จุฬาฯ พร้อมผลักดันการสร้างความยั่งยืนในระดับภูมิภาคอาเซียน ผ่านผลงานวิจัย และมอบรางวัล ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดในไทย-อาเซียน
หลักสูตรปริญญาโทสาขาการจัดการแบรนด์และการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดงาน “ASEAN and Thailand’s Top Corporate Brands 2021” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 12 ในการมอบรางวัลให้แก่องค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุดของประเทศไทยและในอาเซียน ประจำปี 2564 โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ อธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานมอบรางวัล และ ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ให้เกียรติเป็นวิทยากร ในหัวข้อ Sustainability and Corporate Brand Equity ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศ.ดร.กุณฑลี รื่นรมย์ และ ผศ. ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้สร้างเครื่องมือวัดมูลค่าแบรนด์องค์กร CBS Valuation ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นในการทำงานวิจัยที่เลือก Corporate Brand เพราะในตอนนั้นไม่มีใครพูดเรื่อง แบรนด์บริษัท จึงอยากให้เกิดสิ่งใหม่เปลี่ยนสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้ออกมาเป็นตัวเลขทางการเงิน หลังจากคิดค้นสูตรโดยได้บูรณาการแนวคิดด้านการตลาด การเงิน และการบัญชี มาคำนวณ ใช้ค่าเฉลี่ยเวลา 3 ปี จนได้ออกมาเป็นตัวเลขทางการเงินโดยไม่มีความลำเอียง จึงเริ่มประกาศผลงานวิจัย และมอบรางวัลครั้งแรกในปี พ.ศ. 2555 แต่ที่ทำให้รางวัลนี้เป็นที่รู้จักมากขี้น คือ การได้รับรางวัล งานวิจัยดีเด่น สาขาเศรษฐศาสตร์ จากสภาวิจัยแห่งชาติใน พ.ศ. 2557 สิ่งนี้ทำให้รางวัลได้กลายเป็นแบรนด์ของตัวเอง สร้างความภาคภูมิใจแก่ผู้ที่ได้รับรางวัลนี้
“สำหรับการมอบสุดยอดแบรนด์องค์กรของอาเซียน (ASEAN) ก็ใช้มาตรวัดแบบเดียวกัน ซึ่งแต่ละแบรนด์จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 6 ประเทศ โดยได้เริ่มขยายการสำรวจไปสู่ระดับอาเซียนในปี พ.ศ. 2561 หวังผลักดันให้ผู้บริหารธุรกิจในภูมิภาคตื่นตัวในการสร้างคุณค่าแบรนด์องค์กร ส่งผลดีต่อการดำเนินธุรกิจในภูมิภาคต่อไป” ศ.ดร.กุณฑลี กล่าว
ในงานยังมีการเสวนาหัวข้อ Sustainability and Corporate Brand Equity โดย ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวในตอนหนึ่งว่า การทำธุรกิจให้มีความยั่งยืน (Sustainability) ต้องคำนึงถึงภาพใหญ่ โดยอาศัยองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ด้าน ESG ได้แก่ 1.สิ่งแวดล้อม ปัญหาโลกร้อนและวิกฤตภูมิอากาศ โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างรวดเร็วที่จะส่งผลกระทบไปอีกนาน 2.สังคม ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม การแข่งขันที่เป็นธรรม รวมถึงการดูแลสวัสดิการ เพื่อให้สังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ และ 3.ธรรมาภิบาล เช่น ปัญหาการคอร์รัปชัน ความยั่งยืนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกบริษัทจะได้รับประโยชน์ในอนาคต โดยเฉพาะการได้พนักงานเก่ง ๆ เข้ามาทำงานในบริษัท เพราะคนรุ่นใหม่จะคำนึงถึงสังคม และสิ่งแวดล้อม มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ความยั่งยืนยังช่วยสร้างความสามารถในการแข่งขันระยะยาว หากทำได้ก่อนก็จะอยู่เหนือคู่แข่ง อีกทั้งยังสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดวิกฤตถือเป็นโอกาสใน การทำ ความยั่งยืนในการสร้างความแตกต่าง สร้างคุณค่าให้กับแบรนด์ได้