รีเซต

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (8 พ.ค. 2565)

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (8 พ.ค. 2565)
TeaC
8 พฤษภาคม 2565 ( 16:49 )
665

ข่าววันนี้ สถานการณ์วิกฤต "รัสเซียยูเครน" บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 และประธานาธิบดียูเครน จะจัดประชุมทางไกลในวันอาทิตย์นี้  ส่วนประธานาธิบดีเซเลนสกี เชิญนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เดินทางเยือนยูเครนในวันที่ 9 พฤษภาคม อ่าน : เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' (7 พ.ค.2565)

 

เกาะติดสถานการณ์ 'รัสเซีย-ยูเครน' 8 พ.ค.2565)

 

รัฐบาลรัสเซียจะไม่จัดฉลองวันแห่งชัยชนะที่เมืองมารีอูโปล 

ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกรัฐบาลรัสเซีย เผยเมื่อวานนี้ (7 พฤษภาคม) จะไม่มีการจัดฉลองวันแห่งชัยชนะ หรือ วิคตอรี เดย์ ฉลองวาระครบรอบปีที่ 77 แห่งชัยชนะของกองทัพอดีตสหภาพโซเวียตที่มีเหนืออดีตกองทัพนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเมืองท่ามารีอูโปล ทางใต้ของยูเครน

 

หลังรัสเซียกำลังพยายามอย่างหนักเพื่อเข้าควบคุม โดยยังเหลือที่มั่นสุดท้ายเป็นโรงงานเหล็ก อาซอฟสทัล ที่ทหารยูเครนและนักรบหน่วยอาซอฟ ใช้เป็นฐานที่มั่นสู้รบต่อต้าน เปสคอฟ ระบุด้วยว่า รัสเซียไม่มีแผนส่งเจ้าหน้าที่ไปเมืองมารีอูโปลด้วย แต่เมื่อเวลามาถึง จะมีการจัดฉลองวันแห่งชัยชนะอย่างยิ่งใหญ่ที่เมืองมารีอูโปล

 

การแถลงของโฆษกรัฐบาลรัสเซีย มีขึ้นขณะยูเครนและและรัสเซีย ต่างยืนยันภารกิจด้านมนุษยธรรม อพยพพลเรือนออกมาจากโรงงานเหล็กอาซอฟสทัล ออกมาได้ทั้งหมดแล้ว  

 

โดยประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน ระบุว่า มีพลเรือนมากกว่า 300 คน ได้รับการอพยพออกมาจากโรงงานเหล็ก อาซอฟสทัล แต่กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุว่า มีพลเรือนได้รับการอพยพตลอดช่วง 3 วันที่ผ่านมา เพียง 51 คน

 

วันเดียวกันนั้น เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก หรือ WHO พร้อมไมเคิล ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสุขภาพของ WHO เดินทางไปที่กรุงเคียฟของยูเครน

 

โดยเข้าพบหารือกับรมว.ว่าการกระทรวงสาธารณสุขและเจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของยูเครน เพื่อหารือเกี่ยวกับความต้องการด้านระบบรักษาสุขภาพในยูเครน และช่องทางที่ WHO จะสามารถให้การช่วยเหลือได้ถูกจุด  

 

เกเบรเยซุส ระบุด้วยว่า WHO จะยังคงให้การช่วยเหลือยูเครนอย่างต่อเนื่อง

 

บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศ G-7 และประธานาธิบดียูเครน จะจัดประชุมทางไกลในวันอาทิตย์นี้    

ทำเนียบขาว เปิดเผยว่า เหล่าผู้นำกลุ่ม G-7 รวมถึงประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ จะประชุมทางไกลด้วยวิดีโอ คอล ในวันอาทิตย์นี้ (8 พฤษภาคม) ร่วมกับประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เพื่อแสดงความเป็นเอกภาพ ก่อนรัสเซียฉลองวันแห่งชัยชนะ

 

โฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติประจำทำเนียบขาว บอกว่า การประชุมครั้งนี้ จะมุ่งไปที่สถานการณ์ล่าสุดในเหตุการณ์ที่รัสเซียยกกองทัพบุกยูเครน และเป็นความพยายามที่จะสนับสนุนยูเครนของกลุ่ม G-7 ซึ่งผู้นำ G-7 ประกอบด้วยผู้นำสหรัฐ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น, แคนาดา และอิตาลี จะประชุมร่วมกับเซเลนสกี ในตอนเช้าวันอาทิตย์ (8 พฤษภาคม) ตามเวลาท้องถิ่นของสหรัฐฯ

 

เจน ซากี บอกว่า ช่วงเวลาของการประชุมทางไกลเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเกิดขึ้น ก่อนที่ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย ร่วมพิธีวันแห่งชัยชนะเหนือกองทัพนาซีในวันที่ 9 พฤษภาคม  

 

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ จะหารือถึงมาตรการคว่ำบาตรอีกระลอกต่อกลุ่มผู้มีอำนาจ และบริษัทสัญชาติรัสเซีย เนื่องจากไบเดน บอกว่า เขามีแผนหารือถึงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียเพิ่มเติม หลังสหภาพยุโรป หรือ EU เสนอคว่ำบาตรรัสเซียเข้มข้น รวมถึงคว่ำบาตรน้ำมันรัสเซียด้วย

 

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี จะเข้าร่วมประชุมทางไกลด้วย และมีกำหนดแถลงต่อประชาชนชาวเยอรมนีในวันพรุ่งนี้ (8 พฤษภาคม)

 

ประธานาธิบดีเซเลนสกี เชิญนายกรัฐมนตรีเยอรมนี เดินทางเยือนยูเครนในวันที่ 9 พฤษภาคม

ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน กล่าวผ่านทางวิดีโอ คอล ต่อ ‘ชัทแธม เฮาส์’ ของสหราชอาณาจักร เรียกร้องนายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ ผู้นำเยอรมนี ให้เดินทางเยือนกรุงเคียฟของยูเครนในวันที่ 9 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันรำลึกถึงชัยชนะของสหภาพโซเวียตในสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนกับเยอรมนีตึงเครียด เนื่องจากประธานาธิบดีเยอรมนี ยกเลิกแผนการเยือนยูเครนเมื่อเดือนที่แล้ว

 

เซเลนสกี ยังกล่าวว่า นายกรัฐมนตรีโชลซ์ของเยอรมนี สามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางการเมือง ด้วยการเดินทางมายูเครนในวันดังกล่าว      

 

ทั้งนี้ วันแห่งชัยชนะในวันที่ 9 พฤษภาคม เป็นหนึ่งในวันสำคัญที่สุดของรัสเซีย เพราะเป็นวันที่กองทัพโซเวียต ชนะกองทัพนาซีเยอรมนี

 

ส่วนสถานการณ์ในยูเครนที่เมืองมารีอูโปลนั้น ประธานาธิบดียูเครน บอกว่า จะไม่มีการเจรจาใด ๆ กับรัสเซีย หากพลเรือนหรือทหารยูเครนถูกฆ่าตาย หลังได้รับอิสรภาพ  

 

ทั้งนี้ เมืองมารีอูโปลถูกทหารรัสเซียปิดล้อมนานถึง 10 สัปดาห์ และโรงงานเหล็กอาซอฟสตัล เป็นพื้นที่สุดท้ายของเมืองมารีอูโปล ที่ยังคงอยูภายใต้การควบคุมของนักรบยูเครน  

 

ประธานาธิบดีเซเลนสกี บอกว่า ชาวรัสเซียไม่เชื่อว่า พวกเขาสามารถรับผิดชอบอาชญากรรมสงคราม เพราะพวกเขาเป็นรัฐนิวเคลียร์ที่มีอำนาจ  

 

อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย เข้าสู่วันที่ 72 แล้ว และไม่มีวี่แววว่า สงครามจะยุติ

 

รัสเซียเปิดภาพ UN, ICRC อพยพชาวเมืองมารีอูโปลเมื่อวานนี้ วันที่ 2 ของการหยุดยิงของรัสเซีย

กระทรวงกลาโหมรัสเซียเปิดภาพขณะสหประชาชาติ หรือ UN และกาชาดสากล หรือ ICRC กำลังอพยพชาวเมืองมารีอูโปลเป็นรอบที่ 3 เมื่อวานนี้ (6 พฤษภาคม) ในวันที่ 2 ของการหยุดยิงของรัสเซีย

 

แถลงการณ์กระทรวงกลาโหมรัสเซีย ระบุ พลเรือนยูเครนได้รับการอพยพออกจากโรงงานเหล็กอาซอฟสตัลทั้งหมด 50 คน รวมเด็ก 11 คนเมื่อวานนี้ (6 พฤษภาคม)

 

ด้านรองนายกรัฐมนตรี อิรีนา เวเรชชุค ของยูเครน ยืนยันเช่นเดียวกันว่า พลเรือนยูเครน 50 คนรวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้สูงอายุ ได้รับการช่วยเหลืออพยพออกจากโรงงานเหล็กดังกล่าวแล้ว

 

นอกจากนี้ ยังปรากฎภาพรถบัสอพยพของ UN-ICRC นำชาวมารีอูโปล 25 คนรวมถึงเด็ก ๆ ที่อพยพออกมาจากโรงงานเหล็กอาซอฟสตัล เดินทางถึงเมืองเบนซิเมนเน อยู่ในความควบคุมของรัสเซียเมื่อวานนี้ (6 พฤษภาคม)

 

ด้าน Tass News ของรัสเซีย รายงานว่า รถบัสอีกคันที่มีชาวเมืองมารีอูโปลอีก 23 คน ออกจากโรงงานเหล็กแล้ว กำลังเดินทางตามมา ด้านเจ้าหน้าที่ในเมืองเบนซิเมนเนคาดว่า จะมีรถบัสอพยพอีกหลายคันเดินทางมายังเมืองนี้

 

ก่อนหน้านี้ ชาวเมืองมารีอูโปลที่อพยพออกมาด้วยความช่วยเหลือของ UN-ICRC ก็มายังเมืองเบนซิเมนเนนี้เป็นเมืองแรก ก่อนจะอพยพต่อไปยังเมืองซาร์โปริซห์เซีย ที่อยู่ในความควบคุมของยูเครน และชาวเมืองบางคนเลือกอพยพไปยังเมืองที่รัสเซียควบคุม

 

ขณะเดียวกัน ทางฝ่ายยูเครนกล่าวหารัสเซียยังโจมตีโรงงานแห่งนี้อยู่ เพื่อเร่งยึดให้ได้ก่อนถึงวันจันทร์ที่ 9 พฤษภาคมนี้ ซึ่งเป็น “วันฉลองชัยชนะ” ของรัสเซียเหนือนาซีเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีรายงานข่าวว่า รัสเซียจะจัดสวนสนามเพื่อฉลองวันดังกล่าวนาน 3 วัน

 

การอพยพชาวเมืองมารีอูโปลรอบที่ 3 เกิดขึ้นหลังจากการอพยพชาวเมืองออกจากโรงงานเหล็กและพื้นที่อื่น ๆ ในเมืองนี้ 2 รอบแรกในสัปดาห์นี้ ประสบความสำเร็จ

 

ส่วนในวันนี้ (7 พฤษภาคม) ทั้งยูเครนและรัสเซียยืนยันตรงกันว่า การอพยพชาวเมืองมารีอูโปลจะดำเนินต่อไปในวันนี้ วันสุดท้ายที่รัสเซียประกาศหยุดยิงมารีอูโปลตั้งแต่วันพฤหัสถึงวันเสาร์ (5-7 พฤษภาคม) เพื่อเปิดเส้นทางอพยพฉนวนมนุษยธรรมให้อพยพชาวมารีอูโปลได้อย่างปลอดภัย โดยการหยุดยิงของรัสเซียจะสิ้นสุดในเวลา 16.00 น. วันนี้ตามเวลาท้องถิ่น

 

การเริ่มอพยพชาวเมืองมารีอูโปลเกิดขึ้นหลังจาก อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการ UN ได้เดินทางเยือนทั้งรัสเซียและยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และได้พบกับทั้งประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และประธานาธิบดี โวโลดิมีร์ เซเลนสกี

 

การเยือนของกูแตร์เรสช่วยแผ้วถางหนทางให้ UN-ICRC สามารถเริ่มปฏิบัติการอพยพชาวเมืองมารีอูโปลออกจากโรงงานเหล็กและพื้นที่อื่น ๆ ในเมืองนี้ได้ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่แล้ว (1 พฤษภาคม) เป็นต้นมา โดยขบวนรถบัสของ UN ไปยังเมืองอื่นในยูเครนได้อย่างปลอดภัยราว 500 คนแล้ว

 

คณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นออกแถลงการณ์กรณียูเครนเป็นครั้งแรก กว่า 2 เดือนหลังรัสเซียปฏิบัติการในยูเครน

คณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ออกแถลงการณ์กรณียูเครนเป็นครั้งแรกเมื่อวานนี้ 6 พฤษภาคม แสดงความเป็นห่วงกังวลอย่างลึกซึ้ง เกี่ยวกับการธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของยูเครน พร้อมทั้งสนับสนุนความพยายามของเลขาธิการยูเอ็น ในการแสวงหาหนทางแก้ปัญหาอย่างสันติ

 

แถลงการณ์นี้ได้รับการเห็นชอบอย่างเป็นเอกฉันท์ จากทั้ง 15 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงฯ ซึ่งรวมถึงรัสเซียด้วย ประเทศผู้ร่างแถลงการณ์ คือนอร์เวย์กับเม็กซิโก

 

แถลงการณ์ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ดังกล่าว ยังเตือนประเทศสมาชิกยูเอ็นทุกประเทศ ให้ระลึกว่า ภายใต้กฎบัตรของยูเอ็นนั้น ประเทศสมาชิกทุกประเทศมีหน้าที่รับผิดชอบ ในการยุติความขัดแย้งระหว่างประเทศด้วยสันติวิธี

 

แถลงการณ์นี้ ยังขอให้ อันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการยูเอ็น รายงานสถานการณ์ล่าสุดในยูเครนต่อคณะมนตรีความมั่นคงฯ โดยไม่ชักช้า

 

นับเป็นแถลงการณ์แรกของคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็น ตั้งแต่รัสเซียเริ่มปฏิบัติการในยูเครนเข้าสู่กลางเดือนที่ 3 แล้วตั้งแต่เริ่มปฏิบัติการเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์เป็นต้นมา ก่อนหน้านี้ ความพยายามที่จะออกเป็นมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ ไม่สำเร็จ ทั้งนี้ การออกเป็นมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ มีน้ำหนักมากกว่าการออกเป็นแถลงการณ์

 

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หนึ่งวันหลังรัสเซียเปิดปฏิบัติการในยูเครน คณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ลงมติเพื่อรับร่างมติประณามว่าเป็นการรุกรานยูเครน แต่รัสเซียในฐานะประเทศสมาชิกถาวรคณะมนตรีความมั่นคงฯ ได้ใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้ โดยมี 3 ประเทศสมาชิกคณะมนตรีฯ งดออกเสียง คือจีน อินเดีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ ยูเออี

 

ทั้งนี้ การรับร่างมติใด ๆ ของคณะมนตรีความมั่นคงฯ จะต้องได้รับเสียงสนับสนุน 9 ชาติจากชาติสมาชิกทั้งถาวรและไม่ถาวรทั้งหมด 15 ชาติ และจะต้องไม่ถูก 5 ชาติสมาชิกถาวรใช้สิทธิยับยั้ง หรือวีโต้ โดย 5 ชาติสมาชิกถาวรคือ สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีนและรัสเซีย

 

แต่ทางด้านสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ซึ่งมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 193 ประเทศ และไม่มีประเทศใดมีสิทธิ์ใช้สิทธิยับยั้ง ได้ลงมติกรณียูเครนไปแล้ว 2 มติ ตำหนิรัสเซีย “รุกรานยูเครน” และสร้างสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนอันเลวร้ายในยูเครน เรียกร้องรัสเซียยุติการสู้รบและถอนทหาร คุ้มครองพลเรือนยูเครน และยอมให้ความช่วยเหลือเข้าถึงชาวยูเครน

 

แม้ว่ามติของสมัชชาใหญ่ยูเอ็น ไม่มีผลผูกมัดเหมือนกับมติของคณะมนตรีความมั่นคงฯ แต่ก็มีน้ำหนักทางการเมือง และการลงมติเกี่ยวกับยูเครนด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นตำหนิรัสเซียถึง 2 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงความโดดเดี่ยวของรัสเซียในเวทีโลก

 

ข้อมูล : TNN World

ภาพ : Reuters

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง