รีเซต

อังกฤษสร้างแบตเตอรี่เพชรอยู่ได้เป็นพันปี แต่มีไว้สำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก และยังผลิตไฟน้อยกว่าถ่าน AA!

อังกฤษสร้างแบตเตอรี่เพชรอยู่ได้เป็นพันปี แต่มีไว้สำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็ก และยังผลิตไฟน้อยกว่าถ่าน AA!
TNN ช่อง16
19 ธันวาคม 2567 ( 16:52 )
29

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) พัฒนาแบตเตอรี่จากพลังงานนิวเคลียร์เป็นครั้งแรกของโลก โดยใช้สารคาร์บอน - 14 (Carbon - 14) ฝังอยู่ภายในเพชร โดยเคลมว่ามีอายุการใช้งานมากกว่า 5,000 ปี ซึ่งปัจจุบันสามารถพัฒนาให้ใช้งานสำหรับอุปกรณ์ขนาดเล็กเท่านั้น


หลักการของแบตเตอรี่เพชรจากอังกฤษ

คาร์บอน - 14 เป็นธาตุไอโซโทป (Isotope - ธาตุที่มีจำนวนนิวตรอนในนิวเคลียสของธาตุไม่เท่ากัน แต่เป็นธาตุเดียวกัน) ของคาร์บอน ซึ่งทำให้มีสมบัติเป็นสารกัมมันตรังสีที่สร้างพลังงานได้ ซึ่งโดยทั่วไปจะใช้ให้พลังงานภายในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยมีฉนวนกราไฟต์ (Graphite คาร์บอนแบบหนึ่ง เช่น ไส้ดินสอ) จำนวนมากสำหรับป้องกันการรั่วไหลของรังสี

 

แต่นักวิจัยจากกลุ่มมหาวิทยาลัยบริสตอลได้นำคาร์บอน - 14 มาบรรจุภายในเพชรแทนฉนวนกราไฟต์เพื่อสร้างเป็นแบตเตอรี่ขนาดเล็กแทน โดยแบตเตอรี่ 1 ชุด จะมีปริมาณของคาร์บอน - 14 อยู่ที่ 1 กรัม ซึ่งสามารถผลิตพลังงานได้ทั้งหมด 15 จูลต่อวัน (Joule เป็นหน่วยวัดปริมาณพลังงานในวิชาฟิสิกส์และเคมี) ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับแหล่งพลังงานที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน


ยกตัวอย่างเช่น ถ่านอัลคาไลน์ประเภท AA ในปัจจุบันนั้นมีน้ำหนัก 20 กรัม ซึ่งเปรียบเทียบเป็นสัดส่วนในแต่ละกรัมแล้ว ถ่านอัลคาไลน์จะให้พลังงานถึง 700 จูล/กรัม/วัน ซึ่งมากกว่าพลังงานจากแบตเตอรี่เพชรกว่า 46 เท่า ในปริมาณกรัมที่เท่ากัน แต่ข้อดีของแบตเตอรี่เพชรคืออายุการใช้งานของแบตเตอรี่ที่มีอายุมากถึง 5,730 ปี ต่างจากถ่านอัลคาไลน์ที่มีอายุการใช้งานต่อเนื่อง 24 ชั่วโมง เท่านั้น


อนาคตของแบตเตอรี่เพชรจากอังกฤษ

แม้ว่าคาร์บอน - 14 จะเป็นสารกัมมันตรังสีที่อันตราย แต่ด้วยการบรรจุภายในเพชร และปริมาณที่ใช้มีน้อย ส่งผลให้ตัวแบตเตอรี่ปลอดภัยจากการรั่วไหลของรังสีนิวเคลียร์ และถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีกำลังการผลิตที่ต่ำ แต่จุดเด่นของแบตเตอรี่เพชรคือการไม่มีชิ้นส่วนที่เคลื่อนไหว (Moving parts) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการสึกหรอและนำไปสู่การบำรุงรักษา ดังนั้น แบตเตอรี่เพชรจึงมีความทนทานกว่าแบตเตอรี่แบบเดิม รวมถึงไม่มีการปล่อยคาร์บอนที่เป็นส่วนหนึ่งของภาวะโลกเดือดตลอดกระบวนการผลิตอีกด้วย


โดยเป้าหมายของการพัฒนาในอนาคตคือต่อยอดไปประยุกตใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้บ่อยเนื่องจากทำงานในสภาวะแวดล้อมที่เป็นอันตราย เช่น เครื่องขุดเจาะน้ำมันซึ่งอยู่ใต้ทะเลลึก หรือรวมไปถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น เครื่องฉายรังสีเอ็กซ์เรย์ (X-ray) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้มีการเปิดเผยวิธีการวิจัยออกสู่สาธารณะในปัจจุบัน



ข้อมูล Live ScienceUniversity of Bristol

ภาพ University of Bristol

ข่าวที่เกี่ยวข้อง