รีเซต

ต้องเข้าใจก่อนถูก "ดิสทรัปชัน" จุฬาฯเดินหน้าให้นิสิตใช้ AI ยกระดับงานวิจัย

ต้องเข้าใจก่อนถูก "ดิสทรัปชัน" จุฬาฯเดินหน้าให้นิสิตใช้ AI ยกระดับงานวิจัย
TNN ช่อง16
1 ธันวาคม 2567 ( 09:11 )
16

โลกกำลังอยู่ในยุคที่ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยพบว่ามีภาคธุรกิจบางประเภทได้ใช้ AI หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนแรงงาน หรือ บางองค์กรที่เริ่มมีการให้บุคลากรฝึกทักษะด้าน AI มากขึ้น ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่า AI อาจจะเข้ามาทดแทนมนุษย์ และ ส่งผลต่อ 73 ล้านอาชีพในปัจจุบันที่อาจหายไปภายในปี ค.ศ. 2030 ซึ่งนั่นหมายถึงอีกเพียงแค่ 6 ปีข้างหน้าเท่านั้น 


แม้ว่าจะมีความกังวลในการถูกดิสรัปชันจนทำให้มนุษย์ตกงาน หรือ แม้แต่บางสาขาอาชีพ เช่น อาชีพด้านศิลปะ จะมีการต่อต้านผลงานจาก AI  แต่ก็ต้องยอมรับว่าในยุคนี้ไม่อาจต้านทานกระแสของ AI โดยเฉพาะ Generative AI ที่เข้ามามีบทบาทสำคัญกับภาคธุรกิจหรือระดับองค์กรในวงกว้างมากขึ้น จนทำให้เกิดการพัฒนาการใช้งานที่ครอบคลุมทุกด้าน แม้กระทั่งในชีวิตประจำวัน ที่พบเห็นการใช้งานมากขขึ้นทั้งในด้านการสร้างภาพ เสียง วิดีโอ และข้อความที่มีคุณภาพสูง


ขณะที่สถาบันการศึกษาอย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ก่อนหน้านี้ได้มีการเปลี่ยนผู้บริหารชุดใหม่ภายใต้การนำของ ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยคนใหม่ที่ประกาศจะผลักดันให้จุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำด้าน AI ของประเทศไทย (AI University) ได้มีการพัฒนา แอปพลิเคชันที่ชื่อว่า ‘ChulaGENIE’ เพื่อนำมาปรับใช้ในการเรียน – การสอนสำหรับนิสิต บุคลากร รวมกว่า 50,000 คน พร้อมช่วยพัฒนากระบวนการวิจัยของคณาจารย์และนิสิตในทุกระดับ ซึ่งแอปพลิเคชัน ‘ChulaGENIE’ เป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาฯ กับ Google Cloud

 

โดย “ChulaGENIE” เป็นแอปพลิเคชัน Generative AI ที่มีความสามารถหลายภาษารองรับข้อมูลหลายประเภท บนแพลตฟอร์ม Vertex AI ของ Google Cloud ได้รับการพัฒนามาโดยเฉพาะเพื่อรองรับการวิจัยและการเรียนรู้ ของประชาคมที่มีความหลากหลายของจุฬาฯ


ศาสตราจารย์ ดร.วิเลิศ ภูริวัชร อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   เปิดเผยว่าจุฬาฯ สามารถพัฒนา ChulaGENIE ได้ภายในเวลาไม่ถึงสามเดือน ทำให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกในประเทศไทยที่มีแอปพลิเคชัน Generative AI สำหรับการใช้งานเพื่อการศึกษาและวิจัยในระดับอุดมศึกษา โดยยึดหลัก AI ที่มีความรับผิดชอบ และตอบสนองความต้องการของประชาคมในวงกว้าง โดยจุฬาฯ มีแผนที่จะร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนา ChulaGENIE ให้ดียิ่งขึ้น และส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม AI ด้านการศึกษาที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศให้ใช้งานได้จริงเพื่อสนับสนุนการศึกษาทุกระดับ

 

ดร.วิเลิศ กล่าวว่าChulaGENIE’ เป็นแอปพลิเคชัน Generative AI ที่มีความสามารถหลายภาษา และรองรับข้อมูลหลายประเภทผู้ใช้ ChulaGENIE สามารถใช้ความสามารถในการรองรับหลายภาษาของโมเดล Gemini เพื่ออธิบายหัวข้อที่ซับซ้อนให้เข้าใจได้ง่าย รวมถึงสร้างเนื้อหาในภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาอื่น ๆ ด้วยความรวดเร็วและความแม่นยำ และด้วยความสามารถในการรองรับข้อมูลหลายประเภทและขอบเขตการประมวลผลช่วงบริบทที่ยาว (long context window) ของโมเดล Gemini ทำให้ผู้ใช้สามารถอัปโหลดเอกสารที่มีความยาวและซับซ้อน (เช่น เอกสารที่มีความยาว 1.4 ล้านคำ พร้อมตาราง แผนภูมิ และภาพประกอบ) รวมถึงไฟล์ PDF โดยโมเดล Gemini สามารถประมวลผลเนื้อหาและองค์ประกอบภาพในเอกสารเหล่านี้เพื่อช่วยให้ผู้ใช้ดึงข้อมูลหรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักวิจัยที่ต้องการสรุปวรรณกรรมทางวิชาการหรือวิเคราะห์ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันระบบดังกล่าวยังช่วยป้องกันไม่ให้ ChulaGENIE เผยแพร่ข้อมูลงานวิจัยที่เป็นความลับหรือทรัพย์สินทางปัญญาที่มีความอ่อนไหวโดยไม่ได้ตั้งใจอีกด้วย


โดยในอนาคต จุฬาฯ มีแผนที่จะขยายความร่วมมือกับ Google Cloud เพื่อพัฒนาโมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่แบบโอเพ่นซอร์สที่เน้นเฉพาะด้านสำหรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา โมเดลนี้สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ปรับให้เหมาะกับความเร็วและรูปแบบการเรียนรู้ของนิสิตแต่ละคน โดยให้แบบฝึกหัด คำอธิบาย และข้อเสนอแนะที่ปรับแต่งได้ตามความต้องการ นอกจากนี้ โมเดลดังกล่าวยังสามารถสนับสนุนแอปพลิเคชันที่วิเคราะห์หลักสูตรที่มีอยู่ เพื่อค้นหาช่องว่างหรือจุดที่ควรปรับปรุง พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขโดยอ้างอิงจากงานวิจัยล่าสุดและแนวโน้มด้านการศึกษาในปัจจุบัน  ซึ่ง  ‘ChulaGENIE’ จะเปิดให้คณาจารย์และบุคลากรใช้งานได้ในเดือนมกราคม 2568 และจะเปิดให้บริการแก่นิสิตทุกคนได้ภายในเดือนมีนาคม 2568 


โดยการเปิดตัว “ChulaGENIE” ของจุฬาฯ ถือเป็นการใช้ แอปพลิเคชัน AI เพื่อการศึกษา แห่งแรกของมหาวิทยาลัยไทย เกิดขึ้นท่ามกลางการปรับตัวอย่างรุนแรงของอุตสาหกรรมการศึกษา ซึ่งยังพบนักวิชาการบางส่วนพยายามตั้งคำถามถึงการนำ AI มาใช้ในการวิจัย รวมถึงปัญหาด้านลิขสิทธิ์ทางเนื้อหา ซึ่งจะเห็นว่าการนำ แอปพลิเคชัน AI มาใช้ในครั้งนี้ค่อนข้างให้ความสำคัญกับความแม่นยำ และ การนำมาใช้อย่างใความรับผิดชอบและปลอดภัย ซึ่งการนำ AI มาใช้ในระบบการเรียน-การสอนครั้งนี้ต้องดูต่อไปว่าเทคโนโลยีจะมาช่วยยกระดับการศึกษาไทยได้มากน้อยแค่ไหน 


เรียบเรียงโดย วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง