รีเซต

ยุทธศาสตร์ใหม่ จุฬาฯ ในยุคที่ปริญญาถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า

ยุทธศาสตร์ใหม่ จุฬาฯ ในยุคที่ปริญญาถูกตั้งคำถามถึงความคุ้มค่า
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2567 ( 17:49 )
9

โครงสร้างประชากรในยุคที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และ อัตราการเกิดใหม่เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเทคโนโลยีที่เข้ามาลดขั้นตอนของการเรียนรู้ ทำให้การเข้าเรียน หรือการเข้าศึกษาในระบบของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในรั้วมหาวิทยาลัยเริ่มถูกตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการมีอยู่  ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวไม่ต่างกับสถานการณ์ในประเทศชั้นนำของโลก เช่น สหรัฐอเมริกาที่พบว่าคนรุ่นใหม่จำนวนมากเริ่มหันหลังให้กับการเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เพราะมองเรื่องความคุ้มค่า และ ไม่มั่นใจว่าความรู้และปริญญาที่ได้จากมหาวิทยาลัยจะตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานจริงหรือไม่ 


กระแส “ไม่เรียนต่อ” ในระดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย แม้จะยังไม่รุนแรงเท่ากับต่างประเทศ แต่ก็เริ่มเห็นผลกระทบในหลายสถาบันที่เริ่มปรับตัวให้ทันกับโลกยุคใหม่ตั้งแต่การเปิดรับนักศึกษาจากต่างชาติ โดยเฉพาะนักศึกษาจีนในสัดส่วนที่มากกว่านักศึกษาในประเทศ หรือ แม้แต่การปรับหลักสูตรที่ตอบโจทย์กับความต้องการในตลาดแรงงานมากขึ้น 


จุฬาฯ ในยุคที่ความคุ้มค่าของปริญญาถูกตั้งคำถาม

แม้แต่สถาบันอุดมศึกษาเบอร์ต้นอย่าง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่แม้จะเป็นแถวหน้าทั้งจำนวนผู้เรียน และ คะแนนสอบเข้าสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ในหลายสาขาวิชามาอย่างยาวนาน ก็ไม่ได้มองข้ามกระแสโลก และ พร้อมปรับตัวให้จุฬาลงกรณ์ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ กับ ผู้นำใหม่อย่าง ศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร ที่มองว่าถึงเวลาแล้วที่จุฬาฯจะก้าวกระโดดเข้าสู่การแข่งขันในระดับโลก จุฬาฯจะไม่ใช่เป็นแค่เป้าหมายอันดับหนึ่งของเด็กไทย แต่ยังต้องเป็นเป้าหมายของเด็กทั่วโลกด้วย    


ศ.ดร.วิเลิศ วางเป้าหมายสำคัญให้กับจุฬาลงกรณ์ยุคใหม่ คือ การมุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติระดับสากล ติดอันดับ ท็อป 10 ของโลก โดยกำหนด ยุทธศาสตร์ไว้ 2 ด้าน คือ การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ โดยร่วมมือกับมหาวิทยาลัยขั้นนำระดับท็อปของโลก เช่น MIT เป็นต้น  และยังตั้งเป้าให้เติบโตมากขึ้นด้วยการจับมือกับองค์กรระหว่างโลกต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษา, องค์กรนานาชาติ และภาคเอกชน ในการแลกเปลี่ยนความรู้หรือทำงานร่วมกัน เพื่อให้จุฬาฯ เป็น Global Thai University


เป้าหมายในเฟสแรกในการไต่อันดับโลกให้สูงขึ้นของจุฬาฯ คือ เป้าหมายในการเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่ต้องแซงหน้าคู่แข่งในอาเซียนอย่างมาเลเซีย ที่มีมหาวิทยาลัยอยู่ในอันดับโลกที่ดีกว่าไทยถึง 3 สถาบัน โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยมาลายา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเบอร์หนึ่งของมาเลเซีย 

 

“วันนี้กลุ่มเป้าหมายของคนที่เรียนในจุฬาฯ มีทุกช่วงวัย และ มีอยู่ทั่วโลก เมื่อกลุ่มเป้าหมายเราโตขึ้น เราต้องสร้างหลักสูตรที่รองรับคนในวงกว้างมากขึ้น การที่คนวัยเรียนเริ่มลดลงไม่เป็นอุปสรรค เพราะกลุ่มคนสูงอายุ หรือ คนที่เรียนจบออกไปแล้วก็ยังสามารถเข้ามาเรียนได้ กรอบแนวคิดการศึกษาของจุฬาฯ ไม่ใช่แค่ “Life Long Learning”  แต่คือ  “Life Long Leading” เราจะนำชีวิตผู้คนตลอดชีวิต คนที่เรียนไปแล้วไม่รู้เรื่องกลับมาเรียนได้ครับ ดังนั้นสรุปพื้นที่ของเราเปิดกว้างไม่ใช่คนที่อยู่ในวัยเรียน แต่คือ ทุกช่วงวัย และทุกคนในโลก  โดยกลุ่มเป้าหมายแรกอาจเป็นประชาชนในภูมิภาคเดียวกัน เช่น จีน ญี่ปุ่น และ เกาหลี  ขณะที่ยุโรปก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะกลุ่มนี้เริ่มมองว่าการได้มาเรียนในภูมิภาคเอเชียได้มากกว่าความรู้ แต่เขาได้ประสบการณ์ชีวิต”  


มหาวิทยาลัยปรับตัวอย่างไร เมื่อ AI กำลังเข้ามาแทนที่

ขณะที่คู่แข่งสำคัญของสถาบันการศึกษาในปัจจุบันไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยด้วยกัน แต่ยังรวมถึงเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้ของคนยุคใหม่อย่าง AI  ที่ถูกมองว่าจะเข้ามาเปลี่ยนแปลง หรือ แทนที่อุตสาหกรรมการศึกษา เป็นที่มาของคำถามว่าในยุคนี้มหาวิทยาลัยจะอยู่รอดได้อย่างไร ศ.ดร.วิเลิศ มองว่าบทบาทของมหาวิทยาลัยที่ AI จะแทนไม่ได้ คือบทบาทของจุฬาฯที่ไม่ได้เป็นแค่สถาบันการศึกษาที่แค่ให้ความรู้กับนิสิตเท่านั้น แต่จะเป็นที่ซึ่งสามารถเปลี่ยนชีวิตของผู้คน (Life changing) ได้  โดยเฉพาะการใช้ยุทธศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อจากนี้ คือ “เติบโตรอบทิศ โดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง” เพราะเป้าหมายการผลิตคนของจุฬาฯ ไม่ใช่แค่การพัฒนาพื้นฐานความรู้ ( Knowledge Based) อีกต่อไป  เพราะความรู้ในรูปแบบกดังกล่าวสามารถที่จะเรียนผ่านออนไลน์ได้  แต่ในวันนี้จุฬาฯ คือ  มหาวิทยาลัยที่สร้างความฉลาด ( Wisdom Based ) ซึ่งมองว่าเป็นความฉลาดที่จะติดตัวของนิสิตทุกคนไปตลอดชีวิต และยังได้ ชุดทักษะ Skillset ในการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เข้าใจโลก ในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่งที่อยู่ในโลกและเข้าใจความเป็นไปของโลก ดำรงชีวิตด้วยความปกติสุข ท่ามกลางการดิสรัปของเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เราต้องใช้ให้เป็น


“ความเป็นมนุษย์ของเราคือแก่นแท้ เป็น core value เราจะต้องดำรงความเป็นพระเอก หรือนางเอก แล้วให้เอไอ เป็นพระรอง  เป็นตัวช่วย เราต้องให้เอไอมีส่วนร่วม ดังนั้น เอไอ ยูนิเวอร์ซิตี้  ที่เอไอ เขียนอะไรต่างๆในห้องเรียนได้ แต่เราจะต้องเขียนหรือทำเวอร์ชั่นที่เขียนได้ดีกว่าเอไอ  เราต้องสร้างคนให้เป็น  Analytic thinking” 

 

บทบาทใหม่ของ จุฬาฯ ในยุคที่โลกหมุนเร็วขึ้นหลายเท่า

สำหรับ “การวางยุทธศาสตร์พัฒนา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “เติบโตรอบทิศ โดยมีนิสิตเป็นศูนย์กลาง”อธิการบดีคนใหม่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าจะให้ความสำคัญกับการสร้างการเติบโตให้กับรั้วจามจุรีใน 3 ทิศทางหลัก คือ การเติบโตไปข้างบน การเติบโตไปไปด้านล่าง และ การเติบโตไปข้างหน้า
เติบโตไปข้างบน ด้วยการจับมือกับองค์กรระหว่างโลกต่างๆ ทั้งสถาบันการศึกษา, องค์กรนานาชาติ และภาคเอกชน ในการแลกเปลี่ยนความรู้หรือทำงานร่วมกัน เพื่อให้จุฬาฯ เป็น Global Thai University


การเติบโตไปด้านล่าง ที่หมายถึงการทำงานร่วมกับชุมชน จุฬาฯ จะทำ walking street บริเวณสยามและบรรทัดทอง ให้เกษตรกร, คนด้อยโอกาส หรือเด็กได้มาใช้ประโยชน์จำหน่ายสินค้า รวมถึงให้นิสิตเปิดบริษัทวิสาหกิจเพื่อชุมชน (SE) เพื่อให้สามารถหาประสบการณ์การทำงานระหว่างเรียนไปด้วยได้ และกำไรจากการดำเนินงานบางส่วนจะถูกนำไปบริจาคเพื่อช่วยเหลือสังคม เพื่อสร้างจิตวิญญาณของผู้ให้


การเติบโตไปด้านข้าง ด้วยการเชื่อมโยงกับอาจารย์ นิสิต และบุคลากรในมหาวิทยาลัย ให้ทุกคนเป็น Brand Ambassador รวมถึงเชื่อมโยงกับศิษย์เก่าให้มากขึ้น

 

“บทบาทของมหาวิทยาลัยในวันนี้ไม่ใช่เรื่องการศึกษา แต่เป็นเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในประเทศ ให้สามารถสู้กับต่างชาติ การศึกษา ไม่ได้เป็นเรื่องการเรียนการสอนในประเทศ มหาวิทยาลัยจะเป็นมากกว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” ที่ช่วยดึงชาวต่างชาติเข้ามาเรียนในประเทศไทย สร้างรายได้ สร้างเศรษฐกิจให้ประเทศไทยได้มหาศาล โดยใช้คุณภาพการศึกษาเป็นสิ่งที่ดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเป็นตัวขับเคลื่อน”ศ.ดร.วิเลิศ กล่าว
 
ศ.ดร.วิเลิศ  ยืนยันว่ามหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการสร้างคุณภาพของการศึกษาในระดับประเทศในองค์รวม การจัดอันดับมหาวิทยาลัยเป็นเพียงเกณฑ์จากองค์กรจัดอันดับต่างๆ  โดย ศ.ดร.วิเลิศ ได้รับเลือกจากที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) และ เตรียมเข้ารับตำแหน่งประธาน ทปอ.   ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไปมองว่ายุทธศาสตร์ของ ทปอ. ต้องมุ่งผนึกกำลังร่วมกันเพื่อสร้างการศึกษาในประเทศไทยให้แข็งแกร่งและดึงดูดนิสิตต่างชาติให้เข้ามาศึกษา ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศในภาพรวมได้ในที่สุด


Exclusive Content By : วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ รองบรรณาธิการ TNNOnline 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง