รีเซต

ทำความรู้จัก “โรงสีปริญญา” โรงงานผลิตวุฒิการศึกษา ที่เกลื่อนเป็นพันในสหรัฐฯ

ทำความรู้จัก “โรงสีปริญญา” โรงงานผลิตวุฒิการศึกษา ที่เกลื่อนเป็นพันในสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
12 กรกฎาคม 2567 ( 16:06 )
30

วุฒิปริญญาเอกของเธอที่ระบุในใบสมัคร สว. เขียนว่า Doctor of Philosophy (PhD) Associate Professor in Business Administration California University


เมื่อเข้าไปตรวจสอบกลับพบว่า เป็นชื่อสถานที่ที่กล่าวอ้างเป็น “มหาวิทยาลัย” ที่เคยตกเป็นข่าวมาแล้วในอดีต 


อาจารย์อ๊อด หรือ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้ข้อมูลกับทีมข่าวทีเอ็นเอ็น พร้อมส่งภาพอาคารของสถานที่แห่งนี้เป็นเสมือนคลินิทันตกรรมที่มีป้ายชื่อ California University อยู่


ไม่เพียงเท่านั้น อาจารย์อ๊อดยังโพสต์ต่อว่า “มหาวิทยาลัยนี้ไม่อยู่ในสารบบของสหรัฐอเมริกาแต่อย่างไร แต่เป็นห้องแถวอยู่ในเขตย่านคนจนเป็นของคนฟิลิปปินส์”


“คนไทยคนหนึ่งพาเข้าไปชมข้างในมหาวิทยาลัยเลยครับจะพบว่ามีโต๊ะอยู่โต๊ะเดียว แล้วก็ให้เบอร์โทรไปซื้อขายกันเอง ในตึกนี้ก็เป็นที่ทำฟันเป็นที่เลี้ยงเด็ก" อาจารย์อ๊อด ระบุต่อ


สำหรับสื่ออเมริกันนั้น เรียกธุรกิจเช่นนี้ว่า Diploma Mill หรือ “โรงสีปริญญา” คือ “นิติบุคคล” จดทะเบียนในลักษณะสถาบันการศึกษา ที่มอบวุฒิปริญญาให้ผู้ใช้บริการได้แทบทุกด้าน ตั้งแต่วิชาชีพเฉพาะด้าน ปริญญาตรี และปริญญาเอก ในไทยใช้คำว่า “ปริญญาห้องแถว”


โดยในรัฐแคลิฟอร์เนีย จากผลการตรวจสอบย้อนไปเมื่อหลายปีก่อน พบว่า มีธุรกิจเช่นนี้มากที่สุดในประเทศ ถึง 134 แห่ง โดยเว็บไซต์ Get Educated อธิบายว่า “เพราะกฎหมายของรัฐ” เอื้อให้ธุรกิจเหล่านี้ ได้รับใบอนุญาตประกอบสถานศึกษา แต่ไม่ถือเป็น “สถาบันศึกษาที่ผ่านการรับรอง” ในการออกใบปริญญาที่ถูกต้อง 


---ซื้อปริญญาง่ายกว่าเข้าเรียน---


โรงสีปริญญา (Diploma Mill) หมายถึงบริษัทหรือองค์กรที่อ้างว่าตัวเองเป็นสถาบันการศึกษาขั้นสูง แต่สิ่งที่ผลิตออกมา ก็คือปริญญาหรือประกาศนียบัตรที่อ้างว่าบุคคลที่ได้รับไปนั้นมี “ความโดดเด่น” จากประสบการณ์ในชีวิตหรือประสบการณ์ทางสังคม โดยได้ไปประเมินผลงานในอดีตของบุคคลนั้น ๆ  และให้ผ่านเกณฑ์ขององค์กรตน ซึ่งจะออกปริญญาหรือประกาศนียบัตรบางอย่าง เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิต อาทิ การไปสมัครงาน การประกอบวิชาชีพขั้นสูง หรือใช้เทียบวุฒิทางการเมือง


ที่มาของศัพท์นี้ หมายถึงการเน้นผลิตเพียงแต่ “กระดาษแผ่นเดียว” ออกมาให้การรับรองบุคคลที่มีทุนทรัพย์มากพอที่จะจ่ายให้องค์กรเท่านั้น ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือการสั่งสมองค์ความรู้ ไม่ต่างอะไรกับ “โรงสี” ที่เน้นแต่สีธัญพืชออมาให้ได้จำนวนมาก ๆ โดยไม่สนคุณภาพแต่อย่างใด 


ส่วนสาเหตุที่ธุรกิจชนิดนี้เพิ่มมากขึ้น จากมาตรการของรัฐ ดังที่ อ.อ๊อดเสนอมานั้น พบว่า ด้วยการปกครองแบบมลรัฐ หรือรัฐรวม ทำให้รัฐบาลกลางไม่สามารถที่จะ Regulated ระเบียบแบบแผนทางการศึกษาให้เป็นเนื้อเดียวกันได้ 


ดังนั้น การใช้ศัพท์ว่า “University” จึงไม่ได้หมายความว่าเป็นมหาวิทยาลัย หรือที่ที่ให้การศึกษาขั้นสูง ต้องเข้าเรียน Crossworks หรือทำวิทยานิพนธ์ (Dissertation/Thesis) เพื่อให้ได้ศักดิ์และสิทธิทางปริญญา


เรื่องนี้แม้แต่ อำนาจตุลาการสหรัฐฯ ก็ยังออกมาให้การสนับสนุน เนื่องจากการศึกษาของอเมริกานั้น ไม่ได้มีแต่เพียงทางโลก (Secular) แต่ยังมีทางศาสนา (Religion) อย่างการศึกษาไบเบิล การศึกษาคำสอนของพระเจ้า หรือการศึกษาพระคำภีร์ 


เรื่องเหล่านี้ หากรัฐบาลกลางมีมาตรฐานทางการศึกษาแบบครอบคลุม ก็จะทำให้หายไป เพราะการศึกษาเหล่านี้ เรียนไม่เหมือนกับที่เราคุ้นเคย อย่างการสอบโดยการ “ตีความ” คำสอนของพระผู้เป็นเจ้า หรือการแสดงตนเป็นคริสเตียนได้มากน้อยเพียงใด  


ดังนั้น องค์กรที่ให้การรับรองปริญญาบัตร จึงสามารถที่จะใช้ศัพท์ว่า University ต่อท้ายได้โดยไม่มีความผิดฐานหลอกลวง และยังสามารถที่จะให้การรับรองปริญญาหรือถึงขั้นออกใบปริญญาให้ได้หากลูกค้าจ่ายเงินตามจำนวน ทั้งยังได้รับอานิสงส์จากการคุ้มครองด้านการศึกษาทางศาสนา แม้จะไม่เกี่ยวกันโดยตรง แต่ตรงนี้คือช่องโหว่ให้สามารถดำเนินการทางธุรกิจได้


เมื่อมาตรการควบคุมโดยรัฐไม่สามารถทำอะไร Diploma Mill ได้ แบบนี้จะทำอย่างไรดี ?


งานศึกษา Degrees of Doubt: Legitimate, real and fake qualifications in a global market ได้เสนอว่า เราไม่สามารถที่จะห้ามไม่ให้ผู้คนซื้อการศึกษาได้ 


ดังนั้น นายจ้างและตลาดแรงงานควรหันมาโฟกัสที่ “การตรวจสอบ” ว่าแรงงานเหล่านั้นใช้บริการ Diploma Mill หรือไม่จะดีกว่า หากนายจ้างต้องการตรวจสอบเฉพาะปริญญาในสหรัฐฯ ให้ยึด 4 ฐานข้อมูลนี้ไว้ ได้แก่


  • Association of Commonwealth Universities (2005) Commonwealth Universities Yearbook (London: Association of Commonwealth Universities).
  • Bear, J. & Bear, M. (2003) Bear’s Guide to Earning Degrees by Distance Learning (Berkeley, CA: Ten Speed Press).
  • International Association of Universities (2003) International Handbook of Universities (Paris: International Association of Universities; Stockton Press).
  • National Office of Overseas Skills Recognition/Australian Education International Country Education Profiles available online at: http://aei.dest.gov.au/AEI/ PublicationsAndResearch/CEP/CEPs.htm.


อีกอย่างหนึ่ง คือต้องตรวจสอบ “งานวิจัย/วิทยานิพนธ์” ในฐานะส่วนหนึ่งของการสำเร็จการศึกษา ว่าได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนักล่า (Predatory Journals) หรือ วารสารหลอกลวง (Pseudo journals) หรือไม่ ?


ยกตัวอย่างงานวิจัยของ สว. สาวท่านนี้ ชื่อว่า The Concepts for Development of Thai Public Organization in the New World System ซึ่งหัวเรื่องคือการศึกษาองค์กรอิสระของไทย แต่กลับตีพิมพ์ในวารสารอนุรักษ์วัตถุโบราณของจีน (Journal of Sciences of Conservation and Archaeology) ตรงนี้ถือว่าแปลกอย่างมาก


ยังไม่รวมกับการที่ DOI: 10.57030/sci-arch-36.3.24.11 ของวารสารนี้ไม่ปรากฏบนฐานข้อมูลวารสารต่างประเทศ หรือหลักฐานการอ้างอิงที่ไม่เกี่ยวข้องกับขอบข่ายงานวิจัย รวมถึงงานวิจัยที่อ้างอิงก็มีการอ้างอิงทับซ้อนกันไปมาอีกด้วย


---ปริญญาห้องแถวดีกรีอเมริกัน---


ข้อมูลจาก US News Education ระบุว่า California University FCE เป็นโรงเรียนมัธยมที่มีนักเรียนประมาณ 100 คน ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนที่มาจากกลุ่มชาติพันธุ์หรือเชื้อชาติที่ไม่ใช่คนผิวขาว


ขณะเดียวกันก็มีข้อมูลส่วนหนึ่งว่า California University FCE เป็นองค์กรที่ให้บริการประเมินคุณวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ เพื่อให้ได้การเทียบเท่ากับคุณวุฒิในสหรัฐอเมริกา 


FCE ในชื่อ California University FCE หมายถึง "Foreign Credential Evaluation" หรือการประเมินคุณวุฒิการศึกษาจากต่างประเทศ


เนื่องจากองค์กรนี้ไม่ได้เป็นสมาชิกขององค์กร National Association of Credential Evaluation Services (NACES) หรือ Association of International Credential Evaluators (AICE) NACES ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำในด้านการประเมินคุณวุฒิ จึงถูกตั้งคำถามถึงความมั่นใจในมาตรฐานและความน่าเชื่อถือขององค์กร 


แหล่งอ้างอิง


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง