รีเซต

เส้นทางนายกฯ คนที่ 30 “เพื่อไทย” รับบทนำจัดตั้งรัฐบาล

เส้นทางนายกฯ คนที่ 30 “เพื่อไทย” รับบทนำจัดตั้งรัฐบาล
TNN ช่อง16
22 กรกฎาคม 2566 ( 13:31 )
107
เส้นทางนายกฯ คนที่ 30 “เพื่อไทย” รับบทนำจัดตั้งรัฐบาล

2 เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้องจารึกบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือ กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติด้วยเสียงส่วนใหญ่ 7 ต่อ 2  เสียง สั่งให้ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล หยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. จากปมถือครองหุ้นสื่อไอทีวี ตามคำร้องของ กกต. ตามมาด้วยกรณีที่สมาชิกรัฐสภาลงมติ 395 ต่อ 317 เสียง ว่า  การเสนอชื่อ “พิธา” ให้รัฐสภาโหวตเป็นนายกรัฐมนตรีรอบ 2  ในสมัยประชุมนี้ ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก “พิธา” ไม่ผ่านการโหวตรอบแรก โดยอ้างอิง ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อ 41 ที่ระบุว่า “ญัตติใดตกไปแล้ว ห้ามนำญัตติซึ่งมีหลักการเช่นเดียวกันขึ้นเสนออีกในสมัยประชุมเดียวกัน”  

 

โหวตนายก 2566

 

 

แน่นอนว่า ประเด็นนี้กลายเป็นข้อถกเถียงทางด้านกฎหมายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีบรรดานักกฎหมายตีความว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีให้ที่ประชุมรัฐสภาลงมติ ไม่ใช่ญัตติตามข้อบังคับฯ 41 แต่เป็นกระบวนการโหวตนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 272  ดังนั้นการลงติของรัฐสภา จึงเป็นการใช้เสียงข้างมากหักล้างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ  อีกทั้งยังเป็นการหักล้างเจตนารมย์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่สร้างปัญหาต่อไปในอนาคต ซึ่งจะไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาประชาธิปไตยของไทย...

 

 

ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ค่อนข้างน่าสนใจว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 เป็นเส้นทางที่ถูกเลือกไว้แล้ว เห็นได้จากการลงมติของรัฐสภา ที่มีความชัดเจนว่า ต้องการ “ปิดสวิตซ์” นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์  แต่สิ่งที่น่ากังวลไปมากกว่านั้น คือ มติรัฐสภาดังกล่าว จะนำไปสู่ล็อก 5 ชั้น และเป็นบรรทัดฐานใหม่ที่สร้างแรงกระเพื่อมทางการเมืองตลอดไป..ตราบใดที่ยังไม่แก้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

 

//////////////////////// ภาพ ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช + "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” ///////////////////

 

เมื่อเส้นทางสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของ "พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” เดินมาถึงทางตัน “พรรคก้าวไกล” จำต้องใส่เกียร์ถอยโยนไม้ต่อให้ “พรรคอันดับ 2 เพื่อไทย” เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่  พร้อมให้สิทธิพรรคเพื่อไทย เป็นผู้ประสานขอเสียงสนับสนุนจากสมาชิกวุฒิสภา และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในขั้วรัฐบาลเดิมให้ได้เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 376 เสียง  ในการโหวตนายกรัฐมนตรีรอบ 3 โดยจะเน้นทำความเข้าใจนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ สว.และ สส.ขั้วรัฐบาลเดิม ประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคก้าวไกล

 

 

งานนี้พรรคเพื่อไทยไม่รอช้า เร่งส่งเทียบเชิญขอหารือแกนนำพรรคภูมิใจไทย  และพรรคชาติไทยพัฒนา แม้ว่าก่อนหน้านี้ นายวราวุธ ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา ยืนยันว่า ยินดีสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯรัฐมนตรีที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่ทำงานร่วมกับพรรคการเมือง ที่มีนโยบายแก้ไขหรือยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ที่ระบุว่า พรรคภูมิใจไทยมีจุดยืนชัดเจนไม่ร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคที่มีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 หรือ หากพูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ “พรรคก้าวไกล” นั่นเอง

 

 

 

ขณะที่ ความเคลื่อนไหวของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แม้อยู่ในช่วงหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส.ชั่วคราว ได้โพสต์คลิปผ่านทางเฟซบุ๊กเพจ ‘Pita Limjaroenrat – พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ โดยระบุ ว่า “วันนี้ชัดเจนแล้วว่าองคาพยพฝั่งอนุรักษนิยมทั้งหมด ไม่ยอมให้เราเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลโดยเอาเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาเป็นเงื่อนไขข้ออ้าง แต่การที่ผมไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ ไม่ได้หมายความว่า ความหวังของพวกเราในการเปลี่ยนแปลงประเทศจะสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้ สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่การที่ผมได้เป็นนายกฯ แต่คือการจัดตั้งรัฐบาลตามเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการเปลี่ยนขั้วพลิกข้าง หยุดยั้งการสืบทอดอำนาจของขั้วรัฐบาลเดิม พิธาเป็นหรือไม่เป็นนายกฯ ไม่สำคัญ พรรคก้าวไกลเป็นหรือไม่เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลไม่สำคัญ แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ เสียงของประชาชน 27 ล้านเสียง ที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งต้องมีความหมาย

 

พรรคก้าวไกลพร้อมสนับสนุนพรรคอันดับสอง คือ พรรคเพื่อไทยในการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชนให้ได้ ตราบใดที่เรายังจับมือกันแน่น การสืบทอดอำนาจของกลุ่มขั้วอำนาจเดิมจะไม่มีวันสำเร็จ ขอให้ประชาชนอย่าหมดหวัง ประเทศไทยวันนี้เดินมาไกล และจะไม่มีวันถอยกลับ เราจะไม่ปล่อยให้พวกเขาหมุนเวลาพาประเทศกลับสู่อดีตอีกต่อไป”

 

 

 

นับจากนี้คงต้องจับตากันว่า สูตรในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ จะมีหน้าตาอย่างไร ...พรรคอันดับ 1 อย่าง “ก้าวไกล” จะถูกผลักออกจากสมการ กลายไปเป็นฝ่ายค้านหรือไม่ “พรรคเพื่อไทย” ที่รับบทแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจะเดินเกมอย่างไร เพื่อให้ได้เสียงสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงว่า ผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อคือ “เศรษฐา  ทวีสิน” แต่ทั้งหลายทั้งปวงต้องรอความชัดเจนจากพรรคเพื่อไทย ที่ยืนยันว่า จะประกาศชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ในวันที่ 26 ก.ค. ก่อนที่จะมีการโหวตในที่ประชุมร่วมรัฐสภา วันที่ 27 ก.ค.นี้ ซึ่งหลายฝ่ายต่างคาดหวังว่าการโหวตนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 จะจบลงในรอบนี้ เพื่อนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศโดยเร็ว...

 

 

 

 

แต่ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ผศ.ดร.เชษฐา ทรัพย์เย็น ผู้ช่วยอธิการบดี มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช มองว่า  โจทย์ใหญ่ที่รอรัฐบาลชุดใหม่ ระยะเร่งด่วน คือ การแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง ที่ส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม ระยะต่อไปคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และการรักษาความมีเสถียรภาพการเมือง พร้อมวิเคราะห์ฉากทัศน์ใหม่ทางการเมืองในการเลือกตั้งครั้งหน้า ว่า การเมืองไทย จะมุ่งสู่ประชาธิปไตยเสรี และจะเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 พรรคการเมือง นั่นคือ “ด้อมแดง-เพื่อไทย” กับ “ด้อมส้ม-ก้าวไกล” นั่นเอง

 

เรียบเรียงโดย

ปุลญดา   บัวคณิศร

 

บทความเกี่ยวกับการ โหวตนายก 2566

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง