รีเซต

ฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย เคยมีถึง 8 แห่ง จนถูกเรียกว่า "เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ที่ไม่มีวันจม”

ฐานทัพสหรัฐฯ ในไทย เคยมีถึง 8 แห่ง จนถูกเรียกว่า "เรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐฯ ที่ไม่มีวันจม”
TNN ช่อง16
15 กรกฎาคม 2568 ( 16:47 )
13

เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าข่าวลือการตั้งฐานทัพสหรัฐฯในไทยโดยใช้พื้นที่ฐานทัพเรือทับละมุ จ.พังงา เพื่อแลกกับการต่อรองภาษีทรัมป์ไม่เป็นความจริง จากคำยืนยันของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่าไม่เคยคุยกับสหรัฐฯ ในประเด็นนี้เลย และไม่เคยทราบเรื่องนี้
 

ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดข่าวลือเรื่องการตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในประเทศไทย เพียงแต่ครั้งนี้ดูจะมีมูลมากกว่าปกติ เพราะมีการนำเงื่อนไขด้านเศรษฐกิจเข้ามาเป็นปัจจัยร่วม 

โดยส่วนหนึ่งที่ข่าวลือดูน่าเชื่อถือเป็นเพราะในอดีตสหรัฐฯ เคยตั้งฐานทัพในไทยมาแล้วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2  เพราะเห็นถึงประโยชน์ด้านภูมิรัฐศาสตร์ของไทย ในการต่อต้านศัตรูฝ่ายตรงข้ามในยุคที่โลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือฝ่ายประชาธิปไตย และฝ่ายคอมมิวนิสต์ สหรัฐฯ เข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในสงครามเวียดนาม กับนโยบายสกัดกั้นการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในเอเชีย

ในช่วงสงครามเวียดนาม สหรัฐฯเริ่มส่งทหารหน่วยแรกจากฟิลิปปินส์มายังท่าอากาศยานดอนเมืองในเดือนเมษายน พ.ศ. 2501 ตามมาด้วยการลำเลียงวัสดุภัณฑ์และเครื่องจักรหนักจำนวนมากมายังอู่ตะเภา จ.ระยองเพื่อนำไปใช้ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและฐานทัพอากาศในประเทศไทย

สุดท้ายสหรัฐฯได้ส่งกองบินรบ และกำลังพลเข้ามาในฐานทัพไทยจำนวน 8 แห่ง ได้แก่

1. ฐานทัพอากาศดอนเมือง กรุงเทพฯ (พ.ศ.2504-2513)  

2. ฐานทัพอากาศตาคลี จ.นครสวรรค์ (พ.ศ.2504-2514)  

3. ฐานทัพอากาศโคราช จ.นครราชสีมา (พ.ศ.2505-2518) 

4. ฐานทัพเรือนครพนม จ.นครพนม (พ.ศ.2505-2519)  

5. ฐานทัพอากาศน้ำพอง จ.ขอนแก่น (พ.ศ.2505-2509) 

6. ฐานทัพอากาศอุดร จ.อุดรธานี (พ.ศ.2507-2519)  

7.ฐานทัพอากาศอุบล จ.อุบลราชธานี (พ.ศ.2508-2517)  

8. สนามบินทหารเรืออู่ตะเภา จ.ระยอง (พ.ศ.2508-2519)  

 

ทั้งนี้มีการประมาณการว่าการทิ้งระเบิดกว่าร้อยละ 80 ต่อเวียดนามเหนือมาจากฐานทัพอากาศในประเทศไทย 

ขณะที่จำนวนทหารอเมริกันภาคพื้นดินสูงสุดในปี พ.ศ. 2511 คือ 11,494 คน และทหารอากาศสูงสุดในปี พ.ศ. 2512 คือ 33,500 

ส่วนจำนวนเครื่องบินสหรัฐในปี พ.ศ. 2512 มีประมาณ 600 เครื่อง ซึ่งนับว่าเป็นฐานปฏิบัติการทางทหารขนาดใหญ่มาก จนทำให้ยุคนั้นไทยถูกเปรียบเปรยว่าเป็น “เรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่มีวันจม” ของกองทัพสหรัฐอเมริกา

แม้ทุกวันนี้ทหารอเมริกันจะไม่ได้ประจำการอยู่ในฐานทัพสหรัฐฯในประเทศไทยแล้ว แต่การเข้ามาของทหารอเมริกันในครั้งนั้นได้ส่งผลกระทบทั้งดี และ ไม่ดี ในหลากหลายมิติ  หนึ่งในมรดกยุคนั้นคือวัฒนธรรมอเมริกันที่เข้าแทรกซึมในสังคมไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ทหารอเมริกันเข้าไปตั้งฐานทัพ ซึ่งนั่นส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางวิถีชีวิต แฟชั่น และวัฒนธรรมของคนไทย

ในปัจุบันทหารอเมริกันประจำการอยู่ตามฐานทัพทั่วโลกมากกว่า 170,000 คน ซึ่งญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีทหารอเมริกันประจำการมากที่สุด และอเมริกายังมีฐานทัพในอีกหลายประเทศในเอเชีย เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญด้านยุทธศาสตร์และความมั่นคง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง