รีเซต

นิสิตวิศวะ จุฬาฯ โชว์จรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” ร่วมแข่งขัน “Spaceport America Cup 2022”

นิสิตวิศวะ จุฬาฯ โชว์จรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” ร่วมแข่งขัน “Spaceport America Cup 2022”
TNN ช่อง16
17 มิถุนายน 2565 ( 12:58 )
177

“เยาวชนคุณภาพ” ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน และก้าวสู่เวทีการแข่งขันทัดเทียมนานาชาติได้ ดังเช่น 14 นิสิตชมรมซียูฮาร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ได้แสดงศักยภาพคนรุ่นใหม่ คิดค้นสุดยอดนวัตกรรมจรวดความเร็วเสียง “เคอร์เซอร์-1” ภายใต้การสนับสนุนจากกลุ่มทรูผ่านโครงการทรูแล็บ จนสามารถเป็นตัวแทนประเทศไทยทีมแรกในประวัติศาสตร์เข้าร่วมการแข่งขันระดับโลก “Spaceport America Cup 2022” มาดูเส้นทางความอัจฉริยะของน้องๆ ที่สานฝันพวกเขาให้กลายเป็นจริงได้ กับการสร้างสรรค์จรวดสัญชาติไทยสู่อวกาศ นับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจของพวกเราที่ได้เห็นต้นแบบนวัตกรไทย ที่ไม่แพ้ชาติใดในโลก
“เอิร์ธ” ภูวิศ เชาวนปรีชา ประธานชมรมซียูฮาร์ นิสิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เล่าว่า “จรวดความเร็วเสียงงานวิจัยตัวแรกของจุฬาฯ ชิ้นนี้มีชื่อว่า “เคอร์เซอร์-1” (CU RSR-1) เกิดขึ้นจากความตั้งใจของเพื่อนๆ ทุกคนในชมรมฯ ที่ต้องการพัฒนาจรวดฝีมือคนไทย ซึ่งคุณสมบัติหลักของจรวดลำนี้ คือสามารถขึ้นไปได้ถึง10,000 ฟุต ด้วยมอเตอร์ขนาด 75 มิลลิเมตร ตัวจรวดทำด้วยไฟเบอร์กลาส โดยทีมเป็นผู้พัฒนาส่วนชิ้นต่างๆ เกือบทั้งลำ รวมถึงระบบไฟฟ้า และโครงสร้างอื่นๆ อีกด้วย สำหรับความยากที่สุด คือต้องวิจัย สืบค้นข้อมูลทั้งในและต่างประเทศอย่างหนัก เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่ได้แพร่หลายมากนักในบ้านเรา โดยตลอด 6 เดือนของการคัดเลือก มีขั้นตอนมากมาย ทั้งนำเสนอผลงาน ทดสอบการจำลองสถานการณ์ พร้อมส่งรายงานประกอบทุกครั้ง ซึ่งกว่าจะผ่านแต่ละด่านสุดหินนี้ได้ ต้องขอขอบพระคุณ ท่านคณบดี ศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล รวมถึงคณาจารย์ที่ปรึกษาโครงการทุกท่านเป็นอย่างสูง ที่คอยเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษา แนะแนวทาง ความรู้ด้านเทคนิค ติดตามคอยช่วยเหลือ และที่สำคัญ ให้โอกาสและเชื่อมั่นในตัวพวกเรามาโดยตลอดครับ”“ชิงชิง” พรธีตรา รัตนพันธุ์ศรี และ “ไอโกะ” รชยา ดีเลิศกุลชัย นิสิตสมาชิกชมรมซียูฮาร์ แชร์ประสบการณ์การทำงานร่วมกันว่า “เราทั้ง 2 ดีใจมากค่ะที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนี้ โดยได้ร่วมกันรับผิดชอบออกแบบและพัฒนาโครงสร้างส่วนปลายของจรวด หรือที่เรียกว่า Nosecone ตั้งแต่ขึ้นแบบ หล่อด้วยไฟเบอร์กลาส ราดเรซินจนออกมาเป็นชิ้นงาน พร้อมขัดตัว Nosecone ให้เรียบ ซึ่งเป็นหนึ่งในส่วนประกอบและปัจจัยสำคัญ ตามหลัก Aerodynamic ที่จะช่วยลดแรงเสียดทานของอากาศ ส่งผลให้จรวดบินได้อย่างเสถียรและคงที่มากยิ่งขึ้น ซึ่งประโยชน์จากการร่วมโครงการนี้ คือ ได้ลงมือทำจริง ทำให้เราเห็นสิ่งที่อาจารย์สอนในห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงประสบการณ์การทำงานร่วมกับเพื่อนในทีม และที่สำคัญการพัฒนาครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณทรู ที่ให้การสนับสนุน ทั้งในส่วนสถานที่ทรูแล็บ รวมถึงงบประมาณ ที่ทำให้เกิดจรวดเคอร์เซอร์-1 นี้ขึ้นมาได้ อีกทั้งยังมอบซิมทรูมูฟ เอช โรมมิ่ง ที่จะช่วยให้พวกเราติดต่อสื่อสารกลับมายังประเทศไทยได้อย่างสะดวกและรวดเร็วด้วยค่ะ”ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “นับเป็นความภาคภูมิใจของพวกเราชาวไทย ที่ครั้งนี้กลุ่มนิสิตชมรม CUHAR ซึ่งร่วมกับโครงการทรูแล็บ ได้เป็นตัวแทนทีมชาติไทย นำผลงานนวัตกรรมจรวดเคอร์เซอร์-1 ไปแข่งในระดับโลก ซึ่งกลุ่มทรูยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนโครงการศึกษาและพัฒนาจรวดความเร็วเสียงนี้ และต้องชื่นชมน้องๆ ทุกคนที่ล้วนมีพรสวรรค์ เก่ง และมุ่งมั่นมาก อันจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่เยาวชนไทยรุ่นต่อไปอีกด้วย และขออวยพรให้ทุกคนประสบความสำเร็จและคว้าแชมป์โลกกลับมา”ทั้งนี้  การแข่งขันจรวดความเร็วเสียงระดับนานาชาติ Spaceport America Cup 2022 รอบสุดท้าย จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 – 25 มิถุนายน 2565 ณ เมืองลาสครูเซส รัฐนิวเม็กซิโก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีทีมเข้าร่วมแข่งขันกว่า 150 ทีมจาก 20 ประเทศทั่วโลก และไม่ว่าผลการแข่งขันจะออกมาอย่างไร...ความเพียรพยายาม ทุ่มเท ฝ่าฝันทุกอุปสรรคจนน้องๆ ได้มายืนอยู่บนเวทีโลกครั้งนี้ ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเยาวชนไทยไปได้ไกลกว่าที่คิด และการออกนอกอวกาศก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้อีกต่อไป !

ข่าวที่เกี่ยวข้อง