รีเซต

พระเกี้ยว คืออะไร? เปิดประวัติ “พระเกี้ยว” มีความสำคัญอย่างไรต่อ งานบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

พระเกี้ยว คืออะไร? เปิดประวัติ “พระเกี้ยว” มีความสำคัญอย่างไรต่อ งานบอลจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์
Ingonn
25 ตุลาคม 2564 ( 09:56 )
3.6K

เป็นกระแสทั้งศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นอย่างมาก หลังจากที่มีการยกเลิกกิจกรรม “อัญเชิญพระเกี้ยว” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป ตามมติ 29 : 0 เสียง 

 

เปิดจดหมายยกเลิกกิจกรรม “อัญเชิญพระเกี้ยว”

องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.) ระบุว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว เป็นส่วนหนึ่งของขบวนพาเหรดในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยรูปแบบของขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวนั้นจำลองกระบวนแห่อย่างราชสำนัก ในกิจกรรมดังกล่าวจะมี “ผู้อัญเชิญพระเกี้ยว” ถือ “พระเกี้ยว” ที่เป็นสัญลักษณ์สูงสุดของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั่งบนเสลี่ยงซึ่งถูกแบกโดยนิสิตกว่า 50 คน  อีกทั้ง ผู้อัญเชิญซึ่งมาจากกลุ่ม CU Coronet ยังถือว่าเป็นตัวแทนของความเป็นจุฬาฯ ในกิจกรรมการแข่งขันฟุตบอลประเพณีและในกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป

 

ทว่า กิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวสนับสนุนและสะท้อนถึงระบอบอำนาจนิยม รวมถึงค้ำยันความเชื่อว่าคนไม่เท่ากัน รูปแบบกิจกรรมขบวนอัญเชิญพระเกี้ยวยังเป็นภาพแทนของวัฒนธรรมแบบศักดินาที่ยกกลุ่มคนหนึ่งสูงกว่าอีกกลุ่มหนึ่งพร้อมสัญลักษณ์ของศักดินาคือ “พระเกี้ยว” บนเสลี่ยง ในส่วนของกระบวนการคัดเลือกผู้อันเชิญฯ ยังเป็นที่กังขาถึงความโปร่งใส

 

และยังมีข้อกังขาว่าเป็นการสนับสนุนความเป็นอภิสิทธิ์ชนผ่านค่านิยมมาตรฐานความงามแบบใดแบบหนึ่งในสังคม นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการใช้อำนาจในการบังคับให้คนต้องมาแบกเสลี่ยง ดังที่เห็นจากกระบวนการหานิสิตหอในเพื่อมาแบกเสลี่ยงเข้าสนามนั้นมีการบังคับผ่านการอ้างว่าจะมีผลต่อคะแนนการคัดเลือกให้มีสิทธิอยู่ในหอพัก

 

คณะกรรมการบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่ล้าหลังอันขัดต่อคุณค่าสากลอย่างประชาธิปไตย ความเท่าเทียม และสิทธิมนุษยชน จากมติในวาระการประชุมสามัญครั้งที่ 1/2564 ของคณะกรรมการบริหารฯ มีมติ 29 : 0 เสียง เห็นควรให้มีการยกเลิกกิจกรรมการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เพื่อยุติการผลิตซ้ำธรรมเนียมปฏิบัติที่สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมมิให้คงอยู่ในสถาบันการศึกษาอีกต่อไป

 


ประวัติ “พระเกี้ยว” และความสำคัญต่อ จุฬาฯ

เว็บไซต์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า “พระเกี้ยว” เป็นสัญลักษณ์ของชาวจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจากชื่อของมหาวิทยาลัยได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัยนี้ 

 

“พระเกี้ยว” เป็นศิราภรณ์ประดับพระเกศาหรือพระเศียรของพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระมหากษัตริย์ และเป็นพิจิตรเลขาประจำรัชกาลในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทั้งนี้เพราะ พระนามาภิไธยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น คือ “จุฬาลงกรณ์” ซึ่งแปลว่า เครื่องประดับศีรษะ หรือ จุลมงกุฎ เจ้านายที่ยังทรงพระเยาว์ จะทรงใช้พระเกี้ยวยอดประดับพระเมาลี(ผมจุก) ในพระราชพิธีโสกันต์ 

 

ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีความสำนึกในความเป็นสถาบันการศึกษาที่กำเนิดจากพระมหากรุณาธิคุณของสถาบันพระมหากษัตริย์ ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามของชาวไทยในการแสดงความเคารพต่อสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์เสมอมา ด้วยเหตุนี้จึงใช้พระเกี้ยวหรือจุลมงกุฎ เป็นตราสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัย พร้อมกับปลูกฝังประเพณีอันดีงามแก่บุคลากรและนิสิตทุกยุคสมัยตลอดมา ให้มีความเคารพและเทิดทูนพระบรมราชสัญลักษณ์อันสูงส่งที่ได้รับพระราชทานมาเป็นตราประจำมหาวิทยาลัย

 


ประวัติพิธี “อัญเชิญพระเกี้ยว”

ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งในแต่ละปีแต่ละสถาบันจะจัดขบวนอัญเชิญในงานฟุตบอลประเพณี

 

เว็บไซต์หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “การอัญเชิญพระเกี้ยว” หรือการอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขัน “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” เป็นการเปิดงาน โดยทางจุฬาฯ จะอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะมีตราธรรมจักร 

 

ด้าน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและกองเชียร์งานฟุตบอล ดังประโยคของชาวจุฬาฯ ที่ว่า "สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ"

 

 

การคัดเลือกคนที่ถือ “พระเกี้ยว”

นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน สามารถเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ เนื่องจากเป็นผู้ใช้พระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษา แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งรูปร่าง หน้าตา บุคลิกภาพ การวางตัว กิริยา มารยาท ผลการเรียน ตลอดจนมีความรู้เกี่ยวกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีความรู้รอบเหมาะสมกับการเป็นตัวแทนนิสิตจุฬาฯ ซึ่งนิสิตที่ทำหน้าที่อัญเชิญพระเกี้ยวนี้ ถือได้ว่าเป็นภาพลักษณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยด้วย

 

ในสมัยก่อนจำนวนผู้อัญเชิญพระเกี้ยวมีตั้งแต่เป็นนิสิตผู้หญิงคนเดียว นิสิต 2 คน นิสิตหญิง-ชาย 2 คู่ มาจนถึงในปัจจุบันที่เป็นนิสิตหญิง-ชาย เพียงคู่เดียว บางปีคัดเลือกจากตัวแทนของคณะ มีการสัมภาษณ์จากอาจารย์ ซึ่งก็รู้ได้ในวันนั้นว่าใครได้เป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยว ในบางปีมีการคัดเลือกจาก "นางนพมาศ" ซึ่งในสมัยก่อนเรียกว่า "ดาวจุฬาฯ" จนภายหลังการคัดเลือกผู้อัญเชิญพระเกี้ยวก็ได้มีวิวัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ จนมาถึงปัจจุบัน

 

สำหรับการอัญเชิญตราสัญลักษณ์ เข้ามาในขบวนพาเหรดของงานฟุตบอลประเพณีฯ ที่เก่าแก่ที่สุด จากหนังสือพิมพ์สยามนิกร (พิเศษ) ฉบับวันจันทร์ที่ 28 ธันวาคม 2507 มีผู้อัญเชิญเป็นนิสิตหญิงเพียงคนเดียว และองค์พระเกี้ยวมีขนาดเล็กกว่าองค์พระเกี้ยวจำลองที่ใช้ในปัจจุบัน

 


พระเกี้ยวองค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตึกจักรพงษ์ เป็น “พระเกี้ยว” ซึ่งมหาวิทยาลัยได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อสร้างจำลองจากพระเกี้ยวจริงที่ประดิษฐานอยู่ในพระคลังมหาสมบัติในพระบรมมหาราชวัง และได้พระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อ 13 กรกฎาคม 2532

 

 

 

 

 


ข้อมูลจาก ร้อยเรื่องราวจากรั้วจามจุรี , www.chula.ac.th , หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง