รีเซต

เปิดประวัติ “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์” จากกระแส “พระเกี้ยว”

เปิดประวัติ “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์” จากกระแส “พระเกี้ยว”
Ingonn
27 ตุลาคม 2564 ( 10:16 )
815
เปิดประวัติ “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์” จากกระแส “พระเกี้ยว”

“งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์” กิจกรรมและวัฒนธรรมระหว่างสองมหาวิทยาลัยที่ได้ร่วมกันสืบสานมาอย่างเนิ่นนาน แต่จากแถลงการณ์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง ยกเลิกกิจกรรมขบวน “อัญเชิญพระเกี้ยว” ในงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ – ธรรมศาสตร์ เนื่องจากกิจกรรมขัดต่อหลักความเท่าเทียม และยังเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่ถูกต้องในการบังคับให้นิสิตทั่วไปมาแบกเสลี่ยง จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ เรื่อง “พระเกี้ยว” ทั้งศิษย์เก่า และศิษย์ปัจจุบัน จนล่าสุด เพจ องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทำแบบสำรวจ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ควรมีต่อหรือพอแค่นี้? เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ "อนาคตงานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ - ธรรมศาสตร์" ที่ https://bit.ly/3nwEQtZ

 

ประวัติ งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ หรือ งานฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์-จุฬาฯเป็นการแข่งขันฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น 2 มหาวิทยาลัยเก่าแก่ของประเทศไทย เริ่มจัดกิจกรรมครั้งแรกในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2477 แต่ละมหาวิทยาลัยจะสลับกันเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันทุกปี ชื่อของมหาวิทยาลัยที่เป็นเจ้าภาพจะได้รับเกียรติให้ขึ้นต้นชื่องานฟุตบอลประเพณีในปีนั้น สถานที่จัดการแข่งขันจะไม่สลับตามเจ้าภาพ แต่จะจัดงานที่สนามศุภชลาศัย กรีฑาสถานแห่งชาติ เป็นประจำทุกปี กองเชียร์ของมหาวิทยาลัยเจ้าภาพจะใช้อัฒจันทร์ฝั่งทิศเหนือ อีกฝ่ายจะใช้อัฒจันทร์ฝั่งทิศใต้

 

กิจกรรมภายในงานอาจแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ การแข่งขันฟุตบอล และกิจกรรมเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนิสิตจุฬาฯ กับนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เช่น การเดินพาเหรด การเชียร์ การแปรอักษร ขบวนพาเหรดล้อการเมืองและกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์

 


ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร

ขบวนอัญเชิญพระเกี้ยว และตราธรรมจักร เป็นสัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยทั้งสองสถาบัน จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ซึ่งในแต่ละปีแต่ละสถาบันจะจัดขบวนอัญเชิญในงานฟุตบอลประเพณี การอัญเชิญตราสัญลักษณ์เข้ามาในสนามแข่งขัน “งานฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” เป็นการเปิดงาน โดยทางจุฬาฯ จะอัญเชิญตราพระเกี้ยว ทางธรรมศาสตร์จะมีตราธรรมจักร 

 

ด้าน “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” เป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าหลวงทั้ง 2 พระองค์ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานกำเนิดมหาวิทยาลัย เข้ามาในงาน และเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่นักกีฬาและกองเชียร์งานฟุตบอล ดังประโยคของชาวจุฬาฯ ที่ว่า "สีชมพูจักอยู่ในกายเจ้า พระเกี้ยวเกล้าจักอยู่เป็นคู่ขวัญ" นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทุกคน สามารถเป็นผู้อัญเชิญพระเกี้ยวได้ เนื่องจากเป็นผู้ใช้พระเกี้ยวเป็นตราสัญลักษณ์ประจำสถาบันการศึกษา แต่ในงานฟุตบอลประเพณีฯ ไม่สามารถให้นิสิตจุฬาฯ ทุกคนขึ้นอัญเชิญพระเกี้ยวได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องคัดเลือกนิสิตจุฬาฯ ที่มีความเหมาะสม

 

ด้าน “มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์” ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักร และดรัมเมเยอร์ ได้มาจากการคัดเลือกเช่นเดียวกับการอัญเชิญ “พระเกี้ยว” ของจุฬาฯ และเคยถูกยกเลิกการคัดเลือกไปเมื่อปี 2516 จนเป็นที่มาของคำขวัญว่า "ธรรมจักรเป็นของชาวธรรมศาสตร์ทุกคน ทุกคนจึงมีสิทธิในการอัญเชิญได้" ก่อนจะกลับมาคัดเลือกผู้นำในขบวนอัญเชิญธรรมจักรและดรัมเมเยอร์อีกครั้ง เพื่อทำหน้าที่ในการบำเพ็ญประโยชน์ ตลอดจนการรณรงค์และส่งเสริมให้นักศึกษาร่วมทำกิจกรรมเพื่อสังคมกันมากขึ้นกลับมา ในชื่อว่า "ทูตกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" จะพิจารณาถึงทั้งลักษณะ บุคลิก ความรู้ความสามารถ ทั้งในด้านการเรียน และในความรู้เกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ การมีจิตอาสา มีคุณธรรมและพร้อมที่จะช่วยเหลือแก่สังคม โดยเริ่มตั้งแต่ 2545 เป็นต้นมา 

 


งานเชียร์จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์

ประธานเชียร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้นำเชียร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือฝั่งจุฬาจะเรียกว่า "ประธานเชียร์" นอกจากจะทำหน้าที่นำเชียร์ ควบคุมจังหวะการร้องเพลงเชียร์ของสแตนด์แล้ว ยังทำหน้าที่เป็นตัวแทนของนิสิตจุฬา ในการประชาสัมพันธ์งานฟุตบอลประเพณีฯ และบำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณะอีกด้วย

 

แม่ทัพเชียร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ผู้นำเชียร์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หรือฝั่งธรรมศาสตร์จะเรียกว่า "แม่ทัพเชียร์" เป็นตัวแทนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสำหรับทำหน้านำกองเชียร์ร้องเพลง ส่งเสียงเชียร์ ปโดยทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวคิดและต้นแบบแรงบันดาลใจจาก ผู้ควบคุมวงดนตรีหรือวาทยากร ที่ทำหน้าที่นำการเล่นดนตรีวงใหญ่หรือการร้องประสานเสียง ผู้นำเชียร์นั้นนอกจากจะมีท่วงท่าสง่างาม ยังมีรหัสสัญญาณมือที่สื่อความหมายสามารถประยุกต์ใช้กับการร้องเพลงเป็นหมู่คณะของกองเชียร์

 


เพลงประจำการแข่งขัน

  • เพลงพระราชนิพนธ์ของทั้งสองมหาวิทยาลัย
  • เพลงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คือ เพลงพระราชนิพนธ์ยูงทอง
  • เพลงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือ เพลงพระราชนิพนธ์มหาจุฬาลงกรณ์
  • เพลงจามจุรีประดับโดมในดวงใจ เป็นการนำเพลงของทั้งสองมหาวิทยาลัยมาร่วมกันคือเพลงจามจุรีประดับใจ และเพลงโดมในดวงใจ
  • เพลงชั่วดินฟ้า เป็นเพลงของจุฬา และธรรมศาสตร์บอกถึงความรักความสามัคคีของทั้งสองสถาบันนี้
  • เพลงธรรมศาสตร์-จุฬา สามัคคี แต่งโดยจิตร ภูมิศักดิ์
  • เพลงธรรมศาสตร์-จุฬา ภาราดรณ์ ไม่ปรากฏผู้แต่ง

 

 


ข้อมูลจาก วิกิพีเดีย , หอประวัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง