องยนต์ตัวละ 76.3 กิโลนิวตัน (kN, แบบ dry) , สูงสุด 131 kN สำหรับการทำสันดาปท้าย (Afterburner)
- ความเร็วสูงสุด Mach 1.8 หรือประมาณ 2,205 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- เพดานการบิน (Service ceiling) 16,764 เมตร
- ติดตั้งระบบเรดาร์ AESA ของตุรกี MURAD-600A
- ระบบค้นหาและติดตามเป้าแบบอินฟราเรด (Infrared Search and Track: IRST)
- มีช่องเก็บอาวุธภายในลำตัว (weapons bays) เพื่อลดการสะท้อนเรดาร์
- หมวกนักบินแบบมีจอแสดงผล TULGAR
- จุดติดตั้งอาวุธ (Hardpoint) รวมทั้งหมด 14 จุด แบ่งเป็นภายในช่อง 8 จุด และที่ใต้ปีกสำหรับภารกิจเสริมอีกฝั่งละ 3 จุด
- รองรับจรวดอากาศสู่อากาศ จรวดอากาศสู่พื้น จรวดร่อน (Cruise missile) และระเบิดนำวิถีด้วยเลเซอร์แบบต่าง ๆ ที่ผลิตขึ้นเองในประเทศ
การซื้อเครื่องบินขับไล่ KAAN ตุรกี
รัฐบาลตุรกีได้ประกาศจัดซื้อ KAAN ที่เป็นตัวต้นแบบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งจะเป็นการผลิตต้นแบบไปพร้อมกับการทดสอบการบินในเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น การบินในอุโมงค์ลม การทดสอบความทนทานในสภาวะสุดขั้ว การควบคุมการบิน การขึ้นบินในความเร็วสูง ฯลฯ ก่อนที่จะสั่งซื้อตัวที่เสร็จสมบูรณ์เข้าประจำการในกองทัพอากาศของตุรกีต่อไป
โดยก่อนหน้านี้รัฐบาลตุรกีประกาศว่า อินโดนีเซียจะเป็นลูกค้าต่างชาติรายแรกที่ได้รับการส่งออกเครื่องบินขับไล่ KAAN จำนวน 48 ลำ ซึ่งคาดว่าข้อตกลงนี้มีมูลค่าราว 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 326,200 ล้านบาท เมื่อ 12 มิถุนายนที่ผ่านมาอีกด้วย
การพัฒนา KAAN เกิดขึ้นภายใต้นโยบายทางการเมืองและการทหารของตุรกีที่ต้องการเป็นอิสระในอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ตุรกีซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 ของรัสเซีย แม้ว่าจะเป็นชาติสมาชิกของ NATO ที่ถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามก็ตาม นอกจากนี้ ในรุ่นย่อยถัดไป (Block) คาดว่า TAI จะพัฒนาเครื่องยนต์ภายในประเทศเพื่อทดแทน General Electric F110 ที่มาจากสหรัฐฯ อีกด้วย
Tag
ยอดนิยมในตอนนี้
