รีเซต

NASA จับมือ Lockheed Martin ร่วมพัฒนายานอวกาศ เดินทางไปดาวอังคารเร็วขึ้น

NASA จับมือ Lockheed Martin ร่วมพัฒนายานอวกาศ เดินทางไปดาวอังคารเร็วขึ้น
TNN ช่อง16
30 กรกฎาคม 2566 ( 12:12 )
93

ปัจจุบันการเดินทางไปยังดาวอังคารยังคงความหวังที่หน่วยงานด้านอวกาศทั่วโลกกำลังพยายามและเร่งพัฒนาเทคโนโลยีไปให้ถึงดาวเคราะห์แดงนี้ โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นเรื่องระยะทางอันไกลโพ้น 


แม้ว่าปกติแล้วในทุก ๆ 26 เดือน ดาวอังคารและโลกของเราจะโคจรเข้าใกล้กันมากที่สุด แต่ก็ยังไกลถึงประมาณ 50 ล้านกิโลเมตร และใช้เดินทางเวลานาน 7 - 8 เดือน ใช้เชื้อเพลิงกว่า 4,000,000 กิโลกรัม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มียานอวกาศสำหรับนำส่งนักบินอวกาศลำไหนที่มีประสิทธิภาพมากพอจะบรรทุกเชื้อเพลิงได้เพียงพอสำหรับการเดินทางระยะยาวเช่นนี้


ยานอวกาศที่จะทำให้มนุษย์เดินทางไปดาวอังคารได้เร็วขึ้น 

นาซา (NASA) จึงได้จับมือกับดาร์ปา (DARPA) หรือสำนักโครงการวิจัยขั้นสูงด้านกลาโหมของประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อเลือกและสนับสนุนบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน (Lockheed Martin) ในการพัฒนาเครื่องยนต์ในยานอากาศที่จะทำให้การเดินทางไปดาวอังคารเร็วขึ้นและเหลือระยะเวลาในการเดินทางเพียง 3 - 4 เดือน


สำหรับการพัฒนาเครื่องยนต์นี้อยู่ภายใต้โครงการดราโก้ (DRAGO) ซึ่งทางบริษัท ล็อกฮีด มาร์ตินจะต้องทำการพัฒนายานเอ็กซ์-เอ็นทีอาร์วี (X-NTRV) ที่ใช้เครื่องยนต์ดังกล่าว เพื่อเป็นยานอวกาศสำหรับทดสอบเครื่องยนต์ที่ทางบริษัท ล็อกฮีด มาร์ตินพัฒนาขึ้นมา


เครื่องยนต์ความร้อนนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงยูเรเนียม 

โดยเครื่องยนต์ดังกล่าวจะใช้เทคโนโลยีความร้อนนิวเคลียร์ ร่วมกับการใช้เชื้อเพลิงยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำ ซึ่งดาร์ปาจะเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาระบบความปลอดภัย เพื่อให้เครื่องปฏิกรณ์ฟิชชันของเครื่องยนต์ยังคงปิดอยู่จนกว่าจะถึงวงโคจรที่กำหนด


นอกจากนี้ จะมีหน่วยงานอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทด้วย นั่นก็คือกองทัพอวกาศสหรัฐที่จะจัดหาจรวดสำหรับส่งยานอวกาศทดลองขึ้นสู่อวกาศในปี 2027 และกระทรวงพลังงานจะช่วยจัดหาเชื้อเพลิงยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำให้กับยานอวกาศทดลอง


อย่างไรก็ตาม หากยานอวกาศทดลองลำนี้สามารถทำงานได้ตามเป้าหมาย ซึ่งนั่นก็คือการย่นระยะเวลาเดินทางจากโลกไปยังดาวอังคารให้เหลือเพียง 3 - 4 เดือน ได้ เครื่องยนต์ความร้อนนิวเคลียร์และเชื้อเพลิงยูเรเนียมเสริมสมรรถนะต่ำจะถูกนำไปใช้กับยานอวกาศลำอื่น ๆ เพื่อย่นระยะเวลาการเดินทางไปยังดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะให้สั้นลงด้วย

ข้อมูลและภาพจาก DARPA

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง